โอเปร่าเผยโฉมเบราเซอร์สั่งงานด้วยเสียง
เชื่อเปิดทางผู้พิการเข้าใช้บริการอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น
โอเปร่า จับมือยักษ์ใหญ่ไอบีเอ็ม
ส่งเบราเซอร์เวอร์ชันใหม่ เขย่าวงการอินเทอร์เน็ต ชูคุณสมบัติเด่น
ช่วยให้ผู้ใช้พูดคุยกับคอมพิวเตอร์ได้ พร้อมออกคำสั่งท่องเวบด้วยเสียง
ขณะชี้อุปสรรค ยังรับฟังคำสั่งเสียงผิดพลาด เล็งเปิดตัวเวอร์ชันระบบปฏิบัติการวินโดว์สอันดับแรก
ก่อนขยายเจาะกลุ่มอุปกรณ์เคลื่อนที่
สำนักข่าวเอพี รายงานว่า บริษัทโอเปร่า
ซอฟต์แวร์ ได้พัฒนาโปรแกรมท่องอินเทอร์เน็ตเวอร์ชันใหม่ โดยการผนวกเทคโนโลยี "เวียวอยซ์"
(ViaVoice) ของบริษัทไอบีเอ็มลงไป เพื่อช่วยให้คอมพิวเตอร์ มีความสามารถในการพูดคุยกับผู้ใช้ได้
รวมทั้งรับฟังคำสั่งเสียงได้
นายคริสเทน ครอฟ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาซอฟต์แวร์
ของโอเปร่า เปิดเผยว่า ขณะนี้ เทคโนโลยีดังกล่าว ยังคงอยู่ในระยะพัฒนา และไม่สามารถระบุได้ว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้เมื่อใด "เรารู้สึกว่า
เรากำลังอยู่ในช่วงที่อินเทอร์เน็ต กำลังจะเปลี่ยนโฉมไปเล็กน้อย และเสียง
ก็เป็นวิธีสื่อสารที่เป็นธรรมชาติที่สุด และมีประสิทธิภาพที่สุด ในอนาคตข้างหน้า
โปรแกรมตัวนี้จะช่วยให้มนุษย์สื่อสารกับเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้นมาก" นายครอฟ กล่าว พร้อมอธิบายว่า ผู้ใช้จะต้องอ่านคำที่กำหนดให้
ผ่านทางไมโครโฟน เพื่อให้คอมพิวเตอร์ สามารถจดจำสำเนียง และน้ำเสียงได้ โดยในการสาธิตการทำงานของโปรแกรมครั้งแรก
ซอฟต์แวร์สามารถพูดคุยด้วยบทสนทนาง่ายๆ ได้ อาทิ "สวัสดี
ฉันคือเบราเซอร์ของคุณ ฉันจะช่วยอะไรคุณได้บ้าง" รวมทั้งยังสามารถดัดแปลงข้อความให้เหมาะสมกับผู้ใช้แต่ละรายได้
เช่น การทักทายโดยเรียกชื่อผู้ใช้โดยตรง
นอกจากนี้ เมื่อผู้ใช้กล่าวว่า "สั่งพิซซ่า"
เบราเซอร์รุ่นใหม่ จะสามารถเรียกใบสั่งพิซซ่า
ขึ้นมาปรากฏบนหน้าจอได้ทันที อย่างไรก็ตาม ซอฟต์แวร์เวอร์ชันสาธิต
ยังคงไม่สามารถสนทนาได้อย่างเป็นธรรมชาตินัก โดยผู้ใช้จะต้องฟังคำถามของคอมพิวเตอร์
และคอยให้มีสัญญาณดังขึ้นก่อน จึงจะสามารถตอบกลับไปได้
คล้ายกับการสนทนาผ่านวิทยุสื่อสารระดับล่าง ขณะที่ โปรแกรมดังกล่าว
ยังคงรับฟังคำสั่งบางคำผิดพลาดอยู่ โดยโปรแกรมเข้าใจว่าผู้ใช้ต้องการสั่งพิซซ่าถึง
8 ชิ้น แทนที่จะเป็นชิ้นเดียว "การออกคำสั่งด้วยเสียง
ถูกมองว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ แต่ก็ยังคงเป็นวิธีที่มีอุปสรรคเสมอ"
นายครอฟ กล่าว พร้อมเผยว่า โปรแกรมจะตอบสนองต่อคำสั่งง่ายๆ เช่น
หากผู้ใช้สั่งว่า "เอพี" เครื่องจะเชื่อมต่อไปยังหน้าเวบของสำนักข่าวเอพี
นายครอฟ บอกด้วยว่า การผนวกเทคโนโลยีเสียงของไอบีเอ็ม ลงไปในเบราเซอร์โอเปร่า ช่วยให้โปรแกรมท่องอินเทอร์เน็ตเข้าใจคำสั่งของผู้พูด
และสามารถแปลเป็นรหัสสำหรับอินเทอร์เน็ตได้ คุณสมบัติดังกล่าว จะช่วยให้ผู้บริโภค ที่ไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้มาก่อน
สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายได้ อาทิ ผู้พิการที่ไม่สามารถใช้แป้นพิมพ์ได้
ซอฟต์แวร์โอเปร่า
จัดเป็นเบราเซอร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แม้ว่าปัจจุบัน
จะยังคงมีผู้ใช้งานโปรแกรมดังกล่าวเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับอินเทอร์เน็ต
เอ็กซ์พลอเรอร์ (Internet Explorer) และเนทสเคป
(Netscape) แต่เบราเซอร์โอเปร่า เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น
ในกลุ่มอุปกรณ์พกพา เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ และพีดีเอ
เนื่องจากสามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว และมีต้นทุนต่ำ "เทคโนโลยีตัวใหม่ จะช่วยให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาต่างๆ บนเวบได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น
เริ่มจากการสื่อสารกับพีซี และในอนาคตอันใกล้ ก็จะเป็นอุปกรณ์พกพาต่างๆ เช่น
มือถือ หรือพีดีเอ" นายอิกอร์ จาโบลคอฟ ผู้อำนวยการฝ่ายเอ็มเบดเด็ด
สปีชบริษัทเดียวกัน กล่าว ทั้งนี้ ทางโอเปร่า วางแผนเปิดตัวโปรแกรมเบราเซอร์เสียง สำหรับระบบปฏิบัติการวินโดว์ส
เวอร์ชันภาษาอังกฤษ เป็นอันดับแรก จากนั้นจึงจะเปิดตัวเวอร์ชันสำหรับระบบปฏิบัติการอื่นๆ
รวมทั้ง ลินิกซ์ และซิมเบียนด้วย
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 25 มีนาคม 2547
|