ม.บูรพา-มอ.นำร่องใช้งานโอเพ่นซอร์ส
สองสถาบันการศึกษา
หนุนส่งเสริมการใช้งานโอเพ่นซอร์สเต็มพิกัด ม.บูรพา
ชูโครงการ "ลีนุกซ์บูรพา" นำร่องสนับสนุนนักศึกษาพัฒนาโปรแกรมบนโอเพ่นซอร์ส
เตรียมเปิดตัว 3 แอพพลิเคชั่นไตรมาสแรกปีหน้า ขณะที่มอ.เตรียมเปิดห้องแล็บโอเพ่นซอร์ส หนุนประยุกต์ใช้งานโอเพ่นซอร์สด้านต่างๆ
นายเสรี ชิโนดม ผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์
มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยได้มีการแทรกการสอนวิชาที่เกี่ยวกับลีนุกซ์
เข้าไปในหลักสูตรและในรายวิชาบังคับ รวมทั้งมีนโยบายสนับสนุนให้นักศึกษาพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนลีนุกซ์
สำหรับใช้กับโครงการขอจบการศึกษา โดยได้รับการตอบรับของนักศึกษาส่วนใหญ่ เพราะมองว่าสามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนลีนุกซ์
ได้ง่ายกว่าการพัฒนาบนวินโดว์ส
ขณะเดียวกัน
บริษัทยังพัฒนาโครงการลีนุกซ์ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2539 อย่างต่อเนื่อง
ในชื่อ "โครงการบูรพาลีนุกซ์" พร้อมกับเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีได้ผ่านเวบไซต์ www.burapalinux.org นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาซอฟต์แวร์บนระบบปฏิบัติการลีนุกซ์
ซึ่งขณะนี้พัฒนาไปแล้ว 3 โปรแกรม ได้แก่
ซอฟต์แวร์บริหารงานระบบโรงเรียนมัธยม, ซอฟต์แวร์ที่ใช้งานในสำนักงาน
(อี-ออฟฟิศ) และซอฟต์แวร์ด้านอี-เลิร์นนิ่ง โดยอยู่ในขั้นเวอร์ชั่นทดสอบ คาดว่าจะสมบูรณ์
และออกเผยแพร่ประมาณเดือนมีนาคม ปีหน้า
พร้อมกันนี้ ได้นำบูรพา ลีนุกซ์
มาใช้เป็นอินเทอร์เน็ต เซิร์ฟเวอร์ ในร้านอินเทอร์เน็ต คาเฟ่ 2 แห่งแล้ว
ที่จังหวัดตากและจันทบุรี โดยสามารถรองรับผู้ใช้งานระบบได้ถึง 50 เครื่อง ในเวลาเดียวกัน "โครงการลีนุกซ์เกิดขึ้น
โดยมีจุดมุ่งหมายในการนำมาใช้งานแทนระบบปฏิบัติการที่มีอยู่เดิม เนื่องจากลีนุกซ์สามารถเข้ามาช่วยลดต้นทุนในการดูแลรักษาระบบได้มาก
และยังจุดประกายให้นักศึกษาในภาควิชาคอมพิวเตอร์ สามารถใช้สภาพแวดล้อมของลีนุกซ์ซึ่งเป็นโอเพ่นซอร์ส
พัฒนาแอพพลิเคชั่นในการใช้งานด้านต่างๆ ได้ในอนาคต" นายเสรีกล่าว
มอ.ผุดห้องปฏิบัติการลีนุกซ์
ขณะที่นายเกริกชัย ทองหนู
ผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า สถาบันมีแผนจะแยกห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ 4 ห้อง ออกมาให้เป็นห้องปฏิบัติการสำหรับซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สโดยเฉพาะ 1 ห้อง เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษามีความรู้
และทักษะการใช้งานซอฟต์แวร์ด้านนี้ โดยที่ผ่านมา
สถาบันเริ่มมีการใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สบางส่วนแล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาการถูกตัดงบประมาณ
ทำให้ไม่สามารถจัดซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ได้เพียงพอกับความต้องการใช้งาน
"กระนั้น
สัดส่วนการใช้งานโอเพ่นซอร์สของสถาบันมีเพียงระดับร้อยละ 1
เท่านั้น โดยหลักการของสถาบันดำเนินตามนโยบายรัฐ ซึ่งร่วมมือกับเนคเทค
ที่จะเผยแพร่การใช้งาน และสถาบันจะให้บริการฝึกอบรมการใช้งาน กับทั้งนักศึกษาภายใน
และประชาชนภายนอก รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ภาคใต้
ที่บางแห่งมีการใช้ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ ซิส (Linux SIS) ที่ทำให้เครื่องเดสก์ทอปมีคุณสมบัติเป็นเครื่องแม่ข่ายได้"
นายเกริกชัยกล่าว อีกทั้งมุ่งเน้นการนำโอเพ่นซอร์ส ที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้
และปรับเพิ่มตามความเหมาะสมกับการใช้งาน โดยปัจจุบันนำซอฟต์แวร์ลีนุกซ์ เราท์เตอร์
มาใช้ในเครื่องพีซี เพื่อทำให้มีคุณสมบัติการทำงานเป็นเราท์เตอร์ด้วย
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 4 กันยายน 2545
|