เอกชนแนะใช้กลไกตลาด คุมราคาซอฟต์แวร์
ภาคเอกชนชี้ราคาซอฟต์แวร์ ควรปล่อยตามกลไกตลาด
เหตุหามาตรฐานต้นทุนยาก ระบุนโยบายควบคุมซีดีซอฟต์แวร์ ต้องมีมาตรการรอบคอบ
ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น จากความเข้าใจของเจ้าหน้าที่
นายอาภรณ์ ศรีพิพัฒน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
(เอทีเอสไอ)
เห็นว่า การควบคุมราคาซอฟต์แวร์
จะทำได้ยากและควรปล่อยให้เป็นกลไกตลาด ทั้งมาตรการที่เกิดขึ้นเป็นการปราบปรามส่วนค้าปลีก
ซึ่งซอฟต์แวร์มัลติมีเดียราคาไม่สูง เพียงโปรแกรมละ 150-200
บาท หากปราบปรามได้จริง แล้วผู้ผลิตขึ้นราคาสินค้าลิขสิทธิ์ จึงค่อยใช้กลไกการควบคุมราคา
ด้านนายโรแลน ชาน
จากกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) กล่าวว่า
ซอฟต์แวร์เป็นสินค้าที่มีความซับซ้อน ภายใต้บรรจุภัณฑ์กล่องซีดีขนาดเท่ากัน อาจมีซอฟต์แวร์ต้านไวรัสราคา
1,500 บาท จนถึงซอฟต์แวร์ที่เป็นเครื่องมือต่างๆ (ทูลล์) ราคาหลายหมื่นบาท
ขึ้นอยู่กับประเภทซอฟต์แวร์จึงยากที่จะควบคุมราคา อีกทั้งปัญหาใหญ่ของการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อยู่ที่กลุ่มองค์กรที่ใช้งานโปรแกรมธุรกิจ
โดยตัวเลขมูลค่าการสูญเสียจากการถูกละเมิดลิขสิทธิ์บิสซิเนส ซอฟต์แวร์ทั่วโลกปี
2544 อยู่ที่ 40% หรือ 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะในประเทศไทยเองปีที่ผ่านมามีมูลค่าการละเมิด 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 77% เทียบจากปี 2540 ไทยมีอัตราละเมิด 84%
แนะอุดช่องว่างของปัญหา
นายเฉลิมศักดิ์ เลิศลบชาตรี ประธานชมรมผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตและเกม
กล่าวว่า นโยบายควบคุมซีดีซอฟต์แวร์นั้น รัฐต้องหามาตรการที่รอบคอบ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้
ทั้งความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐ และตำรวจที่จะเข้าตรวจสอบ จับกุม
เนื่องจากมีทั้งซีดีซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ และฟรีซอฟต์แวร์ หรือโอเพ่นซอร์ส
แต่เจ้าหน้าที่อาจไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ ทั้งต้องพิจารณาว่า
การกำหนดราคาจะอาศัยมาตรฐานใดประเมินต้นทุนซอฟต์แวร์ และราคาระดับใดที่คนไทยยอมรับได้
นายจำรัส สว่างสมุทร เลขาธิการ
สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย (เอทีซีไอ) กล่าวว่า
การควบคุมราคาซอฟต์แวร์เป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะจะใช้มาตรฐานใดควบคุม เพราะซอฟต์แวร์เป็นสินค้าที่ต้องลงทุนวิจัยและค้นคว้า
ยากต่อการเฉลี่ยเป็นต้นทุนชัดเจนต่างจากสินค้าอุปโภคบริโภค นอกจากนั้นแล้วปัจจุบัน
ราคาซอฟต์แวร์ทั่วโลกเป็นสินค้าราคาตลาด ผู้ตั้งสินค้าราคาแเพงก็อาจไม่มีผู้ซื้อ
ส่วนนายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา
กล่าวว่า การควบคุมราคาซีดีซอฟต์แวร์นั้น ต้องพิจารณารายละเอียดของประเภทซอฟต์แวร์
ทั้งที่เป็นระบบปฏิบัติการ (โอเอส) และระบบงาน
หรือแอพพลิเคชั่น รวมถึงการใช้งานในแต่ละกลุ่มธุรกิจด้วย เช่น การศึกษา, ภาครัฐ ซึ่งในส่วนของตลาดองค์กรธุรกิจควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด
ทั้งนี้นโยบายภาครัฐ อยู่ในระหว่างการร่างระเบียบกฎเกณฑ์เพิ่มเติมแนบในกฎกระทรวงให้
"ซีดี" เป็นสินค้าควบคุม
ที่ครอบคลุมถึงซีดีซอฟต์แวร์ รวมถึงการตั้งสินบนนำจับ คาดว่าจะเสร็จสิ้นเดือนนี้
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2546
|