ซันเปิดตัวเครือข่ายอัจฉริยะ สร้างศูนย์ข้อมูลเสมือนจริง
ซัน ไมโครซิสเต็มส์
เปิดตัวเทคโนโลยีเครือข่ายแห่งอนาคต "เน็ตเวิร์ค วัน" สถาปัตยกรรมเครือข่ายที่จำลองสภาพการทำงานของระบบที่ต่างๆ กันเป็นศูนย์กลางข้อมูลเดียว
หนุนการเชื่อมต่อเครือข่ายที่อยู่กันคนละระบบได้ง่าย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นายไลโอเนล ลิม รองประธานและกรรมการผู้จัดการ
บริษัทซัน ไมโครซิสเต็มส์ พีทีอี ประจำเอเชียใต้ กล่าวว่า แนวคิดเน็ตเวิร์ค วัน (N1) ของซัน ถือเป็นแนวคิดใหม่ที่ซันวางเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางข้อมูลสำหรับองค์กรในอนาคต
และเป็นระบบที่จะให้ช่วยสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในองค์กร โดยเน็ตเวิร์ค วัน
จะทำการเชื่อมต่อระบบต่างๆ เข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบเครือข่าย
ระบบการประมวลผล และระบบการเก็บบันทึกข้อมูล โดยรวมเป็นศูนย์กลางข้อมูล
เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถให้บริการที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งองค์กรที่สามารถได้รับประโยชน์จากแนวคิดนี้
ได้แก่ ธนาคาร ในการทำบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ (อี-แบงกิ้ง)
ทั้งนี้
การทำงานผ่านระบบเครือข่ายของแต่ละองค์กรในปัจจุบัน จะมีการสร้างฐานข้อมูล
โปรแกรมประยุกต์ และรูปแบบการเชื่อมต่อขึ้นมาเป็นของตนเอง ทำให้การติดต่อสื่อสารกันระหว่างองค์กรทำได้ค่อนข้างลำบาก
ยกตัวอย่าง ระบบเอทีเอ็ม ที่แต่ละธนาคารจะมีการสร้างฐานข้อมูล แอพพลิเคชั่น ระบบการเชื่อมต่อของตัวเองขึ้นมาเอง
ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีโครงสร้างที่ไม่เหมือนกัน แต่ก็จะสามารถสื่อสารกันได้โดยผ่านทางตัวกลางตัวหนึ่ง
ซึ่งจะค่อยช่วยจัดการให้แต่ละธนาคารสามารถสื่อสารกันได้
ขณะที่ด้วยแนวคิดใหม่ดังกล่าว ลูกค้าของซัน จะสามารถใช้ประสิทธิภาพของเครือข่ายได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยเทคโนโลยีเน็ตเวิร์ค วัน
เป็นการจำลองให้ระบบเครือข่ายเป็นเสมือนคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง โดยจะจำลองการรวมทรัพยากรๆ
ต่างเข้าด้วยกัน และมีการจัดสรรทรัพยากรไว้อย่างเหมาะสมกับการเรียกใช้งาน "ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของการใช้งานของทรัพยากร
N1 จะทำการปรับแต่งให้เหมาะสมโดยอัตโนมัติ ซึ่งผลที่ตามมา จะทำให้การใช้งานของทรัพยากรทั้งหลายได้เต็มประสิทธิภาพ
มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และช่วยลดค่าใช้จ่ายของการเพิ่มทรัพยากร" นายลิมกล่าว
นอกจากนี้
ยังทำการปรับแต่งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์โดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาการบริหารระบบเครือข่ายลงได้มาก
โดยแนวคิดการจำลองทุกส่วนที่ต่อเชื่อมกับระบบเครือข่ายเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ จะช่วยให้การบริหารและการจัดการง่ายขึ้น
และยังทำให้เกิดประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นมีมากขึ้น ตลอดจนองค์กรสามารถลดค่าใช้จ่ายโดยรวมของการจัดการระบบเครือข่ายที่สลับซับซ้อน
มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เกิดประสิทธิภาพได้สูงสุด
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2545
|