รายงาน : สิงคโปร์สานเอกชน - การศึกษาเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

กะเทาะแนวคิดสิงคโปร์ ประสานรัฐ-การศึกษา-เอกชน สร้างคนไอที สานฝันสโลแกนดิจิทัล ลีฟวิ่ง แล็บ เสริมศักยภาพแข่งขัน - ดึงเงินตราเข้าประเทศ

 

จากแนวคิดรัฐบาลสิงคโปร์ ประกาศจุดขายในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ที่จะให้ประเทศ เป็น Talent Capital ที่ดึงดูดการลงทุนด้านไอซีทีจากต่างประเทศ ภายใต้สโลแกน "Digital Living Laboratory" เป็นห้องทดลองที่มีชีวิตชีวา ไดนามิคที่ตอบรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี มีบุคลากรทักษะระดับสูง และสิ่งแวดล้อมอำนวยการทำธุรกิจ

 

นายคุง ฮอค ยุน ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Infocomm Development Authority of Singapore: IDA ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐกำหนดนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ยุทธศาสตร์สำคัญที่ผลักดันให้สโลแกนดังกล่าวเป็นจริงนั้น รัฐจะต้องเป็นตัวประสานระหว่างเอกชนที่มีเทคโนโลยีจากต่างประเทศกับเอกชนในอุตสาหกรรมไอซีทีภายในประเทศเอง และสถาบันการศึกษา รวมถึงสถาบันวิจัยและพัฒนา อีกทั้งจะต้องมองความต้องการของตลาด และแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะสามารถสร้างความพร้อมบุคลากรไอซีทีให้ทันกับเทคโนโลยี และมีโครงสร้างพื้นฐานอำนวยความสะดวกให้เอกชนท้องถิ่นสามารถร่วมวิจัยและพัฒนา หรือใช้ประโยชน์จากสถาบันการศึกษาและวิจัยที่มีอยู่ เพื่อใช้ต่อยอดธุรกิจของตนที่มีอยู่เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของเอกชนในประเทศ

 

ตัวอย่างโครงการความร่วมมือที่เด่นชัด "Java Tarik ONE" เป็นความร่วมมือของไอดีเอ และบริษัทซัน ไมโครซิสเต็มส์ ที่จะช่วยถ่ายโอนเทคโนโลยีแอพพลิเคชั่นอินเทอร์เน็ตในยุคหน้า (Next Generation Internet Application) ทั้งพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรในประเทศให้มีทักษะระดับสูงขึ้น รวมทั้งการสร้างสินค้าใหม่ทั้งจากทำโครงการนำร่อง และทดลองร่วมกันระหว่างการใช้ซัน แล็บ และสถาบันการศึกษาและวิจัยในสิงคโปร์ เพื่อลดช่องว่างระหว่างเทคโนโลยีใหม่กับการนำมาใช้ รวมถึงขยายตลาดต่างประเทศ

 

คาดสร้าง 500 งานไอที

โครงการดังกล่าวเป็นเฟสที่สอง 2545-2550 ต่อจาก Java Tarik Initiative ที่มุ่งพัฒนาคนให้มีความรู้จาวา เมื่อปี 2540-2545 ซึ่งใช้เงินลงทุนไป 140 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วนในเฟส 2 นี้ใช้งบลงทุน 100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งซันและไอดีเอ ออกสัดส่วนเท่ากันกึ่งหนึ่งจากทั้งหมด ที่เหลือเป็นพันธมิตรอื่น ทั้งนี้ คาดว่าจะสร้างงานในอุตสาหกรรมไอซีที 500 งาน และสร้างบุคลากรมืออาชีพระดับสูง 200 คน ที่จะสามารถผลิตโซลูชั่น 50 ระบบเพื่อการส่งออก หรือคิดเป็นรายได้ประมาณ 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ "ในเฟสนี้จะทำให้สิงคโปร์เข้าสู่เทคโนโลยีล้ำหน้า หรือ Edge Technology เช่น เวบ เซอร์วิส และทดลองสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประเด็นสำคัญทั้งมาตรฐาน การสร้างแอพพลิเคชั่น พัฒนาสินค้าเพื่อการส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศ ทั้งนี้ จากตัวเลขอุตสาหกรรมอินโฟคอมม์ของสิงคโปร์ เมื่อปี 2544 มีประมาณ 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ" นายยุนกล่าว

 

สร้างนักพัฒนาจาวาติดอันดับ 3

ด้านนางตัน ชิง ยี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หน่วยงานเดียวกัน กล่าวว่า ผลจากโครงการในเฟสแรก เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา สามารถสร้างนักพัฒนาภาษาจาวาได้ 50,000 คน ทำให้สิงคโปร์มีจำนวนนักพัฒนาจาวามาเป็นอันดับ 3 ในเอเชียแปซิฟิก รองจากอินเดีย และจีน อีกทั้งทำให้บริษัทท้องถิ่นของสิงคโปร์กว่า 100 บริษัทได้ประโยชน์ และสร้างสินค้าและแอพพลิเคชั่นกว่า 50 รายการ ทั้งนี้ ในเฟสแรกได้ตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะและห้องแล็บรวม 4 แห่ง โดยเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างซัน-ไอดีเอ และสถาบันการศึกษา เช่น ศูนย์เชี่ยวชาญไวร์เลสจาวา เป็นความร่วมมือของซัน, ไอดีเอ และสถาบันวิจัยการสื่อสาร (ICR: Institute for communications Research) กระตุ้นให้เกิดการใช้แอพพลิเคชั่นและบริการไวร์เลส ศูนย์เชี่ยวชาญผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น เซอร์วิส (Application Service Provider Center) จากความร่วมมือระหว่างซัน ไอดีเอ และมหาวิทยาลัยนันยาง สนับสนุนให้เอเอสพี สามารถให้บริการใหม่ๆ รวดเร็วและต้นทุนต่ำ เป็นต้น

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 เมษายน 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.