มาตรฐานเปิด-การจัดการเสมือน แนวแข่งขันระบบสำรองยุคปัจจุบัน
มาตรฐานระบบเปิด
และการจัดการระบบสำรองข้อมูลแบบเสมือน กำลังเป็นแนวทางการแข่งขันของผู้พัฒนาเทคโนโลยียุคปัจจุบัน ทั้งนี้คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า
ปีนี้เป็นปีทองของตลาด "ระบบสำรองข้อมูล" หรือ "สตอเรจ ซิสเต็มส์" อย่างแท้จริง
เนื่องจากผู้ค้าเทคโนโลยีหลายค่าย ต่างเร่งวางตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่
และลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โซลูชั่น เซ็นเตอร์ เพื่อเป็นศูนย์สาธิต
และทดสอบการทำงานของผลิตภัณฑ์ รวมถึงจัดกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง
โดยมีเป้าหมายเดียวกัน ก็คือ การแย่งฐานลูกค้า และส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากที่สุด
ผลวิจัยตลาดสตอเรจโต
ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ทุกค่ายต่างมุ่งบุกตลาดระบบสำรองข้อมูล
ก็คือ ผลการวิจัยของตลาดดังกล่าวจาก หลายค่าย ที่ระบุตรงกันว่า เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น
จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของข้อมูล ในอัตรา 2 เท่าตัวเกือบทุกปี
รวมถึงการแพร่หลายของระบบอินเทอร์เน็ตในเชิงพาณิชย์ และเวบไซต์ต่างๆ
จนทำให้มีประมาณการว่า ปริมาณข้อมูลจะเพิ่มขึ้นเกือบ 60 ล้านเทราไบต์
ในอนาคตอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทั้งค่ายฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ในธุรกิจนี้
ต่างมุ่งไปก็คือ การอำนวยความสะดวก ให้ลูกค้าจัดการระบบสำรองข้อมูลได้อย่างง่ายดายขึ้น
ผ่านการบริหารแบบรวมศูนย์ หรือเซ็นทรัลไลซ์ (Centralize) และลดความยุ่งยากซับซ้อนการจัดการข้อมูล
ที่มีปริมาณมหาศาล
ความต้องการลูกค้าดันตลาดโต
นายเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ กรรมการผู้จัดการ
บริษัทฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด
กล่าวว่า ปีนี้ปริมาณการจัดเก็บข้อมูลจะมากขึ้นเท่าตัว (คิดเป็นเทราไบท์)
เทียบจากปีที่แล้ว แต่สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือ จำนวนรายได้หรือมูลค่า
การขายเท่าเดิม ซึ่งนั่นหมายถึง การแข่งขันด้านราคารุนแรงขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้แนวโน้มความต้องการของลูกค้า
จะเป็นตัวผลักดันให้การแข่งขัน มุ่งไปที่การตอบสนองการช่วยจัดการระบบ
สำรองข้อมูลให้งานมากขึ้น ขณะที่นายโรเบิร์ท เลย์ ผู้จัดการฝ่ายสตอเรจ ซิสเต็มส์
ไอบีเอ็มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ความต้องการของผู้บริโภค
ที่ไม่ต้องการผูกติดกับเทคโนโลยีของผู้ผลิต รายหนึ่งรายใด ผลักดันให้การพัฒนาเทคโนโลยี
เน้นไปที่โซลูชั่นการบริหารจัดการข้อมูล รวมทั้ง
ทำให้แนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมนี้เน้นไปที่ การจัดการแบบเสมือน (Virtualization)
โดยการใช้ซอฟต์แวร์เข้ามาช่วยบริหาร จัดการเก็บข้อมูลข้ามระบบได้
และไม่ผูกติดกับเครื่องแม่ข่าย หรือฮาร์ดแวร์ และระบบปฏิบัติการที่ใช้
ระบบดี-ลูกค้าบริหารทรัพยากรได้ดี
ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ทำให้ลูกค้าสามารถบริหารทรัพยากรระบบสำรองข้อมูลในส่วนกลางได้
เป็นพูล รีซอร์ซ
(Pool Resource) การจัดเก็บข้อมูลไปในพื้นที่ดิสก์ที่ว่างอยู่ ซึ่งระบบมองเป็นภาพเดียวไม่ถูกแบ่งโดยฮาร์ดแวร์
ทำให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพสูงสุด (ยูติไลเซชั่น)
นั่นเอง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเอง
ยังมุ่งไปที่การแบ่งปันการใช้ไฟล์ข้อมูล ในระบบการจัดเก็บสำรองข้อมูลเครือข่าย (Common
SAN file system) โดยสามารถเรียกใช้ไฟล์ข้อมูล
ที่อยู่ในเครื่องต่างระบบปฏิบัติการได้ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้องค์กรสามารถลดจำนวนบุคลากรที่เข้ามาดูแลระบบลง
จากเดิมที่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญในระบบปฏิบัติการ ของเครื่องคอมพิวเตอร์ต่างค่ายเข้ามาช่วยดูแล
โดยในอนาคตจะเหลือเพียงผู้ที่ดูแลระบบโดยรวม ซึ่งในปัจจุบัน ต้นทุนรวมการเป็นเจ้าของระบบสำรองข้อมูล
(TCO: Total Cost Of Ownership) 80% เป็นค่าใช้จ่ายด้าน
การจัดการโดยเฉพาะบุคลากร ขณะที่ 20%
เป็นค่าเครื่องและอุปกรณ์ นายเลย์ กล่าว
ชี้แนวโน้ม ใช้แซนมากขึ้น
นอกจากนี้
ยังมีแนวโน้มการรวมการใช้งานของระบบแซน (Storage Area Network) และแนส
(NAS: Network Attach Storage) ยังมาแรง โดยแซน จะใช้สายไฟเบอร์เพื่อการส่งข้อมูลภายในเครือข่าย
ขณะที่แนสจะส่งผ่านข้อมูลโดยอาศัยอินเทอร์เน็ต โปรโตคอล (IP) สำหรับประโยชน์ที่จะได้หากมีการรวมการใช้สองระบบนี้
ผ่านอุปกรณ์ที่เป็นเกตเวย์ ทำให้องค์กร ที่มีการลงทุนระบบแซน ขนาดใหญ่
สามารถเชื่อมการใช้งาน กับสำนักงานสาขาที่มีการใช้ระบบแนสได้
ผู้ใช้ข้อมูลจากระบบแนส ก็สามารถเรียกดูข้อมูลที่จัดเก็บในระบบแซนได้
โดยผลการวิจัยจากการ์ทเนอร์ และไอดีซี ระบุว่า ระบบแซน แนส
และซอฟต์แวร์เพื่อจัดการข้อมูล ในระบบดังกล่าวมีอัตราการเติบโตกว่า 20% ต่อปี ติดต่อกันภายใน 5 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกัน
ในด้านพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว ระดับโลกยังมีสมาคม Storage Network Interface
Association: SNIA กำลังหาโปรโตคอลกลางเป็นระบบเปิด (Open
Industry Standard Protocol) ของระบบสตอเรจด้วย เพื่อเป็นเทคโนโลยีมาตรฐานการใช้งานของอุตสาหกรรม
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
(กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม 2545
|