"ไอซีที" ชูไทยฮับธุรกิจ "เอาต์ซอร์ซ" ร่อนหนังสือดึง 10บ.ข้ามชาติลงทุน
"ไอซีที" เดินหน้าชูไทยเป็นฐานธุรกิจ
"เอาต์ซอร์ซ" ของภูมิภาคเอเชีย
เตรียมจัดตั้ง "คณะกรรมการเอาต์ซอร์ซแห่งชาติ"
ปลาย ก.พ.นี้หวังดึงบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนตั้งคอลเซ็นเตอร์ในไทย
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
หรือไอซีที เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงไอซีทีมีนโยบายที่จะสนับสนุนธุรกิจด้านเอาต์ซอร์ซเชิงธุรกิจ
(business process outsource : BPO) ให้เติบโตมากขึ้นในประเทศไทย ล่าสุดกระทรวงไอซีทีได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ
ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, กระทรวงแรง
งาน, สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ, บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ตลอดจนภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจในด้านดังกล่าว เช่น บริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น
จำกัด (มหาชน)
โดยที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันว่า หากต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเอาต์ซอร์ซเพื่อดึงบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยนั้น
รัฐบาลจะต้องดำเนินการสนับสนุนใน 4 ด้านหลักได้แก่
1.โครงข่ายสื่อสาร เนื่องจากขณะนี้ราคาค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศสำหรับภาคธุรกิจยังมีราคาสูงมากกว่าประเทศอื่น
เช่น สิงคโปร์หรือมาเลเซียถึง 3 เท่า
ส่งผลให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ โดยเรื่องดังกล่าวได้มอบหมายให้ทั้ง
ทศทฯ และ กสทฯศึกษาถึงแนวทางที่จะปรับลดราคาให้สามารถแข่งขันได้
2.แรงจูงใจในด้านภาษี ซึ่งไอซีทีได้ขอความร่วมมือให้บีโอไอศึกษาว่าจะสามารถมีข้อยกเว้นพิเศษทางภาษีให้แก่ธุรกิจดังกล่าวอย่างไรได้บ้าง
รวมทั้งขอความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการลดระยะเวลาของกระบวนการในการนำเข้าแรงงานจากต่างชาติ
3.การเร่งพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้แก่ประชาชน
4.การจัดตั้งประชาสัมพันธ์และโปรโมตเพื่อกระตุ้นให้บริษัทข้ามชาติสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศ
โดยกระทรวงไอซีทีได้เตรียมจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์บีพีโอแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ
โดยจะมีการหาข้อสรุปทั้ง 4 ด้านภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้
และมีแผนที่จะส่งจดหมายไปยังบริษัทข้ามชาติกว่า 10 บริษัทที่มีโครงการลงทุนระบบคอลเซ็นเตอร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกภายในไตรมาสที่ 2 นี้เพื่อเชิญชวนให้มาลงทุนในประเทศไทย
ทั้งนี้ คาดว่าตลาดบีพีโอจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าตลาดรวมทั่วโลกจะมีมูลค่ากว่า 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากประเทศไทยมีแผนชัดเจนในการสนับสนุนธุรกิจดังกล่าวเชื่อว่าประเทศไทยจะมีส่วนแบ่งในตลาดดังกล่าวราว
10% ภายในปี 2550 และทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจเอาต์ซอร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547
|