รายงาน : 'ซีเมนส์' ปรับกลยุทธ์พึ่งวิศวกรแดนมังกร ออกแบบโทรศัพท์มือถือสายพันธุ์ใหม่
หลายปีที่ผ่านมา 'เยอรมนี' เป็นอีกประเทศหนึ่ง
ที่สูญเสียงานภาคการผลิตให้กับจีน และประเทศค่าแรงต่ำอื่นๆ
ในเอเชียและยุโรปตะวันออก ยกเว้นตำแหน่งงาน ด้านวิศวกรรม ที่เป็นหนึ่งในงานไม่กี่ประเภท
ที่ประเทศมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมแห่งนี้ สงวนไว้ในคนในชาติเป็นคนทำในทุกส่วนทั่วโลก
แต่ทุกวันนี้
งานด้านวิศวกรรมเริ่มไหลออกนอกประเทศ
'หากจีนสามารถผลิตอุปกรณ์ไฮเทคได้ในต้นทุนที่ต่ำ
นี่จะเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราต้องย้ายงานออกไปยังประเทศแห่งนี้' ไฮน์ริช ฟอน เพียเรอร์ หัวหน้าฝ่ายบริหาร หรือซีอีโอของบริษัทซีเมนส์ เอจี
ซึ่งประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า จะทุ่มเงินลงทุนราว 1,230 ล้านดอลลาร์ และจ้างวิศวกรชาวจีนเพิ่มอีก 1,000
คนในปีนี้ กล่าว
การตัดสินใจของซีเมนส์ หันมาอาศัยความรู้ด้านวิศวกรรมของชาติตะวันออกเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ของบริษัท
ซึ่งเชื่อมั่นในความเฉลียวฉลาดของวิศวกรชาวเยอรมันมากว่า 15 ปี อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า
การไหลของงานระดับบนไปยังตลาดค่าแรงต่ำที่เพิ่มขึ้น กำลังเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจทั่วโลก
และผู้ชนะ คือ 'จีน' ที่ไม่เพียงดึงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันไปจากชาติอุตสาหกรรมเท่านั้น
แต่ยังสร้างงานใหม่ขึ้นอีกนับพันตำแหน่ง
ตั้งศูนย์อาร์แอนด์ดีในจีน
เมื่อเดือนธันวาคม 2543 ซีเมนส์ ตัดสินใจตั้งศูนย์อาร์แอนด์ดีแห่งแรกนอกเยอรมนีในจีน
โดยมี โวล์ฟกัง เคลบช์ วิศวกรผู้มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาโทรศัพท์มือถือเป็นหัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของซีเมนส์ในจีน
ภายใน 6 เดือน เขาจ้างวิศวกรใหม่ 50 คน
ซึ่งเป็นชาวเมืองปักกิ่งทั้งหมด เพื่อพัฒนาเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง
และซอฟต์แวร์ 'ข้อได้เปรียบของจีน คือ ทุกสิ่งทุกอย่างเร็ว'
เคลบช์ ให้ความเห็น
ในเดือนเมษายน 2545 สำนักงานใหญ่ในเมืองมิวนิก
มอบหมายให้ทีมงานในจีน ออกแบบโทรศัพท์มือถือราคาถูกสำหรับขายในตลาดระดับล่างในตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออก
เพื่อผลิตโทรศัพท์ราคาไม่แพง วิศวกรชาวจีน ต้องถอดฮาร์ดแวร์อินเทอร์เน็ต และฟังก์ชันที่มีราคาแพงออก
ฤดูร้อนปีเดียวกันนั้น ซีเมนส์ ดึงหลี ถัว วิศวกรวัย 33 ปี
มาจากคู่แข่งฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ เอ็นวี
ที่เขาทำหน้าที่พัฒนาอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน, เครื่องโกนหนวด,
เครื่องปั่น และไดร์เป่าผม ที่ซีเมนส์ หลี
กลายเป็นผู้จัดการโครงการพัฒนาโทรศัพท์มือถือรูปลักษณ์ใหม่ และทีมของเขาก็ทำงานเสร็จภายใน
6 เดือน หรือเร็วกว่าเวลาที่วางไว้ครึ่งหนึ่ง
ตลาดใหญ่ธุรกิจมือถือ
ด้วยจำนวนโทรศัพท์ที่วางขายอยู่ในตลาดมากกว่า 500 รุ่น ทำให้ตลาดโทรศัพท์มือถือ'จีน'เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่มียอดขายมากที่สุดถึงปีละ
65 ล้านเครื่อง และมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดอีกด้วย ทั้งนี้
ยอดขายอุปกรณ์โทรคมนาคมของซีเมนส์ราวครึ่งหนึ่งของมูลค่ารวมทั้งหมด 4,930 ล้านดอลลาร์ มาจากการขายโทรศัพท์มือถือ แต่ในปี 2546 ส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์มือถือของซีเมนส์ลดลงจาก 10%
ในปี 2543 เหลือราว 5%
ผู้ผลิตจีนหน้าใหม่ เข้าสู่ตลาดและใช้การออกแบบที่หรูหราและราคาที่ถูกกว่า
ขโมยลูกค้าไปจากเจ้าตลาด ทั้งซีเมนส์, โนเกีย และโมโตโรล่า
ปัญหาหลักของซีเมนส์ คือ
ชาวจีนนิยมมือถือทรงฝาปิด ซึ่งยักษ์ใหญ่วงการวิศวกรรมสัญชาติเยอรมันแห่งนี้
ไม่เคยผลิตมาก่อน ดังนั้น ในฤดูใบไม้ผลิของปี 2546 รูดี้ แลมเพรชท์ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจไร้สายของซีเมนส์
ตัดสินใจมอบหมายให้ทีมงานในจีนพัฒนามือถือทรงฝาปิดรุ่นใหม่ เพื่อปิดช่องว่างในสายผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้เร็วที่สุด
และนายหลี ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการนี้
ซึ่งประกอบด้วยทีมวิศวกรชาวจีนราว 90 คน
พิเศษและแตกต่าง
แม้ว่า ความยุ่งยากทางเทคนิคจะเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับทีมงานในจีน
แต่ซีเมนส์ต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่พิเศษ และแตกต่างจากมือถือทรงฝาปิดของคู่แข่ง วิศวกรชาวจีน
ตัดสินใจเลือกพัฒนามือถือที่มาพร้อมกับเสาอากาศทรงเกือบม้ารูปตัวยู ซึ่งสามารถใช้เกี่ยวสายคล้องคอได้ด้วย
แต่เนื่องจาก ซีเมนส์ไม่เคยผลิตโทรศัพท์มือถือสไตล์นี้มาก่อน ดังนั้น ชิ้นส่วนทั้งหมด
จึงถูกออกแบบขึ้นมาด้วยความยากลำบาก ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ต้องการให้โทรศัพท์มี 2 หน้าจอ คือ จอด้านในสำหรับโชว์สมุดที่อยู่และเล่นเกม
ส่วนจอด้านนอกโชว์เวลา และชื่อคนโทรเข้า เมื่อปิดโทรศัพท์ ส่งผลให้สเปคทางเทคนิคของโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ยาวกว่า
100 หน้า
ประมาณกลางปีที่แล้ว นายหลี
และทีมงานต้องทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ เพื่อให้ทันกับกำหนดที่จวนตัวเข้ามา แต่ผลสุดท้ายพวกเขาสามารถผลิตโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ได้เสร็จทันฉลองการเปิดสำนักงานในเซี่ยงไฮ้ของซีเมนส์ครบรอบปีที่ 100
ได้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โทรศัพท์มือถือที่ว่านี้ มีชื่อว่า 'ลีโอพาร์ด' เป็นโทรศัพท์มือถือทรงฝาปิดสีเงิน
มาพร้อมกับแสงสีสมที่ฝังอยู่รอบกรอบฝาปิด และจะส่องแสงเป็นจังหวะตามโทรศัพท์เรียกเข้า,
ข้อความ และการตั้งปลุก ขณะที่ในส่วนแป้นพิมพ์ ก็ออกแบบให้ใช้ประกอบการแสดงแสงสีได้ด้วย
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม 2547
|