รายงาน : พอร์เตอร์แนะสร้างซอฟต์แวร์ไทย สร้างจุดแข็งในปท.ปูพรมส่งออก
พอร์เตอร์แนะอุตสาหกรรมไทย
ใช้ไฮเทคพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขัน ยกระดับทักษะบุคลากรเฉพาะด้าน
สร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรม พร้อมแนะซอฟต์แวร์ไทย เร่งสร้างความแข็งแกร่ง
จากตลาดในประเทศ เสริมฐานปูตลาดส่งออกในอนาคต
ศาสตราจารย์ ไมเคิล อี.พอร์เตอร์ ที่ปรึกษาโครงการศึกษาพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศไทย
กล่าวว่า บริษัทไทยในทุกๆ อุตสาหกรรม สามารถใช้ เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความสามารถการแข่งขันให้กับธุรกิจและประสิทธิผลได้
โดยแนวคิดดังกล่าว สามารถปรับใช้ได้กับอุตสาหกรรมทุกประเภท ไม่จำกัดอยู่กับอุตสาหกรรมไฮเทคเท่านั้น
และรัฐควรส่งเสริมให้ทุกอุตสาหกรรม สามารถใช้เทคโนโลยีได้ ไม่เว้นแต่เกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม
เขายอมรับว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยยังขาดระบบที่จะเอื้อให้เกิดสถาบันวิจัยที่มีคุณภาพ
และสร้างแรงจูงใจในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์ช้ามาก ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดของ
Global Competitiveness Report ปี 2545 จัดอันดับให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 35 จาก 80 ประเทศ ขณะเดียวกัน
เขาเสนอแนะให้ภาครัฐเร่งสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้มากขึ้น โดยมองว่าระบบการศึกษาไทยมีพื้นฐานดี
แต่ก็ขาดความชำนาญเฉพาะทาง โดยเฉพาะการเสริมบุคลากรเข้าไปในระบบคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรม
ตัวอย่างเช่น ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่สร้างคลัสเตอร์ของแหล่งไวน์ มีสถาบันวิจัยและการค้าด้านไวน์โดยเฉพาะ
รวมถึงสถาบันการศึกษาที่ออกเป็นประกาศนียบัตรผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์โดยตรง ช่วยสนับสนุนคลัสเตอร์ดังกล่าวด้วย
ขณะที่การสร้างคลัสเตอร์ด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
ที่ถือเป็น 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์หลักที่เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
ซึ่งชูวิสัยทัศน์การเป็นศูนย์ออกแบบโลกด้านซอฟต์แวร์ ก็ยังขาดการสร้างบรรยากาศธุรกิจที่เอื้อให้เกิดการแข่งขัน
และขาดการเชื่อมโยงกิจกรรมด้านไอทีที่มีอยู่ "การนำเสนอสินค้าและบริการของไทยเอง
ไม่ใช่เพียงมองตลาดสหรัฐ ยุโรปหรือญี่ปุ่นเท่านั้น
แต่น่าจะมองถึงตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่ไทยมีศักยภาพ สามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่ม
สร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ได้"
ด้านนายรอม หิรัญพฤกษ์
ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (ซอฟต์แวร์ปาร์ค) กล่าวว่า
ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่พอร์เตอร์แนะนำให้ไทยต้องเร่งดำเนินการ คือ การสร้างให้ซอฟต์แวร์เข้าไปมีบทบาทสนับสนุนอุตสาหกรรมต่างๆ
ในประเทศ ซึ่งไม่ต้องรอโอกาสการส่งออกซอฟต์แวร์ไปต่างประเทศ โดยสามารถทำขนานกันไปทั้งการสร้างตลาดในประเทศและต่างประเทศ
"จากภารกิจเร่งด่วนดังกล่าว จะทำให้กระทรวงไอซีทีเอง เข้าไปมีบทบาทร่วมกันกับอุตสาหกรรมอื่นๆ
มากขึ้น โดยที่ผ่านมานโยบายการส่งเสริมซอฟต์แวร์ตั้งแต่ปี 2538 จะมองลู่ทางตลาดต่างประเทศมากกว่า จึงถึงเวลาให้มองตลาดในประเทศได้แล้ว ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะสร้างความชำนาญ
และเจาะตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้นด้วย" นายรอมกล่าว
เอกชนขานรับไอเดีย
นายอนุกูล แต้มประเสริฐ
อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) กล่าวว่า
ปัจจุบันการดำเนินงานภาคเอกชนก็เป็นไปตามทิศทางนั้นอยู่แล้ว โดยภายในสมาคมมีการแบ่งกลุ่มความสนใจเฉพาะด้าน
ที่จับกลุ่มตามความชำนาญเฉพาะ และมุ่งให้ซอฟต์แวร์เข้าไปมีบทบาท
ช่วยเพิ่มศักยภาพกับอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งงานมัลติมีเดีย ฐานข้อมูล อี-เลิร์นนิ่ง งานสิ่งทอ งานเกษตรกรรม รวมทั้งยกตัวอย่างว่า
ปัจจุบันได้พัฒนาซอฟต์แวร์ติดตามกระบวนการผลิตอาหาร (Food Trace) สามารถช่วยเพิ่มมาตรฐานการผลิตอาหาร โดยเฉพาะเริ่มส่งออกอาหารแช่แข็งได้ โดยอยู่ระหว่างหารูปแบบความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
(ธ.ก.ส.) ซึ่งมีเครือข่ายสารสนเทศเกษตร (เอไอเอ็น) ที่น่าจะร่วมกันนำเสนอเป็นโซลูชั่นให้กับอุตสาหกรรมอาหารได้
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 7 พฤษภาคม 2546
|