นักลงทุนไต้หวัน แห่ย้ายฐานไปจีน หลังเข้าดับบลิวทีโอ
ไต้หวัน ย้ายฐานจากไทยเข้าจีนมากขึ้น หลังเข้าดับบลิวทีโอ ส่วนนักลงทุนญี่ปุ่นเตรียมถอนยวง 10% เหตุตลาดใหญ่จูงใจ ชี้เหตุไทยก.ม.เข้มงวด-คืนภาษีช้า แนะไทยแปลงวิกฤติเป็นโอกาสออกมาตรการดึงเอสเอ็มอีแทน ด้าน "วิกรม" ยอมรับมีสัญญาณชัดเจน เหตุการลงทุนไต้หวันในไทยลดต่อเนื่อง
นายหวัง ซิ่น หยง ประธานสมาคมนักลงทุนไต้หวันในไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์การลงทุนของไต้หวันในไทยว่า ขณะนี้นักลงทุนไต้หวันส่วนใหญ่เตรียมย้ายฐานการผลิตและการลงทุนจากไทยไปที่ประเทศจีน หลังจากจีนเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เนื่องจากจีนจะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่มีศักยภาพในการลงทุนในอนาคต นอกจากนี้ ยังทำให้การลงทุนของต่างชาติในไทยและประเทศในอาเซียน ทั้งจากนักลงทุนสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ไต้หวัน มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะการลงทุนผลิตสินค้าในกลุ่มประเทศดังกล่าว ไม่สามารถแข่งขันได้ในด้านต้นทุนการผลิต เทคโนโลยี และแรงงานกับจีน ปัจจุบันไต้หวันมีการลงทุนในไทยประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
"ขณะนี้เริ่มสัญญาณบ่งชี้ที่ชัดเจนว่านักลงทุนต่างชาติในไทย จะมีการย้ายฐานการผลิตไปลงทุนที่จีนแทน ซึ่งจะเห็นได้จากเมื่อการประชุมสภาหอการค้าต่างประเทศในไทยเมื่อเร็วๆ นี้ นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในไทยได้พูดถึงสถานการณ์การลงทุนในไทย ซึ่งนักลงทุนกังวลอย่างมากว่าเมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกดับบลิวทีโอ จะทำให้ธุรกิจที่ลงทุนในไทยไม่สามารถแข่งขันกับจีนได้"นายหวังกล่าว เขากล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมีนักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปจีนมากขึ้น โดยในส่วนของนักลงทุนญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย พร้อมจะย้านฐานการผลิตไปจีนและจะปิดกิจการในไทยแล้วประมาณ 10% ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการตัดสินใจ ซึ่งจะส่งผลให้คนไทยตกงานมากขึ้นอย่างแน่นอน
จี้รัฐบาลไทยพัฒนาเทคโนฯ-ฝีมือแรงงาน
สำหรับอุตสาหกรรมที่ลงทุนในไทย และจะได้รับผลกระทบไม่สามารถดำเนินกิจการอยู่ไปได้ หลังจากจีนเป็นสมาชิกดับบลิวทีโอหากไม่เร่งปรับตัว เช่น อุตสาหกรรมรองเท้า เครื่องหนัง เสื้อผ้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ดังนั้น รัฐบาลไทยจะต้องเร่งให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ฝีมือแรงงาน จากปัจจุบันที่ขีดความสามารถของไทยด้านดังกล่าวลดลง โดยเฉพาะแรงงานฝีมือที่เริ่มขาดแคลน
"ต้องยอมรับว่าเมื่อจีนเป็นสมาชิกดับบลิวทีโอ คงไม่มีประเทศใดแข่งดึงนักลงทุนต่างชาติได้ แต่ไทยยังเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุดรองจากจีน เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน จึงยังสามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ โดยเตรียมแผนรองรับและมาตรการที่จะดึงนักลงทุนขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) จากต่างชาติที่มีอยู่จำนวนมาก บีโอไอ ก็ควรออกมาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้มากขึ้น เพราะการดึงลงทุนกิจการขนาดใหญ่มีการแข่งขันสูง"นายหวัง กล่าว
แฉก.ม.เข้มงวด-คืนภาษีช้าเหตุสำคัญย้ายฐาน
สำหรับสิ่งที่รัฐบาลไทยจะมองข้ามไม่ได้ในขณะนี้คือ เวียดนาม ซึ่งจะเป็นประเทศคู่แข่งสำคัญที่นักลงทุนให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนมากขึ้น เพราะได้สิทธิจีเอสพีจากสหรัฐ จึงสามารถจูงใจนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการผลิตเพื่อส่งออกเข้าไปลงทุน
ดังนั้น รัฐบาลไทยจะต้องเร่งออกมาตรการเพื่อเอื้อให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกฎหมายด้านการลงทุน ที่ควรอำนวยความสะดวกต่อนักลงทุนต่างชาติ และการขอคืนภาษี เนื่องจากปัจจุบันการคืนภาษีต่างๆ ให้กับผู้ส่งออกล่าช้าอย่างมาก ทำให้เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ต่างชาติตัดสินใจไปลงทุนประเทศอื่นๆ รวมถึงสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เริ่มลดลง
ส่วนผลกระทบจากเหตุการณ์ในสหรัฐที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของนักลงทุนไต้หวันที่ลงทุนในไทยอย่างมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่มีการผลิตและส่งออกเป็นหลัก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้มีสินค้าค้างสต็อกจำนวนมากเนื่องจากผู้นำเข้าสหรัฐได้ชะลอการนำเข้าและเปิดแอล/ซีไว้ แม้จะมีออเดอร์
ระบุจีนทุ่มลงทุนสาธารณูปโภคดูดลงทุน
นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจไทย-ไต้หวัน กล่าวว่า ขณะนี้นักลงทุนไต้หวันเตรียมที่จะย้ายฐานการลงทุนไปจีน เนื่องจากว่าจีนเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการลงทุน ขณะเดียวกันทางรัฐบาลจีน มีความตื่นตัวในการดึงนักลงทุนต่างชาติให้เข้าไปลงทุนอย่างมาก โดยจีนได้ทุ่มเงินเพื่อลงทุนสาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุน และการที่จีนได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จะเป็นการกระตุ้นตลาดภายในจีนให้เพิ่มขึ้น ส่วนการลงทุนในจีนจะได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากันหมดไม่ว่าจะลงทุนในพื้นที่ใด รวมทั้งต้นทุนการผลิตในจีนก็ต่ำกว่าไทยอย่างมาก
"สัญญาณที่เริ่มบ่งบอกว่านักลงทุนไต้หวันเริ่มให้ความสนใจเข้าไปลงทุนในจีน เห็นได้จากการลงทุนในจีนของไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีบริษัทไต้หวันเข้าไปลงทุนในจีนกว่า 4 หมื่นบริษัท เงินลงทุนรวม 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าเงินลงทุนในอาเซียนทั้งหมด ขณะที่การลงทุนของไต้หวันในไทยมี 4,000 บริษัท เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ "นายวิกรม กล่าว
คาดธุรกิจนิคมฯทรุดต่อเนื่อง
ส่วนผลกระทบต่อธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมนั้น เขากล่าวว่า ผลจากการย้ายฐานการลงทุนจะส่งผลต่อการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม โดยเชื่อว่านิคมฯจะอยู่รอดไม่เกิน 6 แห่ง หรือ 15% ของพื้นที่นิคมทั้งหมด และนิคมฯส่วนใหญ่ที่จะอยู่รอดจะต้องอยู่ห่างจากกรุงเทพฯไม่เกิน 70 กม.และอยู่ในอีสเทิร์นซีบอร์ดเท่านั้น โดยปัจจุบันมีพื้นที่ที่พัฒนาแล้วรอการขายอยู่มากถึง 2 หมื่นไร่ และมีพื้นที่ที่ซื้อไว้แล้วแต่รอการพัฒนาถึง 1 หมื่นไร่ จากนิคมฯ เขตประกอบการ และสวนอุตสาหกรรมรวม 40 แห่งทั่วประเทศ
"นิคมฯที่อยู่ไม่ได้สถาบันการเงินคงจะยึดกิจการ หรือไม่เช่นนั้นสถาบันการเงินเจ้าหนี้ก็ต้องตัดหนี้ลงบางส่วน และเห็นว่าคงต้องใช้เวลากว่า 10 ปี จึงจะขายพื้นที่ที่เหลืออยู่ได้หมด "นายวิกรม กล่าว
แหล่งข่าวจากบีโอไอ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ จำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนของไต้หวันเหลือ 27 โครงการ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการสูงถึง 53 โครงการ ส่วนจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมมี 26 โครงการ ลดลงถึง 62.85% เช่นเดียวกับมูลค่าการลงทุนที่เหลือ 4,337.5 ล้านบาท ลดลง 56.94%
อย่างไรก็ตาม การร่วมทุนระหว่างไต้หวันกับไทย พบว่าไต้หวันยังคงเป็นฝ่ายถือหุ้นข้างมาก เพราะมีสภาพคล่องทางการเงินมากกว่านักลงทุนไทย โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการขนาดกลางและเล็ก
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 ตุลาคม 2544
|