นาโนฯ-ยา-อาหาร รั้งตำแหน่งอุตฯ ดาวรุ่ง
กองทุนเอกชน-รัฐ
เปิดวิชั่นโอกาสงานไลฟ์ไซน์ในไทย ระบุนากลุ่มโนเทคโนโลยี, ยาจากสมุนไพร
และอาหาร ครองอันดับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการลงทุนสูงสุด เหตุมีปัจจัยหนุนจากความพร้อมในฐานะแหล่งผลิต
นายราจา บาเชียร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท แอ็คเซส แคปปิตอล จำกัด (www.accesscapital.com) หนึ่งในบริษัทด้านที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์
และระดมเงินลงทุน กล่าวว่า
นอกจากงานไบโออินฟอร์เมติกส์ที่ไทยอาจอาศัยการเชื่อมโยงระหว่างประเทศแล้ว ในระยะยาวสาขางานวิจัยที่น่าจะมีแนวโน้มสูง
ได้แก่ นาโนเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันเพิ่งเริ่มต้น
และกว่าจะมีแอพพลิเคชั่นการใช้งานออกมาก็ประมาณ 2010 หรือปี 2553
สำหรับตัวอย่างการใช้นาโนเทคโนโลยีนั้น
ก็มีความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ ที่จะพัฒนานาหุ่นยนต์
ที่จะสามารถกำหนดเป้าหมายเฉพาะส่วนในร่างกายของผู้ป่วย เพื่อรักษาและใช้ยาเฉพาะจุดได้
ซึ่งบางรายเชื่อว่าจะสามารถทำได้ใน 10-20 ปีข้างหน้า นอกจากนี้
ยังมีเทคโนโลยีด้านยา (Drug Discovery Technology) ซึ่งประเทศไทยเอง
ก็มีความพร้อมจากความหลากหลายของพืชสมุนไพรท้องถิ่น ดังนั้นหากใช้งานวิจัยและพัฒนาเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น
ก็อาจนำไปสู่การสร้างยาตัวใหม่ๆ ออกมา เฉพาะที่ได้จากสมุนไพร (Local Plant)
ขณะที่ นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ
กองทุนพัฒนานวัตกรรม (กพน.) กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยแล้ว
งานด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (ไลฟ์ไซน์ :
LifeScience) ที่น่าส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ในระยะแรกน่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมด้านอาหารและสมุนไพร
เนื่องจากมีความได้เปรียบในฐานะแหล่งผลิตอาหาร และสมุนไพรอยู่แล้ว โดยในส่วนของ
กพน. มีนโยบายชัดเจน ที่จะเน้นดำเนินการเชิงรุก และเข้าไปร่วมกับภาคเอกชน
เพื่อหาโจทย์และคำตอบร่วมกันสำหรับพัฒนาสิ่งใหม่ ที่สามารถนำไปใช้เชิงพาณิชย์
มีความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีและการตลาด รวมถึงสนับสนุนการเงินที่เป็นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยและดอกเบี้ยต่ำ
ตลอดจนเงินอุดหนุนและเงินร่วมทุน ทั้งนี้ กพน. เป็นกองทุนของภาครัฐที่จัดตั้งขึ้นตามมติ
ครม. สิงหาคม 2541 โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง
3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกระทรวงการคลัง ปัจจุบันในแผนดำเนินการ 5 ปี 2545-2549 ได้รับงบประมาณ 1,420 ล้านบาท
เปิดโครงการตัวอย่าง
ปัจจุบัน
กพน. เริ่มเข้าไปสนับสนุนการลงทุนให้กับผู้ประกอบการ ในกลุ่มไลฟ์ไซน์บ้างแล้ว
ได้แก่ โครงการนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากอาหารที่เป็นธัญพืช ของบริษัท
แม็คโครฟู้ดเทค จำกัด ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับธัญพืช โดยเฉพาะข้าว ทางด้านการสนับสนุนนั้น
กพน. เน้นประสานให้เกิดผลงานวิจัย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพชัดเจนตลอดจนสนับสนุนข้อมูลจากการศึกษาวิจัยเบื้องต้น
ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม โครงการดังกล่าวจะมุ่งผลิตอาหารเสริมสุขภาพชนิดใหม่จากธัญพืช
โดยมีข้าว ข้าวโพด และถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตโดยในกระบวนการผลิตจะใช้กระบวนการไฮโดรไลซิส
(hydrolysis) ด้วยอุณหภูมิและความดันสูง เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลของสารจำพวกพอลิแซคคาไรด์
และเปปไตด์ และได้สารสำคัญชนิดใหม่ เรียกว่า โพลีแซคคาไรด์เปปไตด์ (polysaccharide
peptide : PSP) จากผลทางเภสัชวิทยาของ PSP จะทำให้เกิดผลดีต่อร่างกาย
ที่ช่วยชะลอความแก่ ช่วยทำให้มีอายุยืนยาว
และช่วยในการป้องกันและบรรเทาอาการของโรคทางระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์
และโรคที่มีปัญหาเนื่องมาจากภาวะโภชนาการที่ไม่เหมาะสม" นายศุภชัย กล่าว
สำหรับโครงการนี้
กพน.ให้ทุนสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ 500,000 -600,000 บาท ขณะที่การลงทุนรวมทั้งโครงการ
อยู่ในระดับ 50-60 ล้านบาท โดยบริษัทระดมเงินกู้ประมาณ 20 ล้านบาท จากแหล่งทุนอื่น เข้ามาสนับสนุนด้วย และปัจจุบันเริ่มส่งผลิตภัณฑ์จากการวิจัย
และพัฒนาออกสู่ตลาดต่างประเทศแล้ว
ดึงคลัสเตอร์หนุนตลาดสมุนไพร
เขา กล่าวต่อว่า ส่วนของโครงการด้านสมุนไพรนั้น
มีโครงการพัฒนาการผลิตสมุนไพร "ไพล" ให้เป็นน้ำมันหอมระเหย
โดยใช้หลักการดำเนินงาน ความร่วมมือแบบคลัสเตอร์ มี 4 บริษัทเอกชนเข้าร่วมที่เชื่อมโยงตั้งแต่การสกัด,
การทำสูตร การทำบรรจุภัณฑ์และการตลาด รวมถึงด้านวิชาการจาก 5 มหาวิทยาลัย "แม้ปัจจุบันยังมีมูลค่าตลาดประมาณ
200 ล้านบาท แต่ถ้าหากเพิ่มการวิจัยและพัฒนาสร้างนวัตกรรม ก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้นเป็น
200,000 ล้านบาทได้" นายศุภชัย
กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาการผลิตสารสกัดที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพจากใช้ว่านชักมดลูก
และกระชายดำ ที่มีฤทธิ์การควบคุมฮอร์โมน ให้เป็นอาหารเสริมสร้างศักยภาพทางเพศ (Natural Viagra) อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า ประเทศไทยยังขาดความพร้อม สำหรับการคิดค้น และพัฒนายาตัวใหม่
เนื่องจากงานวิจัยและพัฒนาด้านนี้ ต้องใช้งบประมาณโดยเฉลี่ยต่อตัวยาสูงมากถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ต่อยอดงานไบโอเทค
นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในโครงการ "ผลิตชุดตรวจวินิจฉัยโรคทางการแพทย์"
ของบริษัท อินโนวา ไบโอเทคโนโลยี จำกัด
ซึ่งเป็นบริษัทใหม่ด้านเทคโนโยีชีวภาพ ที่นำเอางานวิจัยและพัฒนาของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
(ไบโอเทค) มาต่อยอดเชิงพาณิชย์
โดยใช้เทคโนโลยี immunochromatography มาผลิตชุดตรวจโรคไวรัสตับอักเสบบี,
ซี และตรวจเชื้อเอชไอวี รวมถึงชุดตรวจหายาบ้า ซึ่งสามารถได้ผลลัพธ์ภายใน
5-10 นาที โดย กพน. สนับสนุนโครงการนี้ในรูปแบบการให้เงินอุดหนุนที่ต้องชำระคืน
จำนวน 3,500,000 บาท
ซึ่งปัจจุบันบริษัทสามารถสร้างชื่อยี่ห้อ "อินโนวา"
และขยายตลาดส่งออกไปยังภูมิภาคนี้
ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ราคาถูกกว่าต่างประเทศ ประมาณ 50%
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 6 มกราคม 2546
|