สภาพัฒน์เร่งกู้วิกฤตอุตฯชิ้นส่วน แนะค่ายรถทำปิกอัพหลากประเภท
"สภาพัฒน์" หนุนรัฐแก้กฎขยายการใช้งานรถปิกอัพให้มีความหลากหลายมากขึ้น
ชี้ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการดัดแปลงและต่อเติมตัวถังแน่นอน ลั่นเป้า 1 ล้านคันทำได้แน่ แต่อยากให้รัฐบาลสนับสนุน โดยเฉพาะ "เอสเอ็มอี"
ผู้สื่อข่าว
"ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2546 ที่ผ่านมา
ทางสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยได้จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีขึ้น โดยมีไฮไลต์ของงานอยู่ที่การบรรยายเรื่อง
"ไทยจะเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียได้อย่างไร ? ในทรรศนะของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" ซึ่งนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้กล่าวถึงแนวทางในการผลักดันประเทศไทยให้เป็นฐานการผลิตยานยนต์แห่งภูมิภาค
รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมดังกล่าว ว่าจะต้องดำเนินการตามแผนงานหลัก 3
ส่วน ประกอบด้วย การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์
การพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม
โดยจะต้องมีการวางนโยบายแบ่งหน้า ที่ระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างชัดเจน
ซึ่งแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ นั้นควรขยายการใช้งานรถปิกอัพ
ให้มีความสามารถในการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น โดยภาครัฐต้องทำการปรับกฎหมายให้นำรถบรรทุกมาใช้งานได้อย่างกว้างขวาง
โดยอาจจะนำมาเป็นรถโดยสารและรถบรรทุกได้เพิ่มเติม นอกจากนี้อาจจะต้องมีการปรับมาตรฐานรถบรรทุกให้มีมาตรฐานที่ยืดหยุ่นมากขึ้นจากเดิม
ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการดัดแปลงรถและตัวถังรถยนต์อีกต่างหาก
"ปัจจุบัน เรามีกฎหมายที่ส่งเสริมการพัฒนารถปิกอัพมาเป็นรถที่เรียกว่าพีพีวี
ซึ่งมีสาระสำคัญว่าจะต้องใช้ฐานล้อและโครงสร้างพื้นฐานจากรถที่จำหน่ายอยู่ในประเทศ
แต่ผู้ผลิตก็มีการเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดกว้างโดยเฉพาะฐานล้อและระบบช่วงล่างที่เรายังกำหนดให้เป็นแหนบ
ในขณะที่ต่างชาติเขาไปถึงคอยล์สปริงแล้ว จะทำให้การพัฒนาไปแข่งในตลาดโลกทำได้ลำบาก
ซึ่งตรงนี้คงต้องมีการแก้ไข เพราะจะส่งผลดีต่อโครงการขนาดใหญ่ของผู้ผลิตยานยนต์ในประเทศหลายราย"
ภายหลังจากการบรรยาย นายจักรมณฑ์ให้สัมภาษณ์ต่อว่า เป้าหมายของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มองว่าจะมีการผลิตรถยนต์ถึง
1 ล้านคันในปี 2549 นั้น
เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการเป็นคนคาดการณ์ แต่หากรัฐยื่นมือเข้ามาช่วย
ทุกอย่างก็จะไปได้อย่างรวดเร็วกว่านี้ ซึ่งตนมองว่ารัฐจะต้องเข้ามาช่วยเหลือในส่วนของผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อย
หรือเอสเอ็มอีอย่างเร่งด่วน ซึ่งโครงการศูนย์ทดสอบที่ภาครัฐมีความคิดที่จะทำก็จะช่วยเหลือได้ในระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ก็คงต้องลงมาดูแลในเรื่องของโนว์ฮาวและมาตรการเรื่องอื่นๆ
อย่างเรื่องภาษี เป็นต้น
นอกจากนี้ต้องไม่ลืมว่า การที่เราจะก้าวขึ้นเป็นดีทรอยต์ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์เป็นหลัก
ยอดผลิต 1 ล้านคันไม่ใช่ตัวแปรหลัก แต่อยู่ที่มูลค่าเพิ่มที่มาจากผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุตสาหกรรมดัดแปลงตัวถังที่เชื่อว่าทุกฝ่ายวางแผนกันมาอย่างดีแล้ว
"เรามองว่าตอนนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาห กรรมยานยนต์วางแผนกันมาถูกทางแล้ว
จึงไม่น่าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่จะมาส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมตรงนี้
ไม่ว่าจะเรื่องภาษีหรือเรื่องอื่นๆ แต่ผมเชื่อว่าทุกอย่างคงต้องมาคุยกัน ถ้ามาคุยกันแล้วปัญหาก็น่าจะแก้ไขไปได้ด้วยดี"
สำหรับแนวโน้มในอนาคตอันใกล้คงต้องหันมาปรับจุดเน้นในเรื่องของโปรดักส์ที่มีการผลิตในประเทศ
โดยที่ผ่านมาจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเราเน้นไปที่รถปิกอัพเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนทำให้ยอดขายเติบโตอย่างมาก
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 24 มีนาคม 2546
|