ซอฟต์แวร์ปลอดภัยรุกตั้งสำนักงานสาขาไทย

ได้แรงหนุนเวบเซอร์วิส -ระบบบริหารงานเฉพาะบุคคล
นักวิเคราะห์เชื่อตลาดซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยโตต่อเนื่อง จากแรงหนุนเวบเซอร์วิส ไอเดนติตี้แมเนจเม้นท์ และการใช้งานเครือข่ายไร้สาย เฉพาะตลาดเอเชียจะเติบโตเฉลี่ย 34% บริษัทต่างประเทศดาหน้าตั้งสาขาไทย

 

นายไบรอัน เบอร์ค นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือไอดีซี กล่าวว่า แนวโน้มในช่วง 4 ปีนี้ (ปี 2546-2549) ตลาดซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัย (ซิเคียวริตี้ ซอฟต์แวร์) มีศักยภาพเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวในการใช้งานด้านเวบ เซอร์วิส, ระบบบริหารงานเฉพาะบุคคล (ไอเดนติตี้ แมเนจเม้นท์) และการประยุกต์ใช้งานระบบเครือข่ายไร้สาย ขณะที่ในตลาดเอเชียแปซิฟิกนั้น มีประมาณการว่าจะขยายตัวเฉลี่ยราว 34% หรือมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2549 ด้วย เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น และการลงทุนใหม่ๆ ด้านอี-คอมเมิร์ซ ทั้งในภาครัฐและเอกชน

 

ด้านนายคอลลีน เกรแฮม นักวิเคราะห์จากการ์ทเนอร์ ดาต้าเควสท์ ระบุว่า ตลาดองค์กรกำลังมองหาเทคโนโลยีด้านระบบความปลอดภัย ทั้งซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัส ระบบป้องกันตรวจจับการโจมตี (intrusions detection systems) และไฟร์วอลล์ รวมทั้งสนใจเทคโนโลยีในการนำระบบไบโอเมตริกส์ และรูปแบบอื่น เข้ามาช่วยระบุตัวตนด้วย อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดังกล่าวอาจยังไม่มีการใช้งานแพร่หลายก่อนปี 2546 เพราะติดปัญหาราคาที่ยังสูงอยู่ สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านระบบรักษาความปลอดภัย ได้แก่ โทรคมนาคม ราชการ การศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศ และการเงิน ทั้งนี้ ผลพวงหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 ทำให้ภาครัฐและหน่วยงานด้านรักษาความมั่นคง เพิ่มการลงทุนที่ตอบสนองต่อความกังวลสาธารณชนมากขึ้นด้วย

 

เจ้าของซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัส แห่บุกไทย

ในส่วนของประเทศไทยเอง ตลาดระบบรักษาความปลอดภัยเองก็ตื่นตัวตามไปด้วย ซึ่งนอกเหนือจากบริการระบบซิเคียวริตี้แล้ว ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา มีเจ้าของเทคโนโลยีด้านซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัส ทยอยเข้ามาจัดตั้งสำนักงานในไทยไม่ต่ำกว่า 3 ราย ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันในไตรมาสแรกปีที่แล้ว จากเดิมที่เคยทำตลาดผ่านตัวแทนในไทยโดยไม่มีสำนักงาน

 

นายชัชวาล จิตติกุลดิลก ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เน็ทเวอร์ค แอสโซสิเอท ซอฟท์แวร์ พีทีอี ลิมิตเต็ด สำนักงานสาขาประเทศไทย เจ้าของซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัส "แมคอาฟี" กล่าวว่า บริษัทมองหาโอกาสการเติบโตระบบซิเคียวริตี้ในไทย โดยเตรียมขยายฐานรายได้เข้าสู่ฮาร์ดแวร์ ที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการใช้งานเครือข่าย กลั่นกรองเนื้อหา จากเดิมที่มีเพียงแอนตี้ไวรัสซอฟต์แวร์ เนื่องจากปัจจุบัน องค์กรส่วนใหญ่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายไว้แล้ว แต่ต้องเตรียมความพร้อมอุดช่องโหว่ระบบ นอกจากนี้ ยังมองลู่ทางขยายพันธมิตร เพื่อเจาะตลาดราชการและการศึกษาเพิ่ม จากเดิมที่มีตลาดหลักในกลุ่มเอสเอ็มอี ถึงองค์กรขนาดใหญ่ อีกทั้งจะสร้างความสัมพันธ์กิจกรรมสนับสนุนการตลาด ลงไปในพันธมิตรระดับสอง ประมาณ 10-20 ราย ควบคู่ไปกับการจัดรายการส่งเสริมการขาย

 

ขยายออกนอกตลาดออนไลน์

ด้านนายกันต์ เกิดแก้ว ผู้จัดการประจำประเทศ บริษัทแพนด้า ซอฟต์แวร์ (ประเทศไทย) จำกัด สำนักงานใหญ่สเปน เจ้าของเทคโนโลยีแอนตี้ไวรัส กล่าวว่า สาเหตุที่บริษัทแม่ตัดสินใจจัดตั้งสำนักงานแห่งนี้ เพราะเห็นโอกาสของตลาด ที่มีลูกค้าสนใจสั่งซื้อซอฟต์แวร์ของบริษัทผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ยังขาดความมั่นใจด้านการสนับสนุนหลังการขาย โดยเฉพาะลูกค้าองค์กร และมีบทบาทด้านสนับสนุนการขายและตลาด รวมถึงเทคนิค

ทั้งนี้ บริษัทจะเน้นสร้างชื่อยี่ห้อผลิตภัณฑ์ "แพนด้า" ให้เป็นที่รู้จัก และส่งข้อมูลข่าวสารด้านไวรัสใหม่ๆ ที่ให้ลูกค้า โดยจำหน่ายผ่านพันธมิตร โดยจะแต่งตั้งช่องทางการตลาด ทั้งในลักษณะผู้จัดจำหน่าย และผู้แทนค้าปลีก

ทางด้านผลิตภัณฑ์หลักที่ทำตลาดอยู่ ได้แก่ ซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัส สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่และกลาง ในระดับเครือข่ายแบบกรุ๊ปแวร์ ทั้งของโลตัสโน้ตส์/โดมิโน และเอ็กซ์เชนจ์ เซิร์ฟเวอร์ ซึ่งมีฐานผู้ใช้จำนวนมาก ทำให้การใช้งานเติบโตตามไปด้วย ขณะเดียวกัน บริษัทชูจุดเด่นจากคู่แข่งในตลาดเดียวกัน โดยเสนอผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันในโปรแกรมโอเพ่นซอร์ส ซึ่งรวมอยู่ในชุดซอฟต์แวร์สำหรับองค์กร

 

เข้าสู่การให้บริการ

นายชัชวาลกล่าวว่า ในปีนี้บริษัทมีแนวโน้มจะนำเสนอบริการรับบริหารจัดการระบบแอนตี้ไวรัส และซิเคียวริตี้ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (AsaP) ซึ่งเปิดตัวไปในอเมริกาแล้ว เพื่อเปิดกว้างให้ลูกค้าในกลุ่มองค์กรขนาดเล็กเข้ามาใช้บริการ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นสำหรับผู้ใช้นั้น ไม่ต้องมีทีมงานที่มาดูแลงานโดยเฉพาะ หรือติดตามอัพเกรดและอัพเดทซอฟต์แวร์ แต่จะเสียค่าใช้บริการเป็นรายปี หรือรายเดือน ขณะที่บริษัทก็สามารถขยายฐานลูกค้ากว้างขึ้น และสร้างช่องทางรายได้ทดแทนรายได้ที่ลดลงจากค่าไลเซ่นซอฟต์แวร์ ขณะที่ นายกันต์กล่าวว่า บริษัทมีแผนเจาะตลาดองค์กรเพิ่ม โดยอาจเสนอโปรแกรมสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการ เปลี่ยนการใช้งานจากโปรแกรมเดิมมาเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท (สวอป) รวมถึงบริการบำรุงรักษา เช่น ให้สิทธิใช้ซอฟต์แวร์ฟรี เมื่อซื้อบริการบำรุงรักษากับบริษัท หรือให้ส่วนลดราคาไลเซ่นซอฟต์แวร์ ตามระยะเวลาโปรแกรมแอนตี้ไวรัสที่ลูกค้าใช้อยู่ เพื่อดึงให้ลูกค้าอัพเกรดโดยซื้อสินค้าของบริษัทแทน

 

ลดราคาดึงดูดลูกค้าทั่วไป

พร้อมกันนี้ บริษัทยังมีแผนปรับลดราคาซอฟต์แวร์ สำหรับกลุ่มผู้ใช้ตามบ้าน ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดที่มีปัญหาในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ในอัตราสูงถึง 79% โดยทดสอบตลาดด้วยการปรับราคาเหลือต่ำกว่าไลเซ่นละ 500 บาท จากราคา 850 บาท รวมทั้งมีแผนปรับลดราคากว่า 50% สำหรับลูกค้าในกลุ่มสถาบันการศึกษา และราชการ "การแข่งขันของซอฟต์แวร์ด้านนี้ในตลาดไทยมีเพียง 4-5 รายเท่านั้น เทียบกับยอดขายเฉลี่ยของเครื่องคอมพิวเตอร์เฉลี่ยที่ตกปีละเกือบ 600,000 เครื่อง รวมถึงมีฐานผู้ใช้เครื่องเก่าอยู่ด้วย ซึ่งถ้าไทยลดอัตราการละเมิดลงเหลือ 50% ก็จะทำให้ตลาดมีมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มูลค่าตลาดรวมอยู่ในระดับหลายร้อยล้านบาท" นายกันต์ กล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 มกราคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.