รัฐ-เอกชน หนุนโอเพ่นซอร์สเข้าเอสเอ็มอี
สร้างทางเลือกให้ผู้ใช้ เปิดช่องนักพัฒนาต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่-หารายได้จากบริการ
รัฐ-เอกชน หนุนโอเพ่นซอร์ส
สร้างทางเลือกให้ผู้ใช้ แนะรัฐ หนุนงบพัฒนาโอเพ่นซอร์สให้เอสเอ็มอี พร้อมชี้ช่องนักพัฒนาต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่-หารายได้จากบริการ
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เลขานุการคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เขาได้เสนอแนวคิดไปทางสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี
ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ตามแนวคิดให้รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบงาน หรือแอพพลิเคชั่นโอเพ่นซอร์ส
ประกอบด้วย งานบัญชีการเงิน ระบบบุคคล คลังสินค้า บริการการขาย อี-คอมเมิร์ซ ด้านกระบวนการผลิต
หรือซัพพลายเชน ระบบด้านศุลกากร ระบบบำรุงรักษา และระบบสำนักงานอัตโนมัติ โดยมุ่งให้แจกจ่ายแก่ธุรกิจวิสาหกิจขนาดเล็ก
และกลาง ที่มีอยู่ 300,000 แห่ง ได้ใช้ระบบงานเหล่านี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการแข่งขันของธุรกิจองค์กร นอกจากนี้วิธีการดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้นักพัฒนาโปรแกรมที่มีอยู่สามารถต่อยอดธุรกิจ
ไปรับงานปรับเพิ่มขยาย (โมดิฟายด์) ระบบงานโอเพ่นซอร์สเหล่านั้น
ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้จากการให้บริการได้นั่นเอง
เอกชนพัฒนาเฉพาะด้านได้
ด้าน นายวิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาสาขาสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
(เนคเทค)
กล่าวถึงบทบาทของภาครัฐที่จะสนับสนุนโอเพ่นซอร์ส ว่า เป็นการสร้างความรับรู้การใช้งานไปทั้งหน่วยงานของรัฐ
และผู้ใช้ทั่วไป เช่น การอบรมซีไอโอหน่วยงานราชการถึงการใช้งานโอเพ่นซอร์สและการโอนย้ายระบบเก่ามาสู่การใช้งานโอเพ่นซอร์ส
การบันเดิลโปรแกรมที่เป็นโอเพ่นซอร์สไปกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ผลิตในประเทศ เพื่อลดความยุ่งยากการติดตั้งการใช้งานให้กับผู้ใช้
รวมถึงบทบาท การวิจัยและพัฒนาเพื่อให้มีผลิตภัณฑ์เป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้งาน โดยปัจจุบันเนคเทคก็มีระบบปฏิบัติการ
หรือโอเอสที่ทำงานบนเดสก์ท็อป เช่น ลินิกซ์ ทะเล เวอร์ชั่น 4.1 และโปรแกรมออฟฟิศทะเล เวอร์ชั่น 1.0.1 ขณะภาคเอกชนเองก็สามารถหาช่องทางสร้างระบบงานเฉพาะด้าน
(เอ็นเตอร์ไพร้ส์ แอพพลิเคชั่น) ที่เป็นโอเพ่นซอร์สได้
เช่น แอพพลิเคชั่น เซิร์ฟเวอร์ โปรแกรมเล่นเพลงออนไลน์ หรือมิวสิค เพลย์เยอร์
ทำงานบนระบบปฏิบัติการลินิกซ์ สำหรับใช้คาราโอเกะ
ที่ทำให้ผู้ประกอบการคาราโอเกะไม่ต้องซื้อระบบปฏิบัติการได้ และการใช้ GIMP
ซึ่งเครื่องมือพัฒนาที่เป็นโอเพ่นซอร์ส สำหรับงานออกแบบสิ่งพิมพ์
ส่วนนายรอม หิรัญพฤกษ์
ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (ซอฟต์แวร์ ปาร์ค) กล่าวว่า
การใช้งานขององค์กรจะเลือกโปรแกรมระบบปิดที่ต้องเสียค่าไลเซ่น หรือใช้โอเพ่นซอร์ส
ขึ้นอยู่กับมูลค่าทางธุรกิจขององค์กร หรือบิสซิเนส แวลลู เอง ซึ่งปัจจุบันมีหลักเกณฑ์ประเมินความคุ้มค่าการลงทุนใหม่ที่ทำให้หน่วยงานด้านไอที
และฝ่ายบริหารมีความเข้าใจตรงกันมากขึ้น เรียกว่า ระบบ Rapid Economic
Justification หรือ REJ
"แนวทางการพัฒนาและการใช้ซอฟต์แวร์นั้น
ต้องขึ้นกับธรรมชาติของตลาดรูปแบบธุรกิจเอง และการตัดสินใจของผู้บริโภค"
นายรอม กล่าว
เอกชน หนุนการต่อยอดธุรกิจ
ด้านภาคเอกชนนั้น นายสุธรรม ชัยวัฒน์
ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมระบบ บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทแม่ได้ประกาศนโยบายเมื่อวันอังคาร
(13) ที่ผ่านมา โดยปรับนโยบายมาใช้ลิขสิทธิ์ร่วมระหว่างบริษัทกับนักพัฒนา
หรือเรียกว่า Joint Copyright Assignment : JCA ช่วยเปิดโอกาสให้นักพัฒนาที่ได้พัฒนาโปรแกรมต่อยอดการใช้งานโปรแกรม
"โอเพ่นออฟฟิศ" (OpenOffice) สามารถเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โปรแกรมร่วมกันกับซันได้ จากเดิมที่แม้มีนักพัฒนาต่อยอดการใช้โปรแกรม
แต่ลิขสิทธิ์ทางกฎหมายก็เป็นของซัน แต่เพียงผู้เดียว "ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนั้น
คือ นักพัฒนาที่ต้องการนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์จะทำได้เต็มที่ มีแรงจูงใจที่จะเปิดเผยซอร์สโค้ดให้กับซันต่อไป
ขณะซันเอง ก็สามารถรักษามาตรฐานและสิทธิทางกฎหมายของโปรแกรมได้เช่นเดิม"
นายสุธรรม กล่าว พร้อมเสริมว่า ปัจจุบันยังมีช่องทางเปิดให้นักพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจจากโปรแกรมปลาดาวได้
เช่น การพัฒนาโปรแกรมฐานข้อมูล (ดาต้าเบส) ที่เป็นโอเพ่นซอร์ส ซึ่งเสริมประสิทธิภาพการใช้งานด้านการพิมพ์ของปลาดาวได้
ทั้งบริษัทมีแผนการเปิดอบรมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการอบรมผู้สอน
(เทรนเดอะเทรนเนอร์) การใช้งานโปรแกรมปลาดาวให้กับหลายหน่วยงาน
เช่น ปัจจุบันมีศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนเปิดอบรมการใช้งานแล้ว จากนั้นจะขยายไปโปรแกรมการฝึกนักพัฒนา
ที่เจาะจงเลือกเพื่อสร้างกลุ่มนักพัฒนาเรียนรู้ซอร์สโค้ดโปรแกรมง่ายขึ้น เพื่อให้ต่อยอดการพัฒนาได้เร็วขึ้น
รวมถึงโปรแกรมการฝึกด้านสนับสนุนเทคนิคด้วย
ล่าสุดบริษัทยังร่วมกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
จัดอบรมการใช้งานโปรแกรมปลาดาว ออฟฟิศ ผ่านดาวเทียม ให้กับครูในโรงเรียนภายใต้สังกัดของมูลนิธิ
กว่า 3,000 โรงเรียน และจะขยายไประดับเอสเอ็มอี
โดยผู้สนใจเข้าไปอบรมผ่านเวบไซต์ได้ที่ www.dlf.ac.th "ปัจจุบัน
ซอร์สโค้ดโปรแกรมปลาดาว ออฟฟิศ ได้เผยแพร่ทั้งหมดในเวบไซต์ www.pladao.com แล้ว โดยได้รับการสนับสนุนพื้นที่ฝากเวบที่เครื่องแม่ข่ายจากบริษัท ซีเอส
อินเทอร์เน็ต" นายสุธรรม กล่าว ด้าน นายนุสรณ์
พจน์พิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอัลกอริธึมส์ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบการใช้งานโปรแกรมปลาดาว
เวอร์ชั่น 1.0.1 และเตรียมขยายให้ระบบปฏิบัติการแมคอินทอช
โอเอส เทน (OS X) ให้สามารถทำงานร่วมกับปลาดาวได้
จากปัจจุบันที่ปลาดาวรองรับทั้งวินโดว์ส ลินิกซ์ และโซลาริส
แนะสร้างรายได้
ด้านนายโดม เจริญยศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท
เทลซิสเทเทติก จำกัด กล่าวว่า นักพัฒนาสามารถสร้างรายได้จากโอเพ่นซอร์สได้
โดยการให้บริการปรับเพิ่มขยายระบบงาน ให้กับแต่ละองค์กร
และบริการการติดตั้งบำรุงรักษาระบบ
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 16 สิงหาคม 2545
|