รัฐบาลลุยปฏิรูประบบทะเบียน ปั้นวันสต็อปเซอร์วิสรับใช้ประชาชน
รัฐบาลเดินหน้าปฏิรูประบบการทะเบียนของประเทศ
วางแผนพัฒนาเชื่อมโยงฐานข้อมูลภาครัฐทั้งหมด ฝันสร้าง one stop service บริการประชาชน
ตั้งคณะอนุกรรมการ 10 ชุดศึกษาแผนงาน มอบหมายให้มหาดไทยเป็นหัวหอกประเดิมเชื่อมโยงข้อมูลสำนักทะเบียนราษฎรทั้ง
1,077 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2546
นายอภัย จันทนจุลกะ อธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบูรณาการและปฏิรูประบบการทะเบียนแห่งชาติ
ซึ่งมีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการที่จะขยายการให้บริการด้านการทะเบียนด้วยระบบคอมพิวเตอร์ให้กว้างขวางและทั่วถึงขึ้น
โดยหน่วยงานภาครัฐจะต้องสามารถแลกเปลี่ยนใช้ประโยชน์จากข้อมูลพื้นฐานร่วมกัน รวมทั้งให้หน่วยงานต่างๆ
มีการวางแผนกำหนดนโยบายและแผนงานเกี่ยวกับระบบฐานข้อมูลการทะเบียนอย่างเป็นระบบ เพื่อลดความซ้ำซ้อนและประหยัดค่าใช้จ่าย
เพื่อนำไปสู่แนวคิดการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service)
การบริการแบบเบ็ดเสร็จ เป็นแนวคิดที่ต้องการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาติดต่อหน่วยงานราชการสามารถรับบริการจากหน่วยงานราชการต่างๆ
ได้ ณ ที่แห่งเดียวโดยไม่ต้องไปติดต่อส่วนงานราชการหลายๆ แห่ง เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของประชาชน
รวมทั้งลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ หลักการดังกล่าวนี้หน่วยงานราชการต่างๆ จะต้องจัดทำฐานข้อมูลการทะเบียนของตนไว้ในระบบคอมพิวเตอร์
และสามารถเชื่อมโยงระบบข้อมูลกับหน่วยงานอื่นๆ ได้ด้วยเลขประจำตัวประชาชน ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว
โดยในเบื้องต้นกระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรด้วยระบบคอมพิวเตอร์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศก่อน
ซึ่งขณะนี้มีสำนักทะเบียนที่เชื่อมโยงด้วยระบบคอมพิวเตอร์แล้ว 505 แห่ง จากสำนักทะเบียน 1,077 แห่งทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ยังได้มีการอนุมัติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ อีก
10 คณะ เพื่อมาศึกษาและดำเนินงานในด้านต่างๆ เช่น คณะอนุกรรมการด้านการร่างนโยบายและกลั่นกรองโครงการ,
คณะอนุกรรมการด้านการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูล, คณะอนุกรรมการด้านการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลทะเบียนกลาง, คณะอนุกรรมการด้านการใช้ประโยชน์จากการใช้ประโยชน์จากบัตรประจำตัวประชาชน
เป็นต้น 'โดยให้คณะอนุกรรมการด้านต่างๆ พิจารณาหลักการและศึกษาถึงแนวทางในการดำเนินงาน
รวมทั้งประโยชน์ที่จะได้รับเพื่อนำเสนอแก่ที่ประชุมในครั้งต่อไปในช่วงสัปดาห์ที่ 2
ของเดือนกันยายน เพื่อพิจารณาเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณในการดำเนินงานต่อไป'
ด้านนายสุรชัย ศรีสารคาม ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน
กรมการปกครอง กล่าวว่า เพื่อพัฒนาระบบทะเบียนราษฎรได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ที่ประชุมจึงให้กระทรวงมหาดไทยแปรญัตติการของบประมาณในปี
2546 จำนวน 580 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎร
ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาหน่วยงานภาครัฐเข้าสู่ระบบอี-ซิติเซ่น เนื่องจากเมื่อระบบข้อมูลทะเบียนราษฎรเชื่อมโยงกันหมดแล้ว ก็จะนำไปสู่การเชื่อมโยงข้อมูลและระบบการให้บริการประชาชนของหน่วยงานต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องกับประชาชน เช่น กรมสรรพากร, กองตรวจคนเข้าเมือง,
กรมการขนส่งทางบก เป็นต้น ช่วยให้สามารถให้บริการประชาชนได้แบบเบ็ดเสร็จ
นอกจากนี้ สำนักบริหารการทะเบียนจะเร่งดำเนินการให้ประชาชนมีบัตรประจำตัวประชาชน
'แบบแถบแม่เหล็ก' ทั่วประเทศ
ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงข้อมูลของสำนักงานทะเบียน ซึ่งการที่ประชาชนมีบัตรแบบแถบแม่เหล็กจะทำให้การตรวจสอบข้อมูลเพื่อยืนยันตัวบุคคลเป็นไปอย่างรวดเร็ว
เนื่องจากดำเนินการผ่านระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งใช้เป็นบัตรเพื่อเข้าสู่ระบบบริการแบบเครือข่ายของภาครัฐ
หรืออาจจะใช้แทนบัตรทะเบียนบุคคลประเภทต่างๆ เช่น ใบขับขี่
ส่วนการพัฒนาบัตรประชาชนธรรมดาให้เป็นบัตรอัจฉริยะหรือสมาร์ตการ์ดนั้น
คงต้องมีการพิจารณาตามความจำเป็นของประชาชนในแต่ละกลุ่มก่อนว่ามีความคุ้มค่าต่อการจัดทำหรือไม่
เนื่องจากบัตรสมาร์ตการ์ดมีต้นทุนค่อนข้างสูงประมาณใบละ 128
บาท ในขณะที่บัตรแถบแม่เหล็กมีต้นทุนอยู่เพียงใบละ 28 บาท
อย่างไรก็ตาม หากศึกษาดูแล้วพบว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้บัตรสมาร์ตการ์ดในประชาชนบางกลุ่มก็คงจะมีการดำเนินงานจัดทำต่อไป
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม 2545
|