ไอซีที ลงขัน 7 องค์กร ผันสามย่านเป็นศูนย์เทคโนฯ 4 พันล้าน
ไอซีที ผนึก 7
องค์กรทุ่มงบนำขั้นต้น 4 พันล้านบาท สร้างสามย่านให้เป็นศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความรู้แบบครบวงจร
เตรียมตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาบริหารผลประโยชน์ คาดรู้ผลภายใน 2 สัปดาห์
น.พ. สุรพงษ์
สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า กระทรวงฯ
ได้หารือกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยขอใช้พื้นที่บริเวณสามย่าน เพื่อพัฒนาอาคารรกร้างให้เป็นศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความรู้
(Knowledge Technology Center) ด้วยงบประมาณ 4 พันล้านบาท
โดยโครงการดังกล่าว จะรวบรวมอาคารสำนักงาน
ห้องสมุด ศูนย์หนังสือ และพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แบบครบวงจร
ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ
เตรียมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคาร กระทรวงการคลัง
อุตสาหกรรมพัฒนาซอฟต์แวร์ กระทรวงวัฒนธรรม บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เข้ามาหารือ ในการจัดทำวางแผนเพื่อใช้งบลงทุนในโครงการนี้
รวมทั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ และช่วยสนับสนุนในเรื่องการถ่ายทอดวิชาความรู้
เนื่องจากเป็นสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ และมีคณะที่เปิดการสอนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและวิศวกรรม
ทางด้านงบประมาณที่ใช้
ส่วนหนึ่งจะเป็นของหน่วยงาน และงบประมาณที่เป็นงบผูกพันในปีต่อไป โดยจะประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปภายใน
2
สัปดาห์ "เราจะตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมารับผิดชอบ
ในเรื่องการบริหารจัดการ และการให้เช่าอาคารสถานที่ ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้จากร้านค้าที่เข้ามาเช่าในศูนย์แห่งนี้
รวมถึงบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาตั้งอาคารสำนักงาน และบางส่วนที่จะเป็นหน่วยงานสำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์
โดยอาคาร 2 หลังจะมีเนื้อที่รวมกันประมาณ 3 แสนตารางเมตร คาดว่าพร้อมเปิดให้บริการในอีก 2 ปีข้างหน้า"
น.พ. สุรพงษ์กล่าว
รื้อแผนรวม ทศท-กสท.
น.พ.สุรพงษ์
กล่าวว่า สำหรับแนวทางรวมบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) คงจะมีการศึกษาหลังจากวันที่ 25 ก.พ. 46 ซึ่ง กสท. จะดำเนินการจดทะเบียนเป็น
2 บริษัท ได้แก่ บริษัท กสท. โทรคมนาคม
จำกัด และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
โดยอาจว่าจ้างที่ปรึกษาเข้ามาช่วยพิจารณาความเป็นไปได้ และจัดทำแผนธุรกิจโครงสร้างของ
กสท. โทรคมนาคม "อย่างไรก็ตาม
การรวมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อดำเนินการศึกษาผลดีผลเสียก่อน หาก 1+1 เป็น 3 ก็มีความเป็นไปได้ที่จะรวมหน่วยงานทั้งสองเข้าด้วยกัน"
น.พ. สุรพงษ์กล่าว
ขณะที่ การปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ กสท. คงจะมีขึ้นภายหลังจากการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเรียบร้อยแล้ว
เพราะต้องมีการแต่งตั้งกรรมการบริหารของทั้งสองบริษัทขึ้น โดยจะพิจารณาบุคคลที่เหมาะสม
ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถระบุชัดเจนว่าจะเป็นคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ปลัดกระทรวงไอซีทีหรือไม่
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 8 มกราคม 2546
|