"สามมิตร" ชูไอทีเพิ่มผลผลิตชิ้นส่วน

 

ปีนี้ได้เริ่มจัดขอบเขตงานไอทีใหม่ เน้นรวมศูนย์ระบบคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน แทนการใช้งานพีซี แบบสแตนอะโลน แม้ 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเริ่มใช้ระบบอินทราเน็ต แต่ยังไม่ใช้ประโยชน์เต็มที่ และปีนี้เริ่มงานวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้งานไอทีด้วย" .. สมรมาศ โพธิ์ศิริสุข ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท สามมิตรมอเตอร์สแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด กล่าวถึง งานใหม่ในความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลตั้งแต่ต้นปีมา

 

กลุ่มสามมิตรมอเตอร์ ในปัจจุบันเป็นผู้ผลิตแม่พิมพ์ ตลอดจนการรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) ชิ้นส่วนให้แก่บริษัทรถยนต์หลายแห่ง ราว 20-30% นอกนั้นเป็นตราสัญลักษณ์ "SMM" ของบริษัทเอง ขณะเดียวกัน บริษัทยังเน้นหลังคาเหล็ก และแหนบซึ่งทำรายได้ 60% ของยอดขายทั้งหมด โดยกลุ่มสามมิตรมอเตอร์ เริ่มธุรกิจจากห้างหุ้นส่วน สามมิตรมอเตอร์ จำกัด เมื่อปี 2502 เป็นโรงงานผลิตแหนบรถยนต์แห่งแรกในประเทศไทย และ 2 ปีถัดจากนั้น ได้เปลี่ยนสถานะบริษัท สามมิตรมอเตอร์ จำกัด และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และรถบรรทุก ทั้งได้รับส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้ผลิตแหนบรถยนต์ที่ทันสมัย และในการผลิตไฮดรอลิค จนได้เซ็นสัญญาความร่วมมือด้านเทคนิคกับบริษัท ชินเมวา อินดัสตรี้ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2524 ถือเป็นปีแรกที่ร่วมลงทุนกับกลุ่มธุรกิจต่างชาติ

 

ทั้งนี้ การเติบโตของกลุ่มสามมิตรมอเตอร์ มีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการรับอนุมัติจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้เป็นผู้ประกอบรถดัดแปลง และเซ็นสัญญาร่วมมือด้านการออกแบบแม่พิมพ์กับบริษัท โตโยต้า ออโต้บอดี้ ประเทศญี่ปุ่น และการผลิตรถบรรทุกเฉพาะกิจแบบต่างๆ รวมทั้งขยายกำลังการผลิตชิ้นส่วนขึ้นอีก 3 สายการผลิต และติดตั้งเครื่องปั๊มชิ้นส่วนขนาด 2,000 ตัน รวมทั้งการขยายธุรกิจสู่ประเทศจีน ในปี 2535 โดยก่อตั้งบริษัทร่วมทุน 6 บริษัท ปัจจุบันกลุ่มสามมิตรมอเตอร์ มีลูกค้าอยู่ในทุกทวีปทั่วโลก สำหรับธุรกิจของกลุ่มแบ่งออกเป็น 4 สายหลัก ได้แก่

1. สายธุรกิจรถเล็ก ประกอบด้วย การผลิตแม่พิมพ์, จิ๊กประกอบและจิ๊กตรวจสอบ, ชิ้นส่วนรถยนต์, หลังคาเหล็กและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถกระบะ

2. สายธุรกิจรถบรรทุกและรถพิเศษ ประกอบด้วย การผลิตรถดั๊มพ์และรถพ่วงประเภทต่างๆ, รถพ่วงเคลื่อนที่ และรถพิเศษตามการใช้งานของลูกค้า อาทิ รถเต้าปูนแฝด, รถคอนเทนเนอร์, รถอัดขยะ เป็นต้น

3. สายธุรกิจอุปกรณ์และอะไหล่ ประกอบด้วย การผลิตแหนบ, ไฮดรอลิค, เพลา, เกียร์ปั๊ม และอุปกรณ์อะไหล่อื่นๆ

4. สายธุรกิจอุปกรณ์ส่วนควบ และรถเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย รถเพื่อการเกษตรและอุปกรณ์ส่วนควบเพื่อการเกษตร

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ทุกสายการผลิตผ่านระบบการตรวจสอบคุณภาพ จนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เห็นได้จากการรับรองมาตรฐานไอเอสโอ 9002 ตั้งแต่ปี 2537 และไอเอสโอ 9001 ในปี 2538 เนื่องจากมีการวิจัยและพัฒนา ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง และคาดว่าจะได้รับการรับรองมาตรฐานไอเอสโอ 14001 และไอเอสโอ ทีเอ 16949 ในปลายปีนี้

 

คอมพ์กับอุตสาหกรรมรถยนต์

กลุ่มสามมิตรมอเตอร์ นำมินิคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็ม เอเอส/400 เข้ามาใช้งานด้านการบริหารการผลิตและการขายตั้งแต่ปี 2534 และใช้ระบบเอ็มอาร์พี โดยเทคโนโลยีที่ใช้จะต้องเข้ากันได้กับเทคโนโลยีของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เพราะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน จึงเป็นธุรกิจต่อเนื่องถึงกันหมด โดยปัจจุบันเพื่อความยืดหยุ่นเข้ากับสภาพการณ์ จึงปรับเปลี่ยนฮาร์ดแวร์เป็นไอบีเอ็ม ริสก์/6000 ส่วนโอเอสยังเป็นเอไอเอ็กซ์ ทั้ง 6 ปีก่อนได้วางโครงข่ายหลักทั่วองค์กรเป็นไฟเบอร์ ออพติก และปีที่ผ่านมา ได้ลงทุนติดตั้งซอฟต์แวร์ของออราเคิล ประกอบด้วย ออราเคิล 8ไอ, อี-บิสซิเนส สวีต 11 ไอ และไฟแนนเชียลส์ เพื่อทำงานด้านระบบบัญชีต่างๆ ครอบคลุม จีแอล, เออาร์,เอพี, ซีเอ็ม (cash management) เพื่อรองรับการบริหารสินทรัพย์, ลูกหนี้, เจ้าหนี้, บริหารเงิน และทำรายงานเสนอผู้บริหาร นอกจากนี้ ยังมีแผนจะติดตั้งออราเคิล ดิสทริบิวชั่น และแมนูแฟคเจอริ่งในเฟสที่ 2 โดยตั้งแต่กลางปีนี้จะเริ่มตั้งทีมงานศึกษารายละเอียด ซึ่งงานขาย การตลาด จัดซื้อ คลังสินค้าจะต้องรวมเข้าหากัน ด้วยงบประมาณ 10 ล้านบาท ส่วนงานออกแบบมีเครื่องมือ และโปรแกรมแคด/แคม ที่ทางกลุ่มเน้นออกแบบเอง ตามนโยบายของประธานบริษัทนั้น มีเครื่องจักร (เอ็นซี แมชชีน) เองกว่า 10 เครื่อง

 

มองตลาดอนาคต

ทั้งนี้ การลงทุนด้านไอทีของกลุ่มไม่ได้มีงบประมาณตั้งไว้อย่างชัดเจน แต่จะขยายตามความจำเป็น อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนการขยายงานด้านไอทีนั้น ได้มองถึงการจะทำธุรกิจกับคู่ค้าระดับนานาประเทศ เห็นจากการลงทุนด้านออราเคิล 11ไอ ที่เป็นซอฟต์แวร์รองรับการทำงานบนเวบ เนื่องจากบริษัทวางแผนจะทำอี-คอมเมิร์ซทั้งบี2บี และบี2ซีในอนาคต ซึ่งจะเป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ควบคู่ไปกับลูกค้า

โดยที่ผ่านมา กลุ่มสามมิตรได้รับผลกระทบรุนแรง จากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา รายได้ของกลุ่มลดลงอย่างมาก จากที่เคยทำยอดขายราวปีละ 4,500 ล้านบาท เหลือ 1,000 ล้านบาทต่อปี บริษัทต้องพยายามลดค่าใช้จ่ายทุกส่วน เพื่อประคองธุรกิจ หากแต่ยังคงลงทุนด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงาน "แม้ยอดขายจะลดลงมากแต่เรายังลงทุนเรื่องเทคโนโลยี เพราะคิดว่าประเทศไทยยังไปได้ ถ้าไม่พัฒนาตัวเองตอนที่งานยังน้อย อีกหน่อยงานเข้ามามากเราจะไม่มีเวลาพัฒนาตัวเองอีก แล้วจะทำอะไรไม่ทันเลย เป็นการปรับองค์กรให้พร้อมเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น เราไม่ประมาทตรงนี้ เพราะเรายังมีวันข้างหน้าอีก" ..สมรมาศกล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 2 พฤษภาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.