ซันตีปีกรับนโยบายจีนสบช่องเบียดไมโครซอฟท์
นักวิเคราะห์ชี้เบื้องหลังปกป้องผู้ผลิตในประเทศและควบคุมข้อมูลลับ
ซัน ระบุนโยบายส่งเสริมซอฟต์แวร์ท้องถิ่นจีน
ส่งสัญญาณดับอำนาจไมโครซอฟท์ พร้อมเปิดทางดันระบบงานลินิกซ์ตีตลาดครั้งใหญ่ ขณะที่ไมโครซอฟท์เผยผลวิจัยตอกย้ำต้นทุนพัฒนาระบบงานวินโดว์สต่ำกว่าลินิกซ์
สำนักข่าวรอยเตอร์
รายงานคำให้สัมภาษณ์ของนายจอห์น เกจ หัวหน้าฝ่ายวิจัยบริษัทซัน ไมโครซิสเต็มส์
ซึ่งกล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบปฏิบัติการประจำชาติของรัฐบาลจีน
โดยอาศัยซอฟต์แวร์ท้องถิ่น หรือซอฟต์แวร์อิสระ เช่นลินิกซ์ จะทำให้การครองอำนาจโดยซอฟต์แวร์วินโดว์สสิ้นสุดลง "เมื่อจีนตัดสินใจออกนโยบายต่อต้านซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้พัฒนาในประเทศ
ซึ่งมีความหมายอีกนัยหนึ่งว่า "ลาก่อน ไมโครซอฟท์"
ก็หมายความว่าลินิกซ์ และสตาร์ออฟฟิศ ซอฟต์แวร์ที่เราพัฒนาขึ้นฟรี
จะเข้ามาแทนที่ระบบงานเวิร์ด ของไมโครซอฟท์ทั้งหมด" นายเกจ
กล่าว
ที่ผ่านมา ผู้ผลิตในอุตสาหกรรม ได้หันมาสนับสนุนการใช้ลินิกซ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
รวมถึง ไอบีเอ็ม เรด แฮท และซัน ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูผลประกอบการครั้งใหญ่
หลังจากที่ผลกำไรสุทธิ ประจำไตรมาส 4 ลดลงถึง 80%
คิดเป็นมูลค่า 12 ล้านดอลลาร์ จากยอดขาย ซึ่งลดลงราว 13% เหลือเพียง 2,980 ล้านดอลลาร์ "สำหรับเรา นี่เป็นโอกาสทางการตลาดครั้งใหญ่" นายเกจ
กล่าว พร้อมเสริมว่า โอเพ่น ซอร์ส จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีหลักใน 5 ปีข้างหน้า อีกทั้งยังเป็นทางเลือกสำหรับรัฐบาลที่ไม่ต้องการผูกขาดกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง
และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาเทคโนโลยีของบริษัทนั้น แต่รัฐบาลต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ใช้ซอฟต์แวร์
ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อให้ซอฟต์แวร์มีความเสถียรภาพ และความน่าเชื่อถือของระบบ รวมถึงการสนับสนุนในทางเทคนิคและการพัฒนาที่ต่อเนื่อง
ซึ่งครอบคลุมถึงความรับผิดชอบเมื่อระบบมีปัญหาด้วย
นักวิเคราะห์ แสดงความเห็นเกี่ยวกับการทำข้อตกลงพัฒนาระบบปฏิบัติการโอเพ่นซอร์สร่วมกับของจีน
เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ว่า จีนไม่เพียงต้องการปกป้องบริษัทผลิตซอฟต์แวร์ท้องถิ่น อาทิ
คิงส์ซอฟต์ จากอำนาจผูกขาดตลาดของไมโครซอฟท์เท่านั้น แต่ยังมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมการรักษาข้อมูลสำคัญของรัฐบาล
และความปลอดภัยเครือข่ายข้อมูลในประเทศ ขณะที่ ตัวแทนบริษัทไมโครซอฟท์ กล่าวว่า พันธมิตรระหว่างชาติเอเชียทั้งสามอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านการแข่งขันที่เป็นธรรม
ขณะเดียวกัน บริษัทไจก้า รีเสิร์ช ได้เปิดเผยผลการศึกษา ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาระบบงานสำหรับโปรแกรมวินโดว์ส
มีราคาถูกและทำได้ง่ายกว่าการพัฒนาระบบงานสำหรับลินิกซ์
ทั้งนี้ จากการสำรวจ
ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากบริษัทไมโครซอฟท์ และเป็นการสำรวจจากผู้ประกอบการทั้งหมด 12 แห่ง
โดยบริษัท 7 แห่งใช้แพลตฟอร์ม ดอท เน็ต ของไมโครซอฟท์
และบริษัทอีก 5 แห่งใช้แพลตฟอร์มลินิกซ์ พบว่า
บริษัทขนาดใหญ่ มีค่าใช้จ่ายในการรันระบบงานมาตรฐานดอท เน็ต ราว 1.64 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลา 3 ปี ซึ่งต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในการรันบนมาตรฐาน
เจ2อีอี/ลินิกซ์ (J2EE/Linux) ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.29 ล้านดอลลาร์ ราว 28%
ขณะที่ นายจอห์น ไรเมอร์ นักวิเคราะห์รายหนึ่ง
เสริมว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน ไม่ใช่ราคาซอฟต์แวร์ แต่เป็นต้นทุนการพัฒนาซอฟต์แวร์
และค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรมากกว่า อย่างไรก็ตาม ทางฟอร์เรสเตอร์ ระบุว่า แม้จะมีความแตกต่างด้านราคา
แต่ "องค์กรหลายแห่ง จะหันมาใช้ลินิกซ์มากกว่าไมโครซอฟท์" เนื่องจากความคุ้นเคยกับแพลตฟอร์มยูนิกซ์ ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับรันเครือข่ายคอมพิวเตอร์แม่ข่ายของซัน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 กันยายน
2546
|