แนะซอฟต์แวร์ไทยปรับตัวสู่ "งานบริการ" แทนขายผลิตภัณฑ์
ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ แนะอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ต้องเร่งปรับรูปแบบจากงานขายผลิตภัณฑ์สู่
"การออกแบบระบบงานบริการ" รับความต้องการลูกค้าภาคธุรกิจที่ต้องการยกระดับกระบวนการทำงาน
นายราเมศวร์ ศิลปพรหม กรรมการผู้จัดการ บริษัท
ซอฟต์สแควร์ 1999 จำกัด กล่าวว่า ทิศทางในอนาคตของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปจะมีรูปแบบธุรกิจปลี่ยนไปจากงานขายผลิตภัณฑ์ด้านไอที
ไปสู่การออกแบบระบบงานบริการ ที่รองรับความต้องการของตลาดแต่ละกลุ่มโดยเฉพาะ
(Specific Domain) รวมทั้ง รองรับความต้องการได้ในทุกอุตสาหกรรม
ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ต่อไปจะมีลักษณะให้ผู้ใช้กำหนดอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ได้ตามความต้องการ
เช่น ต้องการล้อแม็กอย่างไร เบาะสีใด ผ่านทางการออนไลน์ข้อมูลไปยังบริษัทผู้ผลิต
"คิดว่าต่อไปธุรกิจด้านบริหารจัดการระบบการเกษตร
(ฟาร์ม แมเนจเม้นท์) จะเชื่อมโยงเข้ากับระบบจีไอเอส
มากยิ่งขึ้น ทำให้ซอฟต์แวร์ที่จะทำให้การบริหารงานทำให้อย่างมีประสิทธิภาพเติบโตขึ้น
ทำให้รูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนไป ซึ่งนักพัฒนาซอฟต์แวร์มองหาตลาดได้มากขึ้น เช่น เข้าไปหา
อบต. คิดรูปแบบโปรแกรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผลผลิตให้ราคาดีขึ้นได้
ตลอดจนเข้าไปหาร้านค้ารายย่อยๆ พัฒนาโปรแกรมการเงินเล็กๆ ใช้งานง่ายแล้วใช้ได้กับหลายๆ
ร้าน" นายราเมศวร์ กล่าว อย่างไรก็ตาม
เขายอมรับว่าในภาพรวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยปีนี้ ยังขาดแคลนนักพัฒนา
และซอฟต์แวร์ในธุรกิจภาคบริการ
โดยปีนี้จะมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในไทยรวมประมาณ 35,000 ราย
แบ่งเป็น นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ปัจจุบันประมาณ 30,000
ราย และในส่วนที่ภาครัฐจะสนับสนุนผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา โดยประสานงานกับธนาคารกรุงไทยให้สินเชื่อคนละ
35,000 บาท อีกจำนวน 5,000 ราย ซึ่งจะเปิดรับสมัครในวันที่
7-8 กรกฎาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
"รัฐจะมีรายได้เมื่อนักศึกษาเหล่านี้เข้าทำงานในบริษัทต่างๆ คิดจากภาษีรายได้ประจำ
และหากมีการสร้างงานเกิดขึ้นรัฐก็จะได้ภาษีจากงานอีก เท่ากันว่ารัฐจะมีรายได้ระหว่าง
200-300 ล้านบาทจากนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในแต่ละปี "
นายราเมศวร์ กล่าว ขณะที่มีเป้าหมายว่าในปี 2549 จะมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย 65,000 คน และมีมูลค่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
90,000 ล้านบาท
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม
2546
|