วิทยาศาสตร์ ... มีคำตอบ จริงหรือ
จุฑารัตน์
ทิพย์นำภา
50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพของชาติที่รอรับเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาตลอด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศต้องพัฒนาจากเศรษฐกิจที่มีระบบเกษตรกรรมเป็นพื้นฐาน ไปสู่ระบบเศรษฐกิจเกษตรกรรมที่เติบโตควบคู่ไปกับอุตสาหกรรม
วันนี้ประเทศไทยตกขบวนรถไฟสายเทคโนโลยีไอทีไปเรียบร้อยแล้ว โดยถูกมาเลเซียเพื่อนบ้านแซงหน้าไปเป็นฐานผลิตชิพและสินค้าไอทีระดับภูมิภาค
และอาจเชื่องช้ากว่า สิงคโปร์ที่ชักธงนำ "วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต"
(Life Science) ขึ้นเสาด้วยงบประมาณการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่
กล่าวกันว่า สิงคโปร์ทุ่มไม่อั้นเพื่อซื้อตัวนักวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพมาทำงานวิจัยบนเกาะแห่งนี้
ในอนาคต วิทยาศาสตร์จะช่วยให้ไทยก้าวนำด้านนวัตกรรมได้หรือไม่ อะไรคืออุปสรรค กร
ทัพพะรังสี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีคำตอบ ...
"ในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นเพียงแค่ประเทศผู้รับจ้างผลิตสินค้าเท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์
ยุคแห่งเศรษฐกิจการค้าเสรี ไม่มีกำแพงภาษีขวางกั้น ความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศจึงขึ้นอยู่กับทรัพย์สินทางปัญญา
ทั้งที่เป็นเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร นวัตกรรม" กร
ทัพพะรังสี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กล่าวให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ไซเทค" เขามองว่า นับจากนี้ไปประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างคนเพื่อสร้างนวัตกรรม และต้องเร่งนำเอาทรัพย์สินทางปัญญาจากการวิจัยและพัฒนา
ประดิษฐ์คิดค้น ออกมาสู่ระบบการผลิตให้มากที่สุด โดยรากฐานแล้วมีความจำเป็นต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการเรียนวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียน
นักศึกษา เพื่อผลิตคนที่สามารถสร้างนวัตกรรมเองได้ โดยสิ่งนี้จะเป็นตัวชี้อนาคตประเทศว่าจะสู้ต่างชาติได้หรือไม่
"ประเทศไทยอาจจะตื่นสายไปหน่อย
เมื่อดูจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียค่อนข้างก้าวหน้าจากเราไปไกล มองถึงประเทศญี่ปุ่นยิ่งไม่ต้องเทียบเลยเพราะว่าทิ้งขาด
ค่าแรงราคาถูก และวัตถุดิบจำนวนมากที่ประเทศไทยมี ก็ไม่สำคัญเทียบเท่ากับการมีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง"
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชี้ให้เห็นถึงจุดสะดุดล้มของไทย
นอกจากนี้ ถ้าดูจากจำนวนนักวิจัยผู้ที่จะสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นนั้น ยังอยู่ในอัตราส่วนที่ต่ำเพียงแค่
2.6 ต่อประชากร 10,000 คน ส่วนนักวิจัยในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้น
อัตราส่วนของนักวิจัยจะอยู่ที่ 70 ต่อ 10,000 คน ยังโชคดีอยู่ว่า ปัจจุบันหน่วยงานรัฐเริ่มตื่นตัวสร้างนักวิจัยและพัฒนาที่ผลิตงานในเชิงพาณิชย์สู่ตลาดมากขึ้น
รมว.วิทย์ กล่าวเสริมว่า รัฐบาลได้กำหนดแนวทางวิทยาศาสตร์ในประเทศให้อยู่บนทิศทางทั้ง
12 คลัสเตอร์ เพื่อวางแผนการเดินทางพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศให้ในแนวทางเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร เสื้อผ้าสำเร็จรูป นาโนเทคโนโลยี พลังงานแสงอาทิตย์ แม้ไทยจะไม่สามารถเก่งได้ทุกเรื่อง
แต่แนวทางที่จะเป็นส่วนส่งเสริมให้ไทยสามารถต่อสู้กับต่างชาติได้ "คลัสเตอร์ ในที่นี้หมายถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัย
หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งมหาวิทยาลัย ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดนวัตกรรมและสิทธิบัตรเป็นของเราเอง
โดยอาศัยวิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นส่วนสนับสนุนในลักษณะของวิทยาศาสตร์เอื้ออาทร"
กร กล่าว อย่างไรก็ดี เขาเห็นว่า ปัญหาที่จะต้องแก้ไขในลำดับต้นๆ น่าจะอยู่ที่ตัวนักวิทยาศาสตร์ไทย
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยมุ่งทำงานวิจัยศึกษาอยู่ในห้องแล็บ เสร็จแล้วงานวิจัยกลับอยู่บนหิ้งไม่ได้ดึงเอางานออกมาใช้
หรือบางครั้งที่นำออกมาแสดงก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับงานวิจัยชิ้นอื่น ซึ่งตอนนี้เรากำลังคิดหาวิธีแก้ไขในส่วนนี้อยู่"
ซ้ำร้ายเงินสนับสนุนการวิจัยของประเทศไทยยังย่ำอยู่ที่ร้อยละ 0.26 ของจีดีพี ขณะที่ในประเทศที่ก้าวหน้าแล้ว
ทุนสนับสนุนในด้านนี้มักเกินร้อยละ 1 ของจีดีพี ซึ่งรัฐมนตรีเผยว่ารัฐบาลพยายามที่จะเพิ่มงบประมาณสนับสนุนตรงนี้ให้มากขึ้น
โดยมุ่งไปที่การสร้างเยาวชนที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ ผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
เยาวชนที่มีแววอัจฉริยะจะได้รับการสนับสนุน ให้ทุนการศึกษา ส่งเสริมการเข้าค่ายวิทยาศาสตร์
พาไปดูงานวิทยาศาสตร์ที่ต่างประเทศ สิ่งสิ่งที่ทำอยู่นี้เริ่มมองเห็นชัดเจนมากขึ้น
หากลำดับตรรกะเพื่อแก้สมการให้กับความเชื่องช้าด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศแล้ว
เขาชี้ว่า เมื่อพัฒนาคนให้มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมากขึ้น มีจำนวนนักวิจัยเพิ่มขึ้น
นวัตกรรมที่เป็นของตนเองมากขึ้น ในที่สุดวิทยาศาสตร์ก็จะเข้ามาช่วยหาคำตอบในทุกเรื่อง "ในขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้เข้าไปทำงานแก้ปัญหาอยู่เบื้องหลังกระทรวงอื่นๆ
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน เมื่อกระทรวงพาณิชย์ไปเจรจาค้าขายสินค้าให้กับสหภาพยุโรป หรืออียู
เราจะต้องบอกรายละเอียดของสินค้าตามข้อบังคับของประเทศผู้สั่งสินค้าเข้า วิทยาศาสตร์จึงต้องใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบ
(Test Ability) เข้ามาช่วย เพื่อที่จะบอกให้ได้ว่าสินค้าเหล่านั้นมีที่มาอย่างไร
มีคุณภาพพอหรือไม่ที่จะส่งออกขายไปทั่วโลก" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
ลำดับที่สี่ของรัฐบาลที่มีพรรคไทยรักไทยเป็นแกนนำกล่าว นอกจากนี้
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังได้เข้าไปช่วยกระทรวงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิต รวมถึงผลิตสินค้ามีคุณภาพมาก
ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพเข้าไปช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น
หรือแม้แต่ปัญหาพลังงานที่ลดน้อยลงเทคโนโลยีก็มีส่วนดึงเอาพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านโซลาร์เซลล์เข้ามาใช้
พร้อมทั้งเป็นส่วนสนับสนุนทำชิพประกอบบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ให้กับกระทรวงมหาดไทยด้วย
"งานนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯไม่ใช่พระเอก แต่จะคอยอยู่เบื้องหลังเพื่อช่วยส่งข้อมูลทางเทคโนโลยีให้กับหน่วยงานที่ยังมีปัญหา
ในลักษณะของการหาคำตอบจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อส่งให้หน่วยงานเหล่านั้นได้ดำเนินการต่อไป"
ด้าน ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์
ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มองทิศทางของวิทยาศาสตร์ไทย ว่า
มีการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด ในยุคก่อนคนไทยทำได้เพียงบรรจุผลิตภัณฑ์ลงกล่องส่งขาย แต่มาถึงตอนนี้ไทยเริ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขึ้นเอง
และเริ่มเป็นที่ยอมรับในระดับสากล "นักวิจัยไทยสร้างงานที่เป็นประโยชน์ระดับชาติ
เยาวชนไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลโอลิมปิกระดับสากล แต่ที่ยังมองไม่เห็นถึงความก้าวหน้าเท่าที่ควรนั้นเป็นเพราะจำนวนคนของเรายังน้อยไป
เราต้องเริ่มสร้างบุคลากรในด้านนี้ให้มากขึ้น" อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(สวทช.) กล่าว ดร.ไพรัช บอกว่า ตอนนี้เราเดินมาถูกทางแล้ว พยายามกระตุ้นให้เส้นทางชีวิตของนักวิจัยมีสิ่งตอบแทนที่ดีขึ้น
เพื่อเปลี่ยนทัศนคติต่อนักวิทยาศาสตร์ พยายามกระตุ้นในเอกชนทำวิจัยพัฒนามากขึ้น หนุนยกเว้นภาษีให้กับนักวิจัย
ปูเส้นทางนักวิทยาศาสตร์ในประเทศให้ดีขึ้น
"เราต้องการสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์
ในทุกภูมิภาคของประเทศ สร้างมหาวิทยาลัยที่เป็นสากลในเมืองไทยมีมากขึ้น เพื่อเป็นรังให้นกที่บินออกไปยังต่างประเทศให้กลับคืนรัง
สร้างสนามให้กับเค้า กลับมาทำประโยชน์ให้กับประเทศ ในลักษณะของสมองไหลกลับ"
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม 2547
|