ซันฯปลุกตลาด "โลว์คอสต์คอมพิวเตอร์" พร้อมเร่งหาคู่ค้าช่วยบุกตลาดซอฟต์แวร์
ซันฯประกาศแผนขยายตลาดปีวอกชูนโยบายเปิดตลาด
"โลว์คอส คอมพิว เตอร์" ขยายลงจับตลาดล่าง
พร้อมชูนโยบายสร้างเม็ดเงินจากตลาดซอฟต์แวร์ โดยเร่งหาคู่ค้ามาโฟกัสการทำตลาดซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ
นายก้องเกียรติ
หวังวีระมิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ จำกัด เปิดเผย "ประชา ชาติธุรกิจ"
ถึงนโยบายการทำตลาดของซันฯในปีนี้คือการหาพาร์ตเนอร์ใหม่ที่จะเข้ามาช่วยในการขยายตลาดซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ
เนื่องจากซันฯมีผลิตภัณฑ์ทางด้านซอฟต์แวร์อยู่พร้อมแล้วไม่ว่าจะเป็น จาวา เดสก์ทอป
ซิสเต็มส์, จาวา เอ็นเตอร์ ไพร้ซ ซิสเต็มส์และอื่นๆ
อีกหลายตัว แต่ปัญหาคือบริษัทขาดการผลักดันและไม่มีคนที่จะมาสนับสนุนการทำตลาดอย่างจริงจัง
ที่ผ่านมาจะเป็นการฝากให้คู่ค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์ของซันฯช่วยทำตลาดพ่วงไปด้วยเป็นโซลูชั่นทำให้พาร์ตเนอร์ยังไม่โฟกัสหรือผลักดันการทำตลาดอย่างจริงจัง
จะเน้นการทำตลาดฮาร์ดแวร์มากกว่า ดังนั้นเพื่อสร้างตลาดด้านซอฟต์ แวร์อย่างจริงจัง
เนื่องจากซอฟต์แวร์ของซันฯสามารถทำงานบนเครื่องฮาร์ดแวร์ทุกยี่ห้อ จึงมีนโยบายการตั้งตัวแทนจำหน่ายเพื่อมาทำตลาดซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดข้อตกลง
นายก้องเกียรติกล่าวว่า นโยบายอีกข้อของบริษัทคือการทำโลว์คอส
คอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าเนื่องจากปัจจุบันซันฯมีลูกค้ารายใหญ่ที่ใช้เครื่องเซิร์ฟเวอร์ของซันฯจำนวนมาก
แต่มีปัญหาว่าเครื่องเวิร์กสเตชั่นลูกค้าไม่ใช้ของซัน ด้วยปัญหาว่าเครื่องของซันมีราคาสูงกว่าเครื่องของคู่แข่ง
ดังนั้น ซันฯจึงได้ออกคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่ใช้ชิปเอเอ็มดี เพื่อทำให้ราคาใกล้เคียงคู่แข่งเพื่อขยายลงมาในตลาดล่าง
"เชื่อว่าถ้าบริษัทมีคอมพิวเตอร์เวิร์กสเตชั่น ราคาถูกลงมาทำตลาด
ลูกค้าที่ใช้เซิร์ฟเวอร์ของ ซันฯอยู่เดิมก็น่าจะพร้อมเครื่องเวิร์กสเตชั่นของซันฯ รวมถึงการขยายฐานลูกค้าขนาดกลางและย่อมที่อยู่ออกนอกพื้นที่กรุงเทพฯมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การทำตลาดคอมพิวเตอร์ซันฯ จะเน้นความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ที่พัฒนาแอปพลิเคชั่นเฉพาะด้าน
เพื่อให้พาร์ตเนอร์มีโฟกัสการทำตลาดในแต่ละเซ็กเมนต์มากขึ้น"
นายก้องเกียรติกล่าวว่า นอกจากเรื่องของการสร้างเม็ดเงินทางด้านธุรกิจ
ซันฯยังให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะการผลักดันโครงการศูนย์ java
competency เป็นลักษณะศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรเพื่อสร้างนักพัฒนาบนเทค
โนโลยีจาวา แต่การที่จะทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อผลักดันนโยบาย
และจัดหาองค์กรกลางเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้บริหารโครงการให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
"ความต้องการนักพัฒนาเทคโนโลยีจาวามีสูง แม้ว่าเมืองไทยจะมีคนรู้จักหรือพัฒนาแอปพลิเคชั่น
บนเทคโนโลยีจาวาจำนวนมาก แต่มีคนที่ได้รับ certify อยู่เพียง
200-300 คนเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้สำคัญเพราะถ้าไม่ได้ certify
ก็ทำให้การพัฒนาอาจมีข้อบกพร่องไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งจุดนี้ทำให้โอกาสในการที่จะพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อส่งออก
หรือไปรับงานต่างประเทศก็ลำบาก"
นายก้องเกียรติกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ซันฯได้พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศไทยมานานหลายปีแล้ว
แต่ก็เชื่อว่าจะสำเร็จและเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้แน่นอน ซึ่งการตั้งศูนย์นี้ไม่ใช่ว่าซันฯจะเป็นผู้ได้ประโยชน์แต่ว่าประโยชน์จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย
แน่นอนว่าซันฯก็ได้ประโยชน์ทางอ้อมจากการที่มีนักพัฒนาจาวาแอปพลิเคชั่นที่มากขึ้น แต่ก็ถือว่าเป็นการลงทุนร่วมกันเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศไทย
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 16 เมษายน 2547
|