สวทช. ทุ่ม 57 ล้าน ยกระดับกำลังผลิตด้านไอทีเป็น 3 ล้าน/คน ใน 3 ปี
สวทช. ทุ่มงบ 57
ล้านบาท ใน 3 ปี สร้างคลัสเตอร์ ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ระดับสูง
มุ่งความชำนาญหลัก 5 ด้าน นำร่องสถาปัตยกรรม ระบบสมัยใหม่
หวังยกระดับประสิทธิภาพ ด้านการผลิตของบุคลากรไอทีไทย เป็น 2.5-3 ล้านบาทต่อคนต่อปี
นายไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า
ขณะนี้ได้มีการจัดสรรงบประมาณ 57 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจคอมพิวเตอร์
(คอมพิวเตอร์ คลัสเตอริ่ง โปรโมชั่น โปรแกรม ) ที่เริ่มดำเนินการเป็นทางการตุลาคมนี้ โดยเป็นแผนงานระยะ 3 ปี
โครงการดังกล่าว
เป็นกลไกหลักทำให้เกิดความร่วมมือของภาคการศึกษา เอกชน และหน่วยงานวิจัยและพัฒนา
ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย (คลัสเตอร์) ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ระดับสูงได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน
โดยจะใช้พื้นที่ 8 พันตารางเมตร ในอาคารไอทีของ สวทช.
ซึ่งจะสร้างแล้วเสร็จในกลางปีหน้า
ด้านนายมนู อรดีดลเชษฐ์ ที่ปรึกษาโครงการ และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย
(เอทีซีไอ)
และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวว่า เตรียมใช้โครงการด้านสารสนเทศของภาครัฐที่ต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 10 โครงการขนาดใหญ่
เป็นตัวนำและแรงจูงใจให้เอกชนเข้าร่วม ขณะที่ สวทช. จะเป็นศูนย์กลางอำนวยความสะดวก
ดึงงานจากภาครัฐ และประสานงานกับสมาคมภาคเอกชน
ตลอดจนประสานกับสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะขั้นสูง
โดยเฉพาะวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมระบบซอฟต์แวร์ ซึ่งเชี่ยวชาญการประมวลผลแบบกระจายที่มุ่งพัฒนาชิ้นส่วนโปรแกรมให้ทำหน้าที่เฉพาะอย่าง
และทำงานร่วมกันเพื่อให้บริการในเครือข่าย สำหรับโครงการไอทีในองค์กรขนาดใหญ่ได้
"หากสามารถยกระดับแรงงานความรู้ด้านซอฟต์แวร์
เข้าสู่เทคโนโลยีระดับสูง จะเพิ่มโพรดักทิวิตี้ต่อคนจาก 1-1.5 ล้านบาทต่อคนต่อปีเป็น 2.5-3 ล้านบาทต่อคนต่อปี ซึ่งทำให้บริษัทซอฟต์แวร์ทำกำไรได้
" นายมนู กล่าว ขณะที่ นายสันติชัย เอมอยู่ ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจคอมพิวเตอร์
กล่าวว่า เทคโนโลยีเป้าหมายหลัก 5 ด้านตามแผนงานนี้ ได้แก่
เอ็นเตอร์ไพร้ส์ คอมพิวติ้ง, เทคโนโลยีไร้สายและซอฟต์แวร์ฝังตัว,
เทคโนโลยีสื่อประสมและเสมือนจริง, เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
และเทคโนโลยีป้องกันและเข้ารหัสข้อมูล
โดยอยู่ระหว่างเจรจาความร่วมมือกับสภาด้านการวิจัยแห่งแคนาดา
(เนชั่นแนล
รีเสิร์ช เคาน์ซิล) เพื่อจัดตั้งศูนย์นิวมีเดีย
และเทคโนโลยีไร้สาย
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม 2546
|