ซิป้า-ซอฟต์แวร์ พาร์ค ประสานเสียงสร้างคนป้อนอุตสาหกรรม

หนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ชาติ คือ ซอฟต์แวร์ ที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งการจะพัฒนาซอฟต์แวร์ได้องค์ประกอบสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง คือ ความพร้อมเรื่องคน แต่จนถึงวันนี้ คนยังเป็นปัญหาหลักอีกแขนงหนึ่ง

 

จากการศึกษาเชิงลึกของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ที่ทำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2547 ถึงการมีงานทำของกำลังคนระดับกลางและระดับสูง เพื่อเพิ่มผลผลิตภาพและความสามารถการแข่งขันของประเทศ ปรากฏว่า จากยอดรวมการจ้างงานใน 7 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ จำนวน 2.80 ล้านคนนั้น อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ มียอดการจ้างงาน 0.02 ล้านคน โดย 18.7% ทำงานส่วนตัว ทั้งพบว่า ภายใน 5 ปีจะขาดบุคลากร 30,000 คน

 

นายมนู อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า กล่าวว่า ประเทศไทยมีบุคลากรซอฟต์แวร์กว่า 20,000 คน แต่น้อยกว่า 10% มีทักษะระดับผลิตซอฟต์แวร์สู่สากล จากหลักสูตรพื้นฐานที่ผลิตบัณฑิต เช่น หลักสูตรคอมพิวเตอร์ศาสตร์, วิศวกรรมคอมพิวเตอร์, เทคโนโลยีสารสนเทศนั้น มีวิชาที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ประมาณ 35% หรือ 40-45 หน่วยกิตเท่านั้น นอกนั้นเป็นวิชาปูพื้นฐานความรู้ด้านต่างๆ ไม่เพียงเท่านั้น ตำราที่ใช้ในการเรียนการสอนหลักสูตรดังกล่าว ยังเป็นตำราเล่มเดียวกับที่สอนเมื่อ 35-40 ปีก่อน ขณะที่การพัฒนาซอฟต์แวร์ของโลก ก้าวไปไม่ต่ำกว่า 3 รุ่นแล้ว ทั้งนี้ การเรียนการสอนในชั้นเรียนของไทย ไม่แตกต่างจากต่างประเทศ แต่นักศึกษาในต่างประเทศมีข้อได้เปรียบที่อยู่กับแหล่งพัฒนาซอฟต์แวร์ จึงสามารถจัดเวลาไปฝึกงานในบริษัทต่างๆ ช่วงเช้า แล้วเข้าเรียนทฤษฎีช่วงบ่ายได้ ฉะนั้น เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยต้องสร้างหลักสูตรรองรับ เสริมทักษะเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น

 

สหกิจศึกษาคือทางออก

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ซิป้าเสนอทางออก คือ การปรับปรุงหลักสูตร ให้นักศึกษาทำงาน และเรียนไปพร้อมกัน เป็นความร่วมมือในลักษณะสหกิจศึกษา โดยให้นักศึกษาปี 4 ไปทำงานในบริษัทที่เลือก ซึ่งจะต้องฝึกเทคโนโลยีใหม่จริงๆ ทั้งนี้ บริษัทที่จะรับเด็กฝึกงาน ต้องเตรียมพร้อมว่า ต้องการพัฒนา หรือสร้างผลงานใดขึ้นภายใน 3 ปีข้างหน้า แล้วจัดตั้งทีมพิเศษขึ้นดำเนินการ พร้อมจ้างผู้เชี่ยวชาญมาอบรม ซึ่งในทีมพิเศษนี้จะต้องรับเด็กฝึกงานเข้าร่วม เพื่อให้เรียนรู้การทำงานตั้งแต่ต้น "ซิป้า คงต้องเริ่มก่อน ด้วยการสร้างโจทย์ขึ้น แล้วชวนมหาวิทยาลัยมาร่วมมือ พร้อมติดต่อเอกชน อธิบายถึงเทคโนโลยีที่สำคัญ และเป็นอนาคต เช่น เวบ เซอร์วิส, แอนิเมชั่น เพื่อให้บริษัทที่สนใจใช้เทคโนโลยีดังกล่าว รับนักศึกษาไปฝึกงาน ซึ่งช่วงต้นไม่ต้องจ่ายค่าแรง จนกว่าจะเริ่มพิสูจน์ความเป็นไปได้ โดยกำลังคุยกับมหาวิทยาลัยบางแห่ง เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นต้น" นายมนู กล่าว

 

ร่วมมือภาคอุตสาหกรรมสร้างคน

นายรอม หิรัญพฤกษ์ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ข้อเสนอแนะสำหรับการสร้างคนเพื่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ คือ ต้องเน้นการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ตั้งหน่วยประสานความร่วมมือ จัดตั้งการศึกษาแบบ Corporate Schools หรือบริษัทเอกชนเปิดฝึกอบรมเฉพาะทางภายใต้สถาบันการศึกษา จัดหลักสูตรแบบ clustering เพิ่มสัดส่วนวิชาเลือก ส่งเสริมการสอบวุฒิบัตรมาตรฐานระดับนานาชาติ และจัดหลักสูตรร่วมกันหลายสถาบันแบบคณะทำงาน ทั้งนี้ ในบางประเทศได้จัดทำสถาบันสอนเทคโนโลยีสารสนเทศ (Institute of Information Technology) ขึ้นอบรม และสอนเฉพาะไอที รับบุคลากรจากสาขาอื่นมาผึกอบรมเป็นบุคลากรไอที หรือชำระคืนค่าฝึกอบรม และค่าสอบวุฒิบัตรมาตรฐานให้เมื่อสอบผ่าน โดยสัดส่วนของเงินคืนขึ้นกับประเภทของการฝึกอบรม เช่น 50 - 100% เป็นต้น เพื่อสร้างแรงจูงใจ

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 กันยายน 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.