ยุคนาโนเทคโนโลยีมาถึงแล้ว !! ชี้อีก 10 ปีมีมูลค่า 40 ล้านล้าน
รายงานพิเศษ
คงต้องยกเครดิตให้
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่แนะนำหนังสืออย่าง It"s
a life The future catch you ที่มีเนื้อหาว่าด้วยโลกกำลังอยู่ในระหว่างยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านและเป็นรอยต่อจากยุคเทคโนโลยีสารสนเทศสู่ยุคนาโนเทคโนโลยีที่จะมีอิทธิพลและก้าวล่วงเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในแบบที่หลายคนเรียกว่า
"ปฏิวัติโลก"
ทำอย่างไรธุรกิจไทยจะไม่ตกขบวนนาโนเทคโนโลยี ?
นานาชาติทุ่มพัฒนานาโนฯ
ดร.สุพจน์ หารหนองบัว อาจารย์จากภาควิชาเคมี
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปรียบเทียบให้ฟังว่า "ถ้าจะเปรียบกับเมื่อมีการคิดค้นคอมพิวเตอร์ที่นำเราสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ
ตอนนี้ก็เหมือนกับเมื่อสมัยที่มีคอมพิวเตอร์เครื่องแรก คือกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแรกของนาโนเทคโนโลยี
ถ้าถามว่าไทยเริ่มต้นช้าไปหรือไม่ในการจะพัฒนา ต้องบอกว่า ยังไม่ถึงกับตกขบวน"
ในแวดวงนักวิชาการมีความตื่นตัวในเรื่องนี้มาก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงรัฐบาลที่ให้ความสนใจและได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติอย่างเป็นทางการ
เมื่อ 13 สิงหาคม 2546 ขณะเดียวกัน
กำลังเร่งผ่านร่างแผนแม่บทนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ระยะ 10 ปี ที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นในการพัฒนานาโนเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบของไทย
แม้ว่างบประมาณที่เสนอจะไม่มากนัก เพียง 13,000 ล้านบาท
ในระยะเวลา 10 ปี เมื่อเทียบกับประเทศทั่วโลกที่มีการลงทุนรวมในเรื่องนี้ถึง
2,254 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2002
โดยรัฐบาลที่ให้น้ำหนักในเรื่องนี้มาก เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป โดยพัฒนางานวิจัยขั้นสูง
เช่น การพัฒนาระบบนำส่งตัวยาเข้าสู่ร่างกาย เซลล์แสงอาทิตย์ ท่อคาร์บอนนาโน
นาโนไบโอเซ็นเซอร์ โดยแต่ละประเทศใช้งบประมาณต่อปี ในระดับ 2-3 หมื่นล้านบาท
อีก 10 ปี สินค้านาโนฯ 40 ล้านล้าน
หลายคนมองว่าโอกาสที่จะเกิดเทคโนโลยีในระดับนาโนถึงระดับสามารถนำไปสู่กระบวนการผลิตยังเป็นเรื่องที่ไกลตัวและเกิดขึ้นได้ยาก
แต่หากพิจารณาถึงสินค้าที่มีส่วนประกอบของนาโนเทคโนโลยีที่เริ่มเข้าสู่ตลาด จากการจัดอันดับนวัตกรรมที่ใช้ความก้าวหน้าด้านนาโนเทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์ได้อย่างดีเยี่ยม
ของนิตยสารฟอร์บส อาทิ สกีแวกซ์คุณภาพสูงซึ่งสามารถใช้เคลือบอุปกรณ์เล่นสกีไม่ให้ลื่นได้นานกว่าแวกซ์โดยทั่วไป
แจ็กเกตสกีชนิดพิเศษ ที่ผลิตด้วยเส้นใยนาโน ซึ่งสามารถกันลม กันน้ำ และคราบสกปรกต่างๆ
ทำให้ไม่ต้องซักบ่อยและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าเสื้อที่ผลิตด้วยเส้นใยธรรมดา เสื้อผ้าไร้รอยยับของบริษัท
Emeryville ในแคลิฟอร์เนีย ครีมที่บรรจุแคปซูลขนาดเล็กจิ๋วของลอรีอัล
ที่สามารถแทรกซึมได้ดีกว่า โดยทำปฏิกิริยากับชั้นผิวในระดับโมเลกุล หรือลูกเทนนิสของ
Air D-Fense ที่เคลือบด้วยโพลีเมอร์นาโนที่แกนใน และสามารถทำให้อากาศผ่านเข้าออกยากกว่ายางธรรมดา
ทำให้อายุการใช้งานยาวนานขึ้น ซึ่งใช้ในการแข่งขันเดวิสคัพ จะเห็นได้ว่านาโนเทคโนโลยีกำลังค่อยๆ
แทรกซึมและก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจได้อย่างน่าทึ่ง
ถึงขนาดมีการประมาณไว้ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า
ผลิตภัณท์นาโนเทคโนโลยีจะมีมูลค่ามากกว่า 40 ล้านล้านบาท
!!
ไทยควรพัฒนาอุตฯเกษตร-สิ่งทอ
ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
กล่าวว่า ไทยสามารถเลือกการพัฒนานาโนเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง เช่น
ภาคเกษตร อย่างไบโอเซ็นเซอร์ ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัยโรคกุ้งในระดับที่มีความเข้มข้นของเชื้อโรคต่ำ
หรือจะเป็นการพัฒนา Lab on a chip หรือการจำลองห้องแล็บตรวจโรคให้มีขนาดเล็กเท่าการ์ด
ซึ่งทางเนคเทคกำลังทำวิจัยอยู่ เพื่อให้สามารถตรวจโรคที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ เช่น
ทารัสซีเมีย ที่มีคนไข้ถึง 1 ล้านคน เรื่องนี้บางประเทศมีเทคโนโลยีที่สามารถสร้าง
Lab on a chip ได้แต่ไม่มีความรู้จักโรคมาก ก็ไม่สามารถทำได้
ดังนั้น ไม่ใช่ว่ามีงบประมาณน้อยแล้วจะไม่สามารถสู้ประเทศอื่นได้ เพราะงานวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีมีเรื่องให้ทำมากมายมหาศาล
ขึ้นอยู่กับความถนัดของนักวิจัยและจุดแข็งของประเทศ
ด้าน ดร.อภิชาต สนธิสมบัติ
นักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล กล่าวว่า โอกาสธุรกิจในวันนี้ควรจะใช้นาโนเทคโนโลยีมาต่อยอดสิ่งที่ทำอยู่
และมองว่าเรื่องที่เร่งด่วนควรวิจัยและพัฒนาในปัจจุบันน่าจะเป็น นาโนพาทิเคล ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นวัสดุนาโน
ที่เมื่อนำไปผสมกับสินค้าที่มีอยู่เดิมจะทำให้เกิดสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มที่แข็งแรงขึ้น
บางขึ้น กันรังสียูวีได้มากขึ้น และปัจจุบันการนำเข้าจากต่างประเทศราคาสูงมาก ตกกิโลกรัมละหลายพันบาท
ขณะเดียวกัน การพัฒนาเส้นใยนาโนก็เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพราะการใส่เส้นใยนาโนลงในระหว่างการทอผ้า ทำให้อณูหรือช่องว่างระหว่างผ้ามีขนาดที่เล็กลง
ทำให้ผ้าทนทานขึ้นและป้องกันคราบสกปรก กันน้ำได้ดีขึ้น ซึ่งถ้าไม่มีการพัฒนาเรื่องนี้
ในอนาคตสิ่งทอไทยก็สู้คนอื่นไม่ได้ เพราะปัจจุบันจีนและอินเดียมีสินค้าสิ่งทอในราคาที่ต่ำกว่าไทย
เพราะค่าแรงงานที่ต่ำ ดังนั้น การจะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ต้องใช้นาโนเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า
ชี้ไทยต้องรีบก่อนตกขบวน
ในสายตานายรอฮีม ปรามาท ผู้แปลหนังสือ นาโนเทคโนโลยี
นวัตกรรมจิ๋วปฏิวัติโลก กล่าวว่า ยังไม่สายเกินไปที่ไทยจะเริ่มต้นพัฒนานาโน เพราะทุกประเทศทั่วโลกก็ยังอยู่ในจุดเริ่มต้นเหมือนๆ
กัน และถ้าเด็กไทยเริ่มต้นที่จะเรียนรู้และมีฐานความรู้เกี่ยวกับนาโน โอกาสที่จะก้าวหน้าในอนาคตมีมาก
เพียงแต่ต้องเลือกจุดแข็งที่ไทยมี เช่น ในอุตสาหกรรมเกษตร สิ่งทอ
โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการวิจัยมหาศาล ซึ่งถ้าสู้กันระดับนาโนอิเล็กทรอนิกส์
หรือนาโนคอมพิวเตอร์ สู้ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ต้องเลือกทำในสิ่งที่ถนัด
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาร่างแผนแม่บทการพัฒนานาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
ระยะ 10 ปี (2547-2556) ที่ระบุว่าไทยควรมุ่งเน้นในการสร้างขีดความสามารถในด้านนาโนเทคโนโลยีใน
3 สาขาหลัก คือ วัสดุนาโน เทคโนโลยี นาโนชีวภาพ
และนาโนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณท์มวลรวมให้เพิ่มขึ้นอีก 1% หรืออีก 130,000 ล้านบาท ในปี 2556 โดยยกตัวอย่างผลิตภัณท์ที่ไทยจะสามารถผลิตได้ เช่น กลุ่มผลิตภัณท์ทางด้านเซ็นเซอร์
เช่น อุปกรณ์ตรวจวินิจฉัยโรคได้พร้อมกันหลายโรคในเวลาเดียวกัน ฟิล์มบางสำหรับเก็บรักษาอาหารได้นาน
และแสดงผลเมื่ออาหารหมดอายุ ถุงมือยางและถุงยางอนามัยที่สามารถฆ่าเชื้อได้อัตโนมัติ
ถ้ามีการรั่ว เป็นต้น ซึ่งถ้าสามารถทำขึ้นได้จริง จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ผลิตและประเทศ
ฉะนั้น ภาคเอกชนจำเป็นต้องตระหนักถึงการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม 2547
|