ซัมซุงเล็งขยายศักยภาพวิจัยพัฒนา
เร่งทำวิจัยเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
มุ่งลูกค้าพรีเมียม
ไทยซัมซุง เล็งขยายศักยภาพวิจัยและพัฒนาในไทย พร้อมเร่งทำผลวิจัยเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
มุ่งลูกค้าพรีเมียม ทั้งขยายโครงการเพื่อสังคมปีที่ 2
ครอบคลุมกลุ่มคนพิการ ด้วยงบ 18 ล้านบาททั่วภูมิภาคเอเชีย
นายแท บง ชอย กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยซัมซุง
อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเร่งขยายฐานวิจัยและพัฒนาด้านวิศวกรรมเพื่อการออกแบบในไทยเพิ่มขึ้น
มุ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีฐานการผลิตในไทย เน้นความแตกต่างจากคู่แข่ง ช่วยเลือกวัตถุดิบที่สวยแต่ประหยัดต้นทุนสินค้า
เพื่อให้ได้เปรียบในการแข่งขันเหนือคู่แข่ง ทั้งยังเพิ่มศักยภาพการผลิตในไทย
โดยใช้มาตรฐานชิ้นส่วนต่างๆ มาผลิตเป็นสินค้า ซึ่งมีข้อดีคือ ชิ้นส่วนหนึ่งๆ
อาจใช้ประกอบในสินค้าหลากหลายขึ้น ทำให้ประหยัดต้นทุนวัตถุดิบ เพราะสั่งซื้อชิ้นส่วนจำนวนมาก
ราคาวัตถุดิบก็ต่ำไปด้วย
ส่วนด้านการตลาด บริษัทจะเริ่มสำรวจความต้องการ
โดยใช้หลักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้รู้จักกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
เพื่อทำตลาดแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่ม (เซ็กเมนเตชั่น) โดยเฉพาะลูกค้าพรีเมียม
"การมุ่งลูกค้าเจาะจง จะทำให้บริษัทสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งขันมากขึ้น
จากที่ผ่านมาบริษัทเน้นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งได้ผลระดับหนึ่งแล้ว โดยจะสอดคล้องกับการที่ไทยเป็น
1 ใน 6 ตลาดหลักของซัมซุงทั่วโลก"
กรรมการผู้จัดการ กล่าว
ด้านนายณัฐกิตต์ ตั้งพูลสินธนา ผู้จัดการทั่วไป
ฝ่ายการตลาด บริษัทเดียวกัน กล่าวว่า ครึ่งปีหลัง
บริษัทจะเปิดตัวจอภาพคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ ที่ออกแบบหลากหลายขึ้น
นอกจากเครื่องพิมพ์เลเซอร์ที่นำมาทำตลาดแล้ว โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากสินค้าไอทียังมีเพียง
10% และสินค้าโทรคมนาคม 40% และเครื่องใช้ไฟฟ้า 50% จากรายได้รวมปีนี้คาดว่า 38,000
ล้านบาทโตจากปีที่แล้ว 50%
18 ล้านลดช่องว่างดิจิทัล
ขณะเดียวกัน
บริษัทแม่ได้มอบทุนสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสังคม ในโครงการ"ซัมซุง
ดิจิต-ออล โฮป 2004" ในภูมิภาคเอเชีย
ด้วยงบประมาณกว่า 18 ล้านบาท หรือ 450,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเปิดตัวในไทยเป็นแห่งแรก จาก 7
ประเทศ "ปีนี้เป็นปีที่
2 ของโครงการ ซึ่งขยายขอบเขตเป็นโครงการที่ช่วยผู้พิการที่คาดว่าภูมิภาคนี้จะมีกว่า
400 ล้านคน โดยเปิดให้เสนอโครงการอิสระไม่จำกัดรูปแบบกับองค์กร
หรือหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไร และมีความคิดสร้างสรรค์ นำเทคโนโลยีไปใช้งานและอยู่ได้อย่างยั่งยืน"
กรรมการผู้จัดการ กล่าว แนวคิดปีนี้ คือ "ไลฟ์
ยัวร์ ดรีม หรือสร้างฝันให้เป็นจริง" ผลักดันให้องค์กร หรือคนในท้องถิ่นสร้างกิจกรรมที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มคุณภาพชีวิต
จากปีที่แล้วมี 3 โครงการจากไทยได้รับทุน คือ เรดิโอ ออน เวบ
ของสำนักงานข่าวเด็กและเยาวชน, โครงการอี-เลิร์นนิ่ง เพื่อสุขภาพเยาวชนของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ในกำกับดูแลสถาบันเด็ก
มูลนิธิเด็ก และโครงการไอทีพีซี เน็ตเดย์ ของมูลนิธิอินเทอร์เน็ตเพื่อโรงเรียนและชุมชน
เกิดกทช.อุดช่องว่าง
ด้านนายไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
หนึ่งในคณะกรรมการโครงการ กล่าวว่า แนวโน้มการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดช่องว่างดิจิทัล
ยังมุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานการเข้าถึงข้อมูลและการพัฒนาเนื้อหา ที่สำคัญโครงการต่างๆ
จำเป็นต้องสร้างรายได้ หรือมีแนวทางเลี้ยงตัวเองได้ "หากรัฐเร่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
หรือกทช. จะช่วยให้สถานะของช่องว่างดิจิทัลในไทยดีขึ้น เพราะเป็นหน้าที่หลักประการหนึ่งของหน่วยงานด้านกำกับดูแลโทรคมนาคม"
นายไพรัช กล่าว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 มิถุนายน
2547
|