สมาร์ทการ์ดต้องเลื่อนกำหนดคลอดหลังมี.ค.46
ผอ. สำนักบริหารการทะเบียนแจงระบบรองรับต้องใช้เวลาดำเนินการไม่ต่ำกว่า
3 ปี
สำนักบริหารการทะเบียน ชี้การจัดทำระบบรองรับการใช้งานของสมาร์ทการ์ดต้องรอไม่ต่ำกว่า
3 ปี ส่งผลกำหนดออกการ์ดใบแรกตามแผนของก.ไอซีทีต้องเลื่อนจาก 6 เดือนออกไป รอคณะอนุกรรมการไอซีทีการทะเบียนแห่งชาติพิจารณารายละเอียด
นายสุรชัย ศรีสารคาม
ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า
ความพร้อมในการจัดทำสมาร์ทการ์ด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานอี-ซิติเซ่น
ในโครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ตามแผนแม่บทไอซีทีแห่งชาตินั้น
คาดว่าบัตรใบแรกคงไม่สามารถเสร็จทันภายในเดือนมีนาคม 2546 ทั้งนี้
เพราะสิ่งสำคัญของการออกบัตรอยู่ที่การนำไปใช้งาน ซึ่งต้องมีสาธารณูปโภครองรับ โดยการทำงานเรื่องนี้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการไอซีที
การทะเบียนแห่งชาติ ซึ่งมีคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(ไอซีที) เป็นประธาน โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานบริหารการทะเบียน
เป็นเลขานุการคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณารายละเอียดการจัดทำสมาร์ทการ์ด (e-Citizen
Card) ให้เสร็จเรียบร้อย ตั้งแต่การเลือกผู้ผลิตสมาร์ทการ์ด
จนถึงการพิจารณาข้อมูลที่จะนำมาใส่ในการ์ด โดยสำนักบริหารการทะเบียน
มีหน้าที่รับผิดชอบการเชื่อมโยงข้อมูล และการจัดทำบัตร มีความพร้อมของรหัสพีเคไอ (PKI)
ระบบเก็บลายพิมพ์นิ้วมือ ระบบลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนการเชื่อมโยงโครงข่ายเป็นบทบาทของบริษัท
ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(ไอซีที) ของน.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า
จะออกบัตรใบแรกภายใน 6 เดือน
ต้องเตรียมพร้อมข้อมูล
"การเตรียมความพร้อมของข้อมูลพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญ
เพราะต้องคำนึงถึงประโยชน์ในการนำไปใช้งานของบัตรด้วย เพราะเป้าหมายของการจัดทำสมาร์ทการ์ดนั้นมีเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการพื้นฐานได้
ยกตัวอย่างเช่น บัตรประชาชน เพื่อใช้แสดงตน ใช้เลขบัตรประชาชนในการเข้าสู่บริการเครือข่ายของภาครัฐและเอกชน
ใช้แทนบัตรสมาชิก ขณะเดียวกันการจัดทำบัตรใบเดียว
ยังเพื่อนำไปใช้บริการของภาครัฐได้ เช่น เป็นบัตรประกันสังคม บัตรประกันสุขภาพ
บัตรประจำตัวข้าราชการ ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ พร้อมทั้งนำไปใช้ในงานบริการของภาคเอกชน
เช่น นำมาใช้เป็นบัตรเงินสด (e-Purse) ใช้บริการเติมเงิน
บัตรสะสมคะแนน บริการทางธนาคาร รวมไปถึงการเป็นบัตรระดับนานาชาติ เช่น
เป็นบัตรแสดงตน แทนพาสปอร์ต หรือชำระเงิน โดยการจัดทำบัตรจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของข้อมูล
เท่าๆ กับการไม่ล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล" นายสุรชัย
กล่าว พร้อมแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า โดยส่วนตัวเห็นว่า การทำบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ควรทำให้แก่ประชาชนสมัครใจ
โดยผู้สนใจทำ จะต้องยินดีเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มใบละ 100 บาท
จากเดิมที่บริการบัตรแถบแม่เหล็กนั้น รัฐมีต้นทุนประมาณ 28
บาทต่อ 1 ใบ
ส่วนด้านระบบรองรับนั้น จะไม่ต้องลงทุนมากนัก โดยมีสิ่งสำคัญที่ข้อมูลซึ่งจะใส่ลงในบัตร
และฐานข้อมูลรองรับ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับข้อกฎหมาย
ไม่ให้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทั้งนี้ทางสำนักงานทะเบียนราษฎร มีแผนเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยของข้อมูลไว้เป็นอย่างดี
ซึ่งยากที่จะเข้าถึงระบบได้ อย่างไรก็ตามหากตรวจสอบพบว่ามีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหน่วยงานภาครัฐนั้น
จะต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ระบบเองยังเก็บข้อมูลผู้เข้าสู่ระบบไว้ หากมีปัญหาเกิดขึ้นจะนำข้อมูลนั้นมาเป็นหลักฐานเอาผิดได้
ขณะเดียวกันจะเปลี่ยนรหัสลับเข้าระบบทุกเดือน และถ้าเจ้าของข้อมูลต้องการเข้ามาตรวจสอบจะต้องเซ็นยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร
พร้อมกันนั้น กระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน จะต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจของแต่ละแห่งเท่านั้น
จึงจะมีสิทธิเข้าสู่ระบบได้ ดังนั้นจึงไม่เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องกังวลใจ
หากมีการใช้บัตรสมาร์ทการ์ดขึ้น
ต่างชาติหมายระบายตลาด
แหล่งข่าวในวงการไอซีที กล่าวว่า สมาร์ทการ์ดไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับการใช้งานบริการประชาชน
เพราะสามารถใช้ระบบอื่นแทนได้ อย่างไรก็ตาม
ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทการ์ดต่างชาติหลายแห่ง คำนวณความต้องการชิพสำหรับสมาร์ทการ์ดเกินกว่าความต้องการจริงในตลาด
ดังนั้นจึงเกิดความพยายามเข้ามาเสนอขายให้กับประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยด้วย ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า
มีหลายโครงการเสนอใช้สมาร์ทการ์ดกัน ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นในการใช้งานจริงแต่อย่างใด
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 พฤศจิกายน
2545
|