พาณิชย์ ดึงสินค้าชุมชน เข้าใช้อี-คอมเมิร์ซปี 46
กระทรวงพาณิชย์ เตรียมชูไทยตำบลดอทคอม
ของไทยรักไทยเป็นศูนย์กลางบริหาร หลังเชื่อมโครงการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ผู้ส่งออก
กับผู้ผลิตในประเทศเข้าด้วยกัน ผ่านโครงการอินเทอร์เน็ตตำบลภายในปี 2546
เพื่อหนุนยอดการค้า ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไทยเพิ่มเป็น 10%
ภายใน 1 ปี
นายสุวรรณ วลัยเสถียร
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวง เตรียมศึกษาแนวทางการเชื่อมโยงโครงการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ของกรมส่งเสริมการส่งออก เข้ากับโครงการอินเทอร์เน็ตตำบล เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตในประเทศภายใต้โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
ให้เข้าสู่ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยมีไทยตำบลดอทคอม ภายใต้การบริหารงานศูนย์ส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
เป็นผู้บริหารงานภายในปี
2546 โดยภาครัฐจะศึกษาแนวในการสร้างตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มาร์เก็ต) ว่าจะดำเนินการได้อย่างไร
เพื่อทำให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ โดยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำสุด
ซึ่งรัฐอาจจะบริหารโครงการเอง หรือจะให้เอกชนมาบริหาร
อย่างไรก็ตาม หากสามารถเชื่อมโยงโครงการของกรมส่งเสริมการส่งออกกับอินเทอร์เน็ตตำบลได้
ก็จะช่วยให้มีการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ผลิตในประเทศ ภายใต้โครงการอินเทอร์เน็ตตำบลกับผู้ประกอบการส่งออก
ภายใต้กรมส่งเสริมการส่งออกขึ้น นอกจากนี้ จะต้องเจรจากับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขอความร่วมมือด้านการช่วยรวบรวมข้อมูลการซื้อขายออนไลน์ระหว่างประเทศ
เพื่อทราบถึงตัวเลขที่ชัดเจน ที่จะนำมาประเมินความสำเร็จ และผลักดันการขายสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น
"กรณีที่มีการบังคับใช้พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 2544 แล้ว จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการส่งออก หันมาใช้ระบบอินเทอร์เน็ต
เป็นเครื่องมือในการเพิ่มการขายสินค้าของตนได้ ทั้งนี้ จากการประมาณการคร่าวๆ
ในปัจจุบัน คาดว่าสัดส่วนการส่งสินค้าออกด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ยังน้อยกว่า 5%
ของมูลค่าการส่งออกของประเทศ และตั้งเป้าภายใน 1 ปีนี้ จะต้องขึ้นเป็น 10% โดยพิจารณาจากตัวอย่างในสหรัฐ
ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนการค้าผ่านออนไลน์ถึงร้อยละ 30" นายสุวรรณกล่าว
พาณิชย์หนุนเต็มที่
ขณะที่นายอดิศัย โพธารามิก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติที่จะเร่งรัดให้ผู้ประกอบการส่งออก
เข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยปรับปรุงกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ทั้งการจัดส่งสินค้า
และชำระเงิน รวมถึงระบบอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกันครบวงจร "ตั้งเป้าภายใน
6 เดือน จะมีผู้ส่งออกทำการค้าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
ไม่ต่ำกว่า 6,000 ราย และใน 2
ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 รายด้วย" นายอดิศัยกล่าว
เอกชนแนะแนวทางรัฐ
นายมนู อรดีดลเชษฐ์ นายกกิตติมศักดิ์
สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย หรือเอทีซีไอ กล่าวว่า
สิ่งที่รัฐน่าจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการส่งออก
หันมาสนใจใช้ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อยู่ที่การสร้างหรือสนับสนุนให้มีเอกชนที่ให้บริการ
(เซอร์วิส
โพรไวเดอร์) โดยเฉพาะด้านธุรกิจต่อธุรกิจ (บีทูบี) เพื่อให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดเล็กและกลาง
(เอสเอ็มอี) มีทางเลือกและเชื่อมั่น ที่จะเข้ามาใช้บริการด้านพาณิชย์เล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ ต้องผลักดันให้ผู้ประกอบการ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ที่เป็นผู้รับจ้างผลิตระดับ 2 และ 3 (เทียร์ 2 และ 3)
เข้าสู่กระบวนการอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยปัจจุบันผู้ซื้อรายใหญ่ มีระบบที่บังคับให้ผู้รับจ้างเข้าระบบแล้ว
แต่น่าจะสนับสนุนให้ผู้รับจ้างผลิตเหล่านี้ ได้ใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ตหาตลาดลูกค้าใหม่ๆ
เพื่อสร้างพลังต่อรองราคาให้มากขึ้น
"สำหรับกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจ โดยช่วงเวลา 6
เดือนจากนี้ ผู้ประกอบการต้องเร่งศึกษากฎหมายนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจ
และภาครัฐจะต้องเร่งให้ตั้งคณะกรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ภายใน 6 เดือน ก่อนที่เอกชนจะสูญเสียตลาดไป
เพราะผู้ใช้บริการอาจจะไปใช้บริการในต่างประเทศ แทนได้ เช่น ซีเอ" นายมนูกล่าว ส่วนการควบคุม
หรือขอใบอนุญาตการให้บริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้น รัฐน่าจะควบคุมเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล
และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลทางเศรษฐกิจ เช่น ธุรกิจประมวลผลการตรวจสอบผู้ถือบัตรเครดิต
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 23 เมษายน 2545
|