ไทยเล็งอินเดีย-เกาหลี หนุนกรุยทาง ต่อยอดความสำเร็จ ส่งออกซอฟต์แวร์
สุจิตร
ลีสงวนสุข
บริษัทซอฟต์แวร์ไทย
พร้อมเดินทางลัดเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดซอฟต์แวร์โลก เล็งต่อยอดความรู้-ผลิตภัณฑ์ของค่ายไอทีอินเดีย และเกาหลี พัฒนาสู่ความชำนาญเฉพาะ ควบคู่การแบ่งงานกันในเครือข่ายผู้ประกอบการ
นำร่องสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรม
จากเป้าหมายการเพิ่มขนาดของตลาดซอฟต์แวร์ในประเทศไทย
ที่ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท ให้เพิ่มเป็น 90,000 ล้านบาท ในปี 2549 พร้อมกับเร่งเพิ่มยอดการส่งออกซอฟต์แวร์จากประมาณ
2,000 ล้านบาทต่อปี ไปสู่รายได้ 14,000
ล้านบาท ภายในปีดังกล่าว ทำให้ผู้เกี่ยวข้องของภาคอุตสาหกรรมนี้ ต่างต้องเร่งปรับตัว
และหาหนทางก้าวไปถึงเป้าตัวเลขนั้น ขณะเดียวกัน
อีกข้อหนึ่งที่อุตสาหกรรมพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทย จำเป็นต้องหันมาใส่ใจก็คือ การเพิ่มสัดส่วนของซอฟต์แวร์จากผู้พัฒนาสัญชาติไทยให้สูงขึ้น
จากปัจจุบันที่มูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ในกลุ่มนี้มีสัดส่วนเพียง 30% ของมูลค่าตลาดรวม ดังนั้น
เมื่อมองข้ามไปยังผู้พัฒนาซอฟต์แวร์จากเอเชียด้วยกัน ที่ประสบความสำเร็จในตลาดโลกอย่างอินเดีย
ซึ่งมี "บังกาลอร์" เป็นที่เชิดหน้าชูตา
จากการได้รับยกย่องให้เป็นซิลิกอน วัลเล่ย์ แห่งเอเชีย และเกาหลี ผู้ส่งออกเกมดังๆ
จนสร้างแฟนพันธุ์แท้เกือบทั่วโลก จึงทำให้บริษัทซอฟต์แวร์ไทยหลายราย เริ่มหันมามองเพื่อนำมาใช้เป็นกรณีศึกษาบ้าง
สร้างความสำเร็จจาก "มาตรฐาน"
นายวิชชุ จารุจันทร
กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตรีม ไอ.ที. คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า
สิ่งที่บริษัทซอฟต์แวร์ไทยจะเรียนรู้ได้จากความสำเร็จของอินเดีย อยู่ที่การทำตลาดเชิงรุก
การจัดทำเอกสารประกอบการพัฒนาโปรแกรม และคู่มือ การเรียนรู้การพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นมาตรฐาน
"ควรเร่งสร้างทักษะบุคลากร ให้มีศักยภาพรองรับการปรับตัวเข้าสู่แนวโน้มใหม่ของตลาดซอฟต์แวร์
ในด้านกระบวนการธุรกิจ (บิสซิเนส โพรเซส) ที่จะเรียนรู้การออกแบบให้สอดคล้องกับธุรกิจลูกค้า
มากกว่าทักษะการพัฒนาโปรแกรม ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องมือช่วยพัฒนาใหม่ๆ
ช่วยงานมากขึ้น ขณะที่กระบวนธุรกิจนั้น ประเทศสหรัฐ ก็ให้ความสำคัญถึงขั้นจดทะเบียนเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง"
นายวิชชุ กล่าว
นอกจากนี้ ผู้พัฒนาในไทย
ยังสามารถรับงานแบบเหมาช่วง (ซับคอนแทร็กต์) กับบริษัทในอินเดียได้ เพื่อเรียนรู้วิธีการพัฒนา และนำเทคโนโลยี หรือเอ็นจิ้นหลักของโปรแกรม
มาพัฒนาต่อยอดโปรแกรม และสร้างเป็นสินค้าใหม่ และขายประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้
เขายกตัวอย่างว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในอินเดียเอง ก็อาศัยการรับพัฒนางานจากประเทศในสหรัฐ
และยุโรปมาเรียนรู้ และถอดแบบการพัฒนาคอร์เทคโนโลยี จากหลายๆ
งานมาพัฒนาเป็นสินค้าของตัวเองเช่นกัน "ส่วนมากคนอินเดียจะได้รับงานจากคนอินเดียที่ไปทำงานในต่างประเทศ
โดยเฉพาะในสหรัฐ และส่งงานกลับมาที่ประเทศเป็นหลัก ทำให้อินเดีย เป็นตลาดให้บริการไอทีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง"
นายวิชชุ กล่าว
ขณะที่ นายเฉลิมพล ปุณโณทก
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีที เอเชีย จำกัด ผู้ให้บริการเทคโนโลยีคอลล์ เซ็นเตอร์
และซีอาร์เอ็ม กล่าวว่า อินเดียมีจุดเด่นในฐานะเป็นแหล่งให้บริการเอาท์ซอร์สซิ่ง
ระบบคอลล์ เซ็นเตอร์ โดยมีรูปแบบธุรกิจที่เอกชนหลายบริษัทร่วมกัน และแบ่งงานกันทำ ตัวอย่างเช่น
การรวมกลุ่มเอกชนในอินเดีย ที่ตั้งเป็นบริษัทแห่งหนึ่ง เป็นตัวแทนขายหาตลาดงานเอาท์ซอร์ส
จากอเมริกา กลับมายังอินเดีย ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งในอินเดีย
จะให้บริการระบบไอทีติดตั้งคอลล์ เซ็นเตอร์ และกลุ่มสุดท้าย จัดหาเจ้าหน้าที่
หรือโอเปอเรเตอร์มาทำหน้าที่ในคอลล์เซ็นเตอร์
ปรับสู่การสร้างซอฟต์แวร์เฉพาะด้าน
อย่างไรก็ตาม เขามองว่าสำหรับประเทศไทยแล้ว
น่าจะสามารถสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ตามความชำนาญเฉพาะด้าน (นิช เพลเยอร์) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดาวรุ่งของประเทศ
เช่น ท่องเที่ยว อัญมณี รถยนต์ และอาหาร "ที่สำคัญไทยเป็นประเทศผู้บริโภคมานาน
น่าจะสามารถเรียนรู้ซอฟต์แวร์ต่างประเทศ พัฒนาหน้าที่การทำงานของโปรแกรมที่สอดคล้องกับความต้องการตลาดภายในประเทศซึ่งมีขนาดใหญ่เพียงพอ
โดยที่ผ่านมาองค์กรขนาดใหญ่เอง จะใช้จ่ายไอทีโดยการจัดซื้อซอฟต์แวร์ต่างประเทศเป็นหลัก"
นายเฉลิมพล กล่าว
ขณะที่นาย เอช เอ นาการายา
ราโอ ผู้บริหารประจำภูมิภาค สมาพันธ์ส่งเสริมการส่งออกซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์
(อีเอสซี) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(ไอซีที) ของอินเดีย กล่าวว่า
ในมุมมองของเขาแล้ว ประเทศไทยมีศักยภาพสูง ที่จะพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านการท่องเที่ยวให้แข็งแกร่ง
เนื่องจาก ปัจจุบันธุรกิจท่องเที่ยว เป็นกลุ่มที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศอยู่แล้ว
และประเทศไทยก็มีความพร้อมในส่วนนี้ ส่วนโอกาสในการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านอื่นๆ ได้แก่
ระบบงานบริหารโรงแรมและโรงพยาบาล, เวบดีไซน์, ระบบงานแพทย์ทางไกล (เทเลเมดิซิน), ซอฟต์แวร์โครงการ และงานพัฒนา, โซลูชั่นสำหรับสมาร์ทการ์ด,
ระบบงานธนาคารและการประกันภัย, การอบรมระดับสูง
เป็นต้น
ยก "เกาหลี" สตาร์ทจากตลาดในประเทศ
ขณะที่ การพัฒนาความแข็งแกร่งของซอฟต์แวร์จากบริษัทไทยสำหรับตลาดในประเทศนั้น
ผู้พัฒนาหลายรายก็เริ่มมองถึงตัวอย่างความสำเร็จของซอฟต์แวร์ค่ายเกาหลี ซึ่งถือเป็นความสำเร็จในการสร้างความครบวงจรของซอฟต์แวร์ภาษาท้องถิ่น
ตั้งแต่การพัฒนาเอง, สนับสนุนให้เกิดความแพร่หลาย
และทำตลาดสินค้ายี่ห้อตัวเอง
นายประสิทธิ์ชัย วีระยุทธวิไล
รองประธานกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สามารถเทเลคอม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เกาหลีมีความโดดเด่นด้านซอฟต์แวร์เฉพาะทาง
ทั้งระบบรักษาความปลอดภัยเครือข่าย เกมมัลติมีเดีย และคีออส ซึ่งโดยมากธุรกิจบริษัทในเกาหลี
จะร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ ทำให้บริษัทท้องถิ่นสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีของพันธมิตรร่วมทุน
อีกทั้งมีภาครัฐที่ให้การสนับสนุน "บริษัทไทยสามารถเรียนรู้งานจากเกาหลี
ผ่านการร่วมพัฒนา และติดตั้งระบบงาน ให้กับองค์กรขนาดใหญ่ได้ ตลอดจนนำประสบการณ์รับเอาท์ซอร์สร่วมกันมาพัฒนาเพิ่มมูลค่าเป็นสินค้า
และบริการที่ตอบสนองตลาดในประเทศ โดยเฉพาะตลาดเอสเอ็มอี" นายประสิทธิ์ชัย กล่าว
ด้านนายวีระศักดิ์
ทรัพย์แสนอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นเตอร์ไพรส์ คอมพิวเตอร์ ซิสเท็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า
ความสำเร็จตลาดซอฟต์แวร์เกาหลี อยู่ที่การพึ่งพาตลาดภายในประเทศเอง
โดยเกาหลีเป็นชาตินิยม เน้นการพัฒนาซอฟต์แวร์เอง และสนับสนุนการใช้งานภาษาเกาหลี
และทำสินค้าของตนเอง ตัวอย่างเช่น โปรแกรมสเปรดชีท "เน็กเซล
(Nexcl)" และการพัฒนาโปรแกรมที่ทำงานบนเวบ ส่วนช่องทางการเข้าไปจาะตลาดเกาหลีนั้น
ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบที่ต้องร่วมลงทุนกับบริษัทท้องถิ่น "ธุรกิจไทยคงยากที่จะไปเจาะตลาดในเกาหลี เพราะต้นทุนจะสูง
สิ่งที่ทำได้ไปดูงาน เรียนรู้และมาพัฒนาเองจะง่ายกว่า" นายวีระศักดิ์
กล่าว นอกจากนี้ ยังน่าจะใช้เกาหลีเป็นต้นแบบ ในแง่ของการออกใบประกาศนียบัตร
(เซอร์ติฟิเคท) ให้กับบริษัทซอฟต์แวร์ที่พัฒนาสินค้ามีคุณภาพ
และสร้างตลาดซอฟต์แวร์ที่เน้นการพึ่งพาตลาดในประเทศด้วย
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
(Scitech) ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2546
|