เอกชนประสานเสียง ติง "ราคาต่ำ" ไม่ใช่เป้าซอฟต์แวร์เอสเอ็มอี
เอกชน ติงโครงการซอฟต์แวร์เอื้ออาทร ชี้ "ราคา"
ไม่ใช่ปัจจัยหลัก ของการใช้ไอที กลุ่มเอสเอ็มอี เกรงซ้ำซ้อน
กับหน่วยงานที่ทำไปแล้ว ด้านเอทีเอสไอ ขานรับ ชี้กระตุ้นเอสเอ็มอี
ใช้ไอทีสร้างตลาด 6 พันล้านบาท
นายมนู อรดีดลเชษฐ์ นายกกิตติมศักดิ์
สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย (เอทีซีไอ) กล่าวถึงนโยบายกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
จะทำ "โครงการซอฟต์แวร์เอื้ออาทร" เพื่อสนับสนุนให้มีการใช้ซอฟต์แวร์ในประเทศเพิ่มขึ้น โดยให้สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
(เอทีเอสไอ) จัดทำแผนงานที่ชัดเจนนำเสนอภายใน
3 สัปดาห์ว่า
ต้องรอผลการศึกษาของสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ)
ก่อนว่าจะมีการดำเนินงานอย่างไร จึงจะระบุชัดว่าเหมาะสมเพียงใด
กระนั้น
ข้อจำกัดของซอฟต์แวร์จะมีมากกว่าฮาร์ดแวร์ในโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีที ดังนั้น การจะใช้แนวคิดเดียวกันมาดำเนินการคงไม่ง่ายนัก
ด้วยมีซอฟต์แวร์บางประเภทเท่านั้น ที่สามารถดำเนินการลักษณะนี้ได้
ตัวอย่างเช่น
ซอฟต์แวร์ที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพส่วนบุคคล (เพอร์ซันนัล โปรดักติวิตี้) เช่น โปรแกรมการบันทึกค่าใช้จ่าย, ซอฟต์แวร์ช่วยบริหารโรงเรียน
ซึ่งอาจจะใช้ในระดับโรงเรียน ประถมศึกษา
เพราะหากเป็นระดับมหาวิทยาลัยระบบจะซับซ้อน ต้องปรับเพิ่มตามความต้องการ
ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่จะกระตุ้นให้เอสเอ็มอีใช้ซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
น่าจะอยู่ที่ผลประโยชน์ที่จะได้รับ โดยเอสเอ็มอีต้องการเข้าระบบเครือข่าย สามารถขยายตลาดของตัวเองได้กับระบบห่วงโซ่อุปทาน
(ซัพพลายเชน)
ที่ต่อเชื่อมเข้ากับองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายหลักได้ เมื่อเอสเอ็มอีเข้าระบบเครือข่ายแล้ว
ก็จะขยายผลใช้งานซอฟต์แวร์ด้านระบบสนับสนุน เช่น บัญชี ได้ "ที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานแจกซอฟต์แวร์บัญชีให้กลุ่มเอสเอ็มอีนำไปใช้ แต่ก็มีผู้ใช้งานไม่มาก
เนื่องจากบางรายเกรงเรื่องเลี่ยงภาษีรายได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม
ดังนั้นปัจจัยการใช้งานจะไม่ใช่อยู่ที่ราคา" นายมนู
กล่าว
ควรส่งเสริมใช้ประโยชน์ซอฟต์แวร์
ด้านนายสุธี สธนสถาพร กรรมการผู้จัดการ
บริษัทเอ็กซทรีม ซิสเต็มส์ จำกัด กล่าวว่า
การลดราคาน่าจะทำให้เกิดการใช้ผลกระทบที่คนใช้มากขึ้น แต่เอทีเอสไอ น่าจะศึกษาการดำเนินของหลายหน่วยงานที่ได้ทำมา
เพื่อลดความซ้ำซ้อน โดยที่ผ่านมา เคยมีสมาคมนักบัญชี
แจกซอฟต์แวร์บัญชีให้ใช้งานฟรีมาแล้ว และซอฟต์แวร์บางประเภทที่มีอยู่ในตลาดก็ไม่ได้มีราคาสูงนัก
ดังนั้นอาจต้องมุ่งส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์ เช่น การฝึกอบรมการใช้งาน และเอกชนก็จะมีรายได้จากการอบรม
และค่าบำรุงรักษาระบบด้วย รวมถึงการปรับปรุงเพิ่มเติมโปรแกรมเพื่อให้ตรงกับความต้องการมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ นายวิกรม ชัยสินธพ กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ที.เอ็น. อินฟอร์เมชั่น ซิสเท็มส์ จำกัด (ทีเอ็นไอเอส) เคยกล่าวว่า
บริษัทจะไม่เน้นการทำตลาดด้านโรงงานผลิต และเอสเอ็มอีโรงงานขนาดเล็ก
เนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมา การพัฒนาระบบให้ธุรกิจขนาดเล็ก ต้องใช้เวลา 8-9 เดือนเท่ากับพัฒนาระบบใหญ่ๆ แต่ลูกค้าไม่พร้อมจ่ายเงินจำนวนสูงเท่าองค์กรใหญ่
ฉะนั้นบริษัทจึงมุ่งทำตลาดลูกค้าภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ
และองค์กรเอกชนขนาดใหญ่เป็นหลัก
มั่นใจระยะยาวได้ผล
นายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท
ไทยยูอาร์แอล จำกัด กล่าวว่า ในระยะสั้นตลาดอาจจะเกร็งๆ กันไปบ้าง แต่ในระยะยาว
จะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี จากการสำรวจช่วงที่ผ่านมา
พบว่ามีถึง 600,000-700,000 ราย ซึ่งไม่นับรวมธุรกิจค้าปลีกที่มีกว่า 100,000
ราย "ดังนั้นหากตั้งสมมติฐานที่ว่า
แต่ละรายใช้ไอทีและซอฟต์แวร์เฉลี่ย 10,000 บาท จะสร้างอุตสาหกรรมมูลค่ากว่า
6,000 พันล้านบาท ทีเดียว ซึ่งก็คงจะค่อยเป็นค่อยไป"
นายพิพัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้
โครงการดังกล่าวน่าจะส่งผลบวกโดยตรงกับกลุ่มสำนักงานขนาดเล็ก หรือโซโหที่แทบจะไม่มีการใช้ไอทีเลยและอาจจะใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนอยู่ให้หันมาใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์มากขึ้น
จากแรงจูงใจด้านราคาที่ต่ำกว่าปกติ ส่วนกลุ่มธุรกิจขนาดกลางขึ้นไป อาจจะไม่ได้รับผลประโยชน์
เพราะมีแนวโน้มจะใช้ระบบต่างๆ อยู่แล้ว สำหรับ สมาคม
คาดว่าจะร่างแนวทางการดำเนินงานโครงการนี้แล้วเสร็จกลางเดือนนี้ เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีโดยจะทำให้เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการในตลาดปกติน้อยที่สุด
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 5 สิงหาคม 2546
|