บรอดแบนด์ "rising star" และเวทีแข่งดุของยักษ์สื่อสาร

แม้ว่าสมรภูมิการแข่งขันในธุรกิจบรอดแบนด์ ณ วันนี้จะเห็นผู้เล่นที่มีบทบาทชัดเจนแค่เพียงรายเดียว คือ กลุ่มทรูฯ จนสามารถยึดครองสถานะเจ้าตลาดที่มีมาร์เก็ตมากถึงกว่า 90% เอาไว้ได้ แต่เชื่อว่าอีกไม่ช้าไม่นานการแข่งขันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะบรอดแบนด์มาแรงมากในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะเกาหลี และสำหรับเมืองไทยคือคลื่นลูกใหม่ที่มีอนาคตสดใสมากทีเดียว

โดยยักษ์ใหญ่ในธุรกิจเทเลคอมบ้านเราต่างมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่รออยู่เบื้องหน้า และคิดที่จะย่างเท้าเข้าสู่ธุรกิจนี้ด้วยกันทั้งนั้น ที่ประกาศชัดเจนแล้ว ได้แก่ กลุ่มชินคอร์ป โดย "บุญคลี ปลั่งศิริ" แม่ทัพใหญ่ของกลุ่มชิน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" เมื่อไม่นานมานี้ว่า ภายในเดือน พ..ปีนี้ได้เห็นแน่

ความน่าสนใจของเกมรุกรอบใหม่ของชินคอร์ปอยู่ตรงที่เป็นการต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจของบริษัทในกลุ่มชินเข้าด้วยกันในแบบที่เรียกว่า การ synergy อย่างเต็มรูปแบบ คล้ายคลึงกับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของกลุ่มทรูที่กำลังดำเนินการอยู่นั่นเอง เนื่องจากต้องอาศัยการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดของหลายบริษัทในเครือชินคอร์ป โดยต้องมีเจ้าภาพที่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ยังมองไม่เห็น ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนเข้าสู่ธุรกิจใหม่ร่วมกันให้ได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ หากกลุ่มชินสามารถที่จะทำราคาค่าบริการได้ต่ำกว่า 500 บาท ที่ความเร็วถึง 2 Mbps ตามที่บุญคลีว่าไว้ได้จริงๆ ด้วยแล้วล่ะก็ น่าเชื่อว่าการรุกคืบของเบอร์ 1 ในสังเวียนเทเลคอมไทยจะสร้างความตื่นเต้นให้ธุรกิจบรอดแบนด์อย่างมาก ทั้งยังเป็นการคอนเฟิร์มความคิด-ความเชื่อที่ว่า ธุรกิจบรอดแบนด์คือคลื่นลูกใหม่ที่มีโอกาสกลายเป็น rising star หรือธุรกิจดาวรุ่งในอนาคตเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่อีกด้วย

แต่ไม่ใช่เฉพาะเทเลคอมโอเปอเรเตอร์เท่านั้นที่สนใจธุรกิจนี้ ฟากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งผู้ที่ให้บริการผ่านสายทองแดงธรรมดา และเน็ตความเร็วสูง (เอดีเอสแอล) ก็คิดคล้ายคลึงกัน ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่ได้เปรียบมากกว่าหนีไม่พ้นคนที่มีเน็ตเวิร์กพร้อมมากกว่าอย่างกลุ่มทรู, ชินคอร์ป หรือแม้แต่กลุ่ม ยูคอม พูดง่ายๆ ก็คือ บรรดายักษ์ใหญ่ในวงการเทเลคอมทั้งหลาย รวมทั้ง ทศทฯด้วย

แต่ถ้าถามว่าใครได้เปรียบที่สุด คำตอบคือ กลุ่มทรู เพราะมีเครือข่ายไฟเบอร์ออปติกต่อตรงถึงบ้านคนกรุงเทพฯอยู่แล้ว ต่างจากกลุ่มชินและยูคอมที่ต้องอาศัยข่ายสายของบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในการเข้าถึงบ้านลูกค้า ซึ่งในบางพื้นที่น่าจะมีปัญหาในการให้บริการบ้าง เพราะเป็นข่ายสายทองแดงใช้มานานนับสิบปีแล้ว อย่างไรก็ตาม นี่ยังเป็นแค่การเริ่มต้น กลุ่ม "ทรู" จึงน่าที่จะเป็นต่อในยกแรก ทั้งจากความพร้อมของเน็ตเวิร์ก และในฐานะผู้เล่นรายแรก โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้ามากกว่า 8 หมื่นราย และมั่นใจว่าภายในสิ้นปีจำนวนลูกค้าจะขยับไปถึง 1.5 แสนรายได้ไม่ยากเย็นจนเกินไปนัก ด้วยอัตราค่าบริการที่ว่ากันว่าถูกที่สุดใน (โลก) ขณะนี้ (ทรูอ้างว่าที่เกาหลีซึ่งรัฐบาลอุดหนุนเต็มตัวยังคิดค่าบริการกว่า 600 บาท) และดูเหมือนกลุ่มทรูจะรู้ว่าสถานะของการเป็นผู้เล่นรายแรกที่ไร้ซึ่งคู่แข่งคงเหลืออีกไม่มาก จึงเร่งมือขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการลง ทุนบรอดแบนด์แบบไร้สาย (ไว-ไฟ) ในย่านชุมชน และพื้นที่สาธารณะเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า

"ศุภชัย เจียรวนนท์" บิ๊กบอสกลุ่มทรูยอมรับว่า ธุรกิจบรอดแบนด์ได้กลายเป็นแหล่งรายได้ใหม่ หรือ rising star ของกลุ่มทรูไปแล้ว ทั้งมั่นใจด้วยว่า ราคาค่าบริการในขณะนี้เป็นราคาที่สมเหตุสมผลที่สุดแล้ว และราคาจะปรับตัวสูงขึ้นตามความเร็ว (สปีด) ที่เพิ่มขึ้น เว้นแต่ผู้ให้บริการจะมีรายได้จากคอนเทนต์เข้ามาเสริม ทำให้บริการบรอดแบนด์ถูกลงได้อีก โดยคอนเทนต์ด้านความบันเทิงมีโอกาสทำเงินมากที่สุดด้วย และคอนเทนต์อีกเช่นกันที่จะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับผู้ให้บริการบรอดแบนด์และมือถือ ซึ่งก็คงไม่ต้องบอกว่า ทำไมกลุ่มทรูจึงตัดสินใจเข้าไปลงทุนในธุรกิจเกมออนไลน์กับบริษัทเกมชื่อดังระดับโลกจากเกาหลีนามเอ็นซีซอฟต์ รวมถึงเอสเค เทเลคอม ในการพัฒนาคอนเทนต์บนมือถือ

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 กันยายน 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.