เหนื่อยนี้อีกนาน สถานการณ์โอเพ่นซอร์สไทย
บายไลน์ / มรกต คนึงสุขเกษม
เริ่มต้นและจบไปเมื่อต้นสัปดาห์นี้เอง
งาน "มหกรรมซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สครั้งที่ 6 : Linux Empowerment" หากใครที่มีโอกาสไปร่วมงานวันแรกคงรู้สึกวังเวงเช่นเดียวกับหลายๆ คน แม้ภายในงานจะมีผู้ประกอบการเกี่ยวกับโอเพ่นซอร์ส
หรือลินิกซ์เข้าร่วมหลายราย แต่ทางฟากของผู้ใช้แล้วบางตาอย่างน่าใจหาย หลายคน
คิดคล้ายกันว่า วิบากกรรมโอเพ่นซอร์สคงอีกยาวไกล
นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศไทย
มีจุดมุ่งหมายจะผลักดันโอเพ่นซอร์ส ให้เป็นซอฟต์แวร์แห่งชาติ เพื่อลดความสูญเสียจากการใช้จ่ายเงินตรา
เป็นค่าซื้อลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5-6 ปี โดยเฉพาะเมื่อทั่วโลกตื่นตัวกระแสโอเพ่นซอร์ส หากเมื่อเวลาผ่านไปความหวังก็เริ่มรางเลือน
ดังนั้น ภาวะการณ์ปัจจุบันกลายเป็นว่า ผู้ใช้โอเพ่นซอร์สในไทยมักเป็นคนเก่าๆ หน้าเดิมๆ
เมื่อใช้แล้วก็ติดใจ ต้องการจะรู้ และใช้งาน หรือสร้างงานใหม่ๆ อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันการสร้างคนใหม่ๆ หรือดึงดูดคนกลุ่มใหม่ให้เข้ามาเป็นสมาชิกใช้-สร้างงานโอเพ่นซอร์สกลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า
ทั้งนี้ เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะกำลังจะผลักดันให้โอเพ่นซอร์สเป็นซอฟต์แวร์แห่งชาตินั้นรางเลือนลงทุกที
เนื่องจากขาดตัวกลางหลักที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว แม้เมื่อเริ่มก่อเกิดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(ไอซีที) แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องเริ่มมีความหวังเรืองรอง
แล้วยิ่งเมื่อกำเนิดคอมพิวเตอร์ไอซีทีปี 1 ภาค 1 ที่จะบรรจุระบบปฏิบัติการลินิกซ์ทะเล
พร้อมโปรแกรมสำนักงานที่สร้างจากโอเพ่นซอร์ส ก่อนปฏิบัติการดับฝันด้วยการลดราคากระหน่ำของไมโครซอฟท์
ซึ่งเสนอซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ รวมระบบปฏิบัติการ
และโปรแกรมสำนักงานในราคาถูกพิเศษที่ 1,490 บาท จากนั้นมานโยบายหรือมาตรการเกี่ยวกับโอเพ่นซอร์สก็เสมือนจะกลายเป็นวิมานอากาศในชั่วพริบตา
นายเสรี ชิโนดม
นายกสมาคมสมาพันธ์โอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทย กล่าวถึงอุปสรรคต่างๆ ที่ขัดขวางการขยายตัวของการใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สว่า
ประกอบไปด้วยหลายๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจเรื่องโอเพ่นซอร์ส ที่ยังไม่ถูกต้อง
ความหลากหลายของโอเพ่นซอร์ส ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ขาดการประชาสัมพันธ์
มีแรงต่อต้านในการใช้งานซอฟต์แวร์ของเก่า ซึ่งผู้ใช้มักเคยชินไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงสู่ของใหม่ๆ
การเรียนรู้ใหม่
อีกทั้งยังต้องยอมรับว่า
การใช้งานโอเพ่นซอร์สเองบางครั้งก็มีความซับซ้อน หนังสือตำราเกี่ยวกับโอเพ่นซอร์สมีน้อย
โมเดลทางธุรกิจยังไม่ชัดเจน ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม
คนโอเพ่นซอร์สยังมีความมุ่งหวังที่สานฝัน จะแพร่การใช้งานโอเพ่นซอร์สให้กว้างขวาง
และลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ ซึ่งคำนวณง่ายๆ ว่า คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง จะต้องซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ รวมระบบปฏิบัติการและโปรแกรมสำนักงาน
ต้องลงทุนประมาณ 23,000 บาท หากไทยบริโภคคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลปีละ
1 ล้านเครื่อง เท่ากับต้องเสียเงินตราต่างประเทศ 2.3 หมื่นล้านบาท จึงได้จัดงานมหกรรมโอเพ่นซอร์สขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หมดเวลาฉาบฉวย ต้องลงลึก-รู้จริง
ภายในงานที่จัดขึ้นครั้งนี้
ได้แบ่งพื้นที่จัดงานเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแสดงสินค้า ออกบูทของผู้ร่วมแสดงสินค้า
ซึ่งส่วนใหญ่ คือ สปอนเซอร์หลักของการจัดงาน นอกจากนี้ ยังมีส่วนของการสัมมนา-เสวนาในหัวข้อที่เปิดกว้างให้ผู้สนใจทั่วไปเข้ารับฟังฟรี อีกส่วน คือ
การสัมมนาลงลึกในเนื้อหาเฉพาะด้าน ที่ผู้เข้าฟังจะต้องมีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ปรากฏว่า
ห้องสัมมนาที่ต้องเสียเงินฟัง จำนวน 4 ห้อง จุคนห้องละ 70
ที่นั่งนั้น มีคนฟังเต็ม ขณะที่ห้องสัมมนาฟรี ที่เตรียมที่นั่งไว้หลายร้อยที่นั่งมีปริมาณผู้ฟังน้อยมากระดับ
10-20 คนเท่านั้น จากสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น
ทำให้ต้องกลับมาทบทวนกันว่า การจะเอาจริงเอาจังกับโอเพ่นซอร์สนั้น
จะต้องวางทิศทางอย่างถูกต้อง เฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย
ไม่สามารถเหวี่ยงแหหรือเหมารวมได้อีกต่อไปแล้ว
ช่วยเหลือตปท.ก่อนวกกลับไทย
นายวิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช
นักวิจัยอาวุโส ห้องปฏิบัติการวิจัยภาษาศาสตร์คำนวณ ในฐานะหัวหน้าทีมพัฒนาระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ทะเล
(Linux
TLE) กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่ในประเทศไทยยังทำอะไรไม่ได้ ตอนนี้ก็ได้แต่ออกไปให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน
เช่น เวียดนาม พม่า กัมพูชา และลาว ใน 4 ระดับ คือ
วางรหัสตัวอักษรของแต่ละประเทศ ทำอินพุต ซิสเต็มส์ ทำพจนานุกรมภาษาต่างๆ
และวางระบบงานเชิงก้าวหน้าต่างๆ เช่น โอซีอาร์ เครื่องมือค้นหา เป็นต้น ขณะนี้ที่พม่ากำลังร่างเอกสารขอความช่วยเหลือมายังรัฐบาลไทย
ตามโครงการความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ ส่วนเวียดนามนั้น สนใจจะนำโอเพ่นซอร์สไปใช้ในโครงการคอมพิวเตอร์ราคาประหยัดคล้ายๆ
กับของไทย
ลินิกซ์เวอร์ชัน 5.5 ใช้งานง่ายเอาใจผู้ใช้
ด้านศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
(เนคเทค) นั้น หลังจากการเปิดตัวระบบปฏิบัติการลินิกซ์
ทะเล ที่พัฒนาโดยตั้งแต่เวอร์ชันแรกมาถึงปัจจุบันกระแสตอบรับ ยังไม่สูงนัก ยอดการใช้ลินิกซ์ในไทย
โดยการวัดจากทรูฮิต พบว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้ประมาณ 0.13% ของจำนวนเครื่องพีซีทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ
4-5 ล้านเครื่อง ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายที่เคยตั้งไว้จะมี 5%
เหตุผลหนึ่งมาจากหลายๆ
เสียงยังยึดติดกับการใช้งานโปรแกรมเจ้าตลาดเดิมๆ อย่างวินโดว์ส ด้วยเหตุผลหนึ่งคือ
การใช้งานง่าย ดังนั้น การพัฒนาลินิกซ์ ทะเล เวอร์ชันใหม่ 5.5 เนคเทคจึงเน้นติดตั้งและใช้งานง่าย ไม่ต้องล็อกอินทุกครั้งก่อนใช้ พร้อมเพิ่มโปรแกรมพจนานุกรม-อ่านไทย-ไรท์ซีดี ประสิทธิภาพเทียบเท่าวินโดว์ส เอาใจผู้ใช้
หลังพบเวอร์ชันก่อนหน้าซับซ้อน ทั้งเตรียมออกโปรแกรมรับรองการใช้งานร่วมกับฮาร์ดแวร์ต่างๆ
อีกด้วย
นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์
รองผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่าการที่มีผู้ใช้ลินิกซ์ ทะเลน้อย ส่วนหนึ่งเกิดจากแนวทางการผลักดันอย่างต่อเนื่องขาดความชัดเจน
ในช่วงกฎหมายลิขสิทธิ์เข้มแข็งก็จะมีผู้ให้ความสนใจลินิกซ์มาก เพราะเป็นโปรแกรมที่ถูกกฎหมายโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก
ประกอบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ลดราคาสินค้าลิขสิทธิ์ลง สำหรับลินิกซ์ ทะเล
เวอร์ชันล่าสุด 5.5 เป็นซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการที่ไม่ใช่โปรแกรมบริหารจัดการธรรมดา
แต่ได้เพิ่มขีดความสามารถด้านอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง ฟังเพลง หรืองานกราฟฟิก
เทียบเท่าซอฟต์แวร์เจ้าตลาดสำหรับพีซีอื่น
นายกำธร ไกรรักษ์
ผู้ช่วยนักวิจัย เนคเทค หนึ่งในทีมพัฒนาซอฟต์แวร์นี้ กล่าวว่าทีมงานได้พัฒนาลินิกซ์
ทะเลเวอร์ชันใหม่ให้ติดตั้งง่าย ไม่ต้องแสดง log in ที่หน้าจอ
เป็นการแก้ปัญหาเดิม ที่ผู้ใช้บอกว่า ลินิกซ์ ทะเลติดตั้งยุ่งยาก เพราะจะมี log
in แสดงที่หน้าจอทุกครั้งที่เปิดใช้งานเครื่อง ทั้งๆ ที่เป็นเครื่องใช้ส่วนตัว
พร้อมกันนี้ยังตัดปัญหา กรณีนำโน้ตบุ๊คไปใช้ที่บ้านก็ทำได้เร็วขึ้น จากเดิมระบบจะตั้งไว้ให้รอสัญญาณเครือข่ายแลน
ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้งานในสำนักงาน อีกทั้งยังมีซีดีโปรแกรมฉบับพิเศษบรรจุ 1
แผ่น (Liv) ที่สามารถบูตและทำงานได้จากแผ่นซีดี
โดยไม่ต้องติดตั้งลงบนเครื่องไว้ให้เลือกใช้ ซึ่งสามารถใช้งานพื้นฐานทั่วไปได้ทั้งหมด
จากฉบับเต็มจะมี 3 แผ่น ซึ่งรวมคุณสมบัติของการติดตั้งบนเซิร์ฟเวอร์ไว้ด้วย
นอกจากนี้ เพื่อประโยชน์ในการใช้งานสูงสุด ผู้พัฒนาได้บรรจุโปรแกรมไรท์ซีดี โปรแกรมพจนานุกรมไทย-อังกฤษ อังกฤษ-ไทย และโปรแกรมอ่านไทย ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์แปลงภาษาจากการสแกนเอกสารที่เป็นกราฟฟิก
โหมด เป็นตัวอักษรอัตโนมัติให้ใช้ด้วย ขณะเดียวกัน ยังมีโปรแกรมดูภาพ (G
Thump) คล้ายๆ กับโปรแกรมเอซีดีซีที่ใช้กับวินโดว์ส, โปรแกรมตกแต่งภาพ (The GIMP) ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ลินิกซ์สามารถทำงานได้เทียบเท่ากับผู้ใช้โปรแกรมอื่น
ส่วนฟอนต์ที่ใช้กับลินิกซ์ ทะเลเวอร์ชันใหม่ ได้เพิ่มฟอนต์โลมาขึ้น เป็นตัวหนังสือกลมๆ
อ้วนขึ้น เพื่อให้การแสดงผลหน้าจออ่านง่าย ชัดเจนกว่าฟอนต์รุ่นก่อนที่พัฒนามาสำหรับงานพิมพ์
ออกคำรับรองฮาร์ดแวร์มาตรการดึงผู้ใช้
นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์
รองผู้อำนวยการ เนคเทค กล่าวว่าอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ยังไม่มั่นใจต่อการหันมาใช้ลินิกซ์
คือ ไม่ทราบว่า โปรแกรมรองรับฮาร์ดแวร์ใดบ้าง ฉะนั้น เนคเทคจึงมีแผนจะทำระบบรับรอง
หรือลินิกซ์ เซอร์ติไฟด์ หรือลินิกซ์ รีดดี้ (LINUX Certified หรือ LINUX
Ready) โดยขณะนี้ เนคเทคกำลังเตรียมข้อมูล เพื่อทดสอบการใช้งานร่วมระหว่างลินิกซ์กับฮาร์ดแวร์ต่างๆ
หากมีฮาร์ดแวร์ใดที่ใช้ร่วมกับลินิกซ์ไม่ได้ก็จะหาข้อมูล หรือไดร์ฟเวอร์มาใส่ จากนั้นจะประกาศให้ผู้ใช้ทราบผ่านเวบไซต์ที่จะจัดทำขึ้นเฉพาะ
อีกทั้งยังจะทำสติกเกอร์ติดฮาร์ดแวร์ที่ทดสอบร่วมกับลินิกซ์ผ่าน ทั้งนี้
คาดว่าภายในปีงบประมาณหน้า หรือราวเดือน ต.ค.2547 จะดำเนินโครงการนี้ได้เป็นรูปเป็นร่าง
รัฐ-เอกชนร่วมต่อยอดโอเพ่นซอร์ส
นายไพฑูรย์ บุตรี กรรมการผู้จัดการ
บริษัท แกรนด์ ลีนุกซ์ โซลูชั่น จำกัด กล่าวว่า
หากร่วมมือกันได้มากเท่าไรจะยิ่งเป็นการดีต่อการสนับสนุนระบบโอเพ่นซอร์ส ซึ่งปัจจุบันมีคนพัฒนาน้อยอยู่แล้วในตลาด
ฉะนั้นหากผู้ที่ทำอยู่แล้ว "ขัดขา" กันเอง จะยิ่งทำให้การเติบโตเป็นไปได้น้อยยิ่งขึ้น เพราะเมื่อมีผู้พัฒนาจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนยิ่งทำให้ทั้งผู้ใช้และผู้พัฒนาได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น
การจะทำให้เกิดความยั่งยืนในโอเพ่นซอร์สนั้น เอกชนที่พัฒนาโอเพ่นซอร์ส หรือลินิกซ์
จะต้องอยู่ได้ และสร้างความเชื่อถือต่อตลาด เนื่องจากผู้ใช้เวลาตัดสินใจซื้อคอมพิวเตอร์
และลงโปรแกรมอะไรใช้งานจะอยู่ที่ความเชื่อถือ และข้อเสนอของผู้ขายเป็นหลัก ผู้ซื้อสินค้าจากเอกชน
ไม่ใช่ติดต่อกับรัฐบาล ทั้งนี้ เมื่อเอกชนผลิตงานออกมาแล้ว หากไม่มีผู้นำไปใช้การสร้างสรรค์งานใหม่ๆ
ออกมาก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็มีความสำคัญ โดยต้องเป็นผู้ช่วยสนับสนุนด้วยการช่วยประชาสัมพันธ์
เป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือแก่สินค้า
ด้าน นายกำธร กล่าวว่า
เนคเทคพัฒนาลินิกซ์ทะเลเพื่อการวิจัยและพัฒนา แล้วโยนให้เอกชนดำเนินการต่อ
โดยงานวิจัยของเนคเทคจะไม่มีการรับประกันสินค้า หรือกรณีมีผู้ต้องการซอฟต์แวร์ต่อยอดออกไปเป็นโซลูชั่น
เนคเทคก็ไม่มีกำลังจะทำให้ได้ ผู้ต้องการจะต้องติดต่อกับบริษัทเอกชน ทั้งนี้
มีบริษัทเอกชน 2-3 ราย ได้นำผลงานวิจัยของเนคเทคไปพัฒนาต่อยอดเป็นโซลูชั่นสินค้าออกวางจำหน่ายแล้ว
ด้าน นายเทพพิทักษ์
การุญบุญญานันท์ โปรแกรมเมอร์อิสระ ไทยลินุกซ์เวิร์คกิ้งกรุ๊ป (ทีแอลดับบลิวจี) กล่าวว่า การพัฒนาต่อยอดโอเพ่นซอร์สแล้วส่งผลงานกลับไปเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า
ประเทศไทยไม่ใช่ดีแต่จะลอกเลียนคนอื่น แต่ที่จำเป็นต้องใช้ซอฟต์แวร์ลอกเลียนเป็นเพราะเหตุผลอื่นๆ
ไม่ใช่เหตุผลว่า เพราะคนไทยด้อยทางสติปัญญาที่จะพัฒนาผลงานขึ้นใช้เองในประเทศ ทั้งนี้
การต่อยอดพัฒนาโอเพ่นซอร์สของไทยจะเป็นการแสดงความสามารถในรูปแบบหนึ่ง และยังสร้างอำนาจต่อรองแก่คนไทย
และช่วยให้สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีทางลัดด้วย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม 2547
|