แทคจับมือซันรุกพัฒนาแพลตฟอร์มบนจาวา
แทครุกบริการเสริมบนโทรศัพท์มือถือ
เตรียมจัดงานแสดงแอพพลิเคชั่นหนุนการใช้งาน ทั้งร่วมมือซัน พัฒนาแพลตฟอร์มบนจาวา
สร้างนักพัฒนามือใหม่หนุนธุรกิจ
นายปกรณ์ พรรณเชษฐ์
ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจวีเอเอส (VAS) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้บริการเสริมประมาณ
2,000 ล้านบาท หรือ 8% ของรายได้รวม เพิ่มจากปีก่อน
1 เท่าตัว โดยเฉพาะเน้นรายได้จากบริการจาวาแอพพลิเคชั่น ที่มีมูลค่าเบื้องต้น
1 ล้านบาทในปีนี้ บริษัทจะใช้งบ 125
ล้านบาท จัดงาน DoMore..DoMMS with DTAC ระหว่างวันที่ 21-23
มี.ค.นี้
ซึ่งจะเปิดตัวแอพพลิเคชั่นต่างๆ สนับสนุนการใช้งานของผู้ใช้บริการ และกระตุ้นการทำตลาดเครื่องลูกข่าย
โดยเตรียมบันเดิล บริการราว 33 รายการ ลงเครื่องลูกข่ายหลากรุ่น
เช่น โนเกีย 3650, 6350, 6610, 6100 และ 7250 เป็นต้น จากนั้นวันที่ 16 เมษายนเป็นต้นไป
บริษัทเตรียมเก็บค่าบริการเอ็มเอ็มเอส หลังจากเริ่มเปิดให้บริการฟรีตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
ล่าสุด บริษัทจับมือซันไมโครซิสเต็มส์ ใช้แพลตฟอร์มภาษาจาวารองรับนักพัฒนาบริการแก่ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่
ซึ่งผู้ใช้จะเลือกใช้บริการเสริมได้ง่ายขึ้นผ่าน www.djuice.co.th และนักพัฒนาจะได้รับความสะดวกจากการบรรจุแอพพลิเคชั่นในเครื่องแม่ข่าย
ทั้งนี้ บริการดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในโครงสร้างรายได้ของบริษัทโดยสัดส่วนรายได้นั้นแบ่งเป็น
1. บริการเอสเอ็มเอส สัดส่วนประมาณ 30-40% 2.บริการดาวน์โหลดโลโก้และริงโทน
3.บริการด้านเสียง (ออดิโอเท็กซ์) และตามด้วยบริการเอ็มเอ็มเอส จาวาแอพพลิเคชั่นและจีพีอาร์เอส
ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนจับมือกับซัน สร้างนักพัฒนาใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัยมากขึ้นหลังจากประสบความสำเร็จจากโครงการดีจุยซ์ดอทอวอร์ด 2 ครั้งที่ผ่านมา
โดยซันจะเข้ามามีบทบาทสนับสนุนอบรมนักพัฒนามากขึ้น ในฐานะเจ้าของเทคโนโลยี ส่วนบริษัทจะสนับสนุนผ่านโมเดลธุรกิจ
3 รูปแบบ ได้แก่ 1.การซื้อไลเซ่นมาให้บริการ
2.การทำตลาดให้โดยแบ่งรายได้ 50% และ
3.การร่วมมือกันทำตลาดโดยกลุ่มนักศึกษาเป็นผู้ทำตลาดเอง ดีแทคจะได้ส่วนแบ่ง
20% โดยวานนี้ (17) บริษัทเปิดตัวนักพัฒนา
2 กลุ่มที่ประสบความสำเร็จจากโครงการประกวด 2 ครั้งที่ผ่านมา ได้แก่ 1.บริษัท เฟิร์ส วิชั่น
แอดเวนเทจ จำกัด ซึ่งพัฒนาแอพพลิเคชั่นด้านการซื้อขายหุ้นครบวงจร มีสินค้าเด่น
ได้แก่ สต็อคไดอารี และเซ็ท ออนแวพ และทีมนักศึกษาปี 2 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สร้างโปรแกรมดิกชันนารี
และเป็นหนึ่งใน 3 แอพพลิเคชั่นที่ประสบความสำเร็จจากการประกวดปีที่ผ่านมา
ซึ่งปัจจุบันบริษัทซื้อลิขสิทธิ์มาให้บริการแล้ว
สำหรับรูปแบบการให้บริการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
เก็บค่าบริการตามการดาวน์โหลด และเปิดให้ทดลองใช้บริการในเบื้องต้น
จากนั้นจึงเก็บค่าบริการในเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ดาวน์โหลดฟรี 2
ครั้ง เก็บค่าบริการในครั้งที่ 3
โดยเชื่อว่า
ปีนี้เกมจะเป็นแอพพลิเคชั่นหลักที่สร้างรายได้ให้บริษัท และปีหน้าบริการเสริมจะกลายเป็นจุดชี้ขาดการแข่งขันของผู้ให้บริการ
จากปีนี้ยังใช้กลยุทธ์ราคาและรายการส่งเสริมการขายอยู่
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 18 มีนาคม 2546
|