ญี่ปุ่น-เกาหลี-ไต้หวัน ทุ่ม "นาโน" แสน ล.! ไทยตั้งเป้าพัฒนาธุรกิจใหม่ 300 บริษัท
รายงานพิเศษ
ตามที่
"ประชาชาติธุรกิจ" ได้นำเสนอในฉบับที่แล้วว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนถ่ายจากยุคเทคโนโลยีสารสนเทศสู่ยุคนาโนเทคโนโลยี
และส่วนใหญ่เส้นทางการพัฒนานาโนเทคโนโลยีของแต่ละประเทศยังอยู่ในยุคที่ 1 ที่เรียกว่าเป็นยุคของการสร้างตัวต่อ
สร้างความเข้าใจในเชิงโครงสร้างระดับอะตอม หรือเป็นยุคของการพัฒนาวัสดุนาโน แต่เมื่อลงลึกถึงความสามารถและการพัฒนาในรายประเทศ
จะเห็นได้ว่าหลายประเทศ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ กำลังเข้าสู่ยุคที่ 2
ซึ่งเป็นการบูรณาการวัสดุนาโน เช่น ท่อนาโน
ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมถึง 1 แสนเท่า ไปสร้างเป็นจักรกลนาโนประเภทต่างๆ
ทั้งในด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์และ นาโนชีวภาพ ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมที่เพิ่มมูลค่า
อย่างการผลิตไบโอชิป ชุดตรวจเชื้อมาลาเรีย เซลล์แสงอาทิตย์ กระทั่งสารสกัดสมุนไพร
ก่อนที่สามารถก้าวไปสู่ยุคที่เป็นยุคนาโนอย่างแท้จริง อันหมายถึงว่าสามารถควบคุมอะตอมได้ในระดับภาคการผลิตซึ่งจะสามารถผลิตวัสดุนาโนหรืออุปกรณ์ต่างๆ
ได้ในปริมาณที่มาก รวมทั้งจะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างระบบยานนำวิถี
ซึ่งมีเซ็นเซอร์ที่สามารถวัดระดับสารในกระแสเลือดและคอยจ่ายยาเมื่อร่างกายต้องการ หรือสามารถส่งยาไปรักษาเฉพาะจุดในร่างกาย
รวมถึงการผลิตคอมพิวเตอร์จาก ดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กซึ่งมีความเร็วสูงออกสู่ตลาด
ว่ากันว่าจะมาถึงในอีกไม่เกิน 20 ปีข้าง หน้า !!
ไอบีเอ็ม-ซัมซุง ทุ่มลงทุน
ในหนังสือ "นาโนเทคโนโลยี
นวัตกรรมจิ๋วปฏิวัติโลก" ที่เขียนโดย มาร์ก แรตเนอร์ นักวิทยาศาสตร์รางวัลเฟย์แมน
สาขานาโนเทคโนโลยี ในปี 2001 และ เดเนียล รอตเนอร์ นักธุรกิจในแวดวงไฮเทค
ที่แปลเป็นไทยโดย รอฮีม ปรามาท กล่าวถึงนาโนเทคโนโลยีในตอนหนึ่งว่า "ลองนึกถึงชิปขนาดจิ๋วสารพัดประโยชน์ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่สามารถให้ข้อมูลได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นหีบห่อพัสดุหรือหนังสือในห้องสมุดไปจนถึงอัญมณี
ทำให้ทราบขั้อมูลได้ในเวลาที่รวดเร็ว กลไกผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ประสิทธิภาพสูงราคาถูกและไม่เปลืองเนื้อที่ติดตั้ง
สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นไฮเทคขั้นสูงสุด" และสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป
ความมหัศจรรย์และคุณสมบัติพิเศษของนาโนเทคโนโลยีนี้เองทำให้ไม่เพียงแต่ภาครัฐ แหล่งเงินทุนอื่นๆ
ต่างสนใจลงทุนในด้านนาโนเช่นเดียวกัน
ดร.อนุสร เตือนตรานนท์
นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า
เมื่อพิจารณาตัวเลขการลงทุนใหม่ในขณะนี้มีข้อมูลน่าสนใจว่า ตั้งแต่ปี
2001-2002 เวนเจอร์ แคปิตอล หรือการร่วมลงทุนในกิจการใหม่ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง
ลดการลงทุนในด้านเทคโนโลยีทั้งหมด แต่กลับไปเพิ่มขึ้น 200-300% ในสาขา นาโนเทคโนโลยี โดยเฉพาะในด้านอิเล็กทรอนิกส์ และไบโอเทค โดยบริษัทที่ลงทุนด้านนาโนมากที่สุดคือ
ไอบีเอ็ม รองลงมาคือ บริษัทซัมซุง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะวันนี้เอเชียก็สามารถยืนเทียบเคียงกับภูมิภาคอื่นๆ
ของโลกได้ และข้อมูลล่าสุดยังระบุด้วยว่า ภายในปี 2010 90% ของนักวิทยาศาสตร์ที่ทำวิจัยเรื่องนาโนเทคโนโลยีจะเป็นคนเอเชีย
โดยญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีการลงทุนสูงสุด รองลงมาคือ เกาหลีและไต้หวัน ซึ่งแค่ 3
ประเทศมีการลงทุนรวมถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี วิจัยและพัฒนาสินค้าโดยมุ่งพัฒนาสินค้านาโนเทคโนโลยีชีวภาพ
19% รองลงมาเป็นโครงสร้าง นาโน 18% MEMS 14% ผงนาโน 13% ธุรกิจที่ปรึกษา 2% และกระบวนการนาโน 1%
กีฬา-เภสัชกรรม มาแรง
สำหรับอุตสาหกรรมที่เป็นเสมือนอุตสาหกรรมที่บุกเบิกในนาโนเทคโนโลยีอยู่ในวงการคอมพิวเตอร์
ไม่เพียงแต่ไมโครชิปจิ๋ว คอมพิวเตอร์มหัศจรรย์แบบควอนตัมและคอมพิวเตอร์ระดับโมเลกุลที่มีเพียงหน่วยความจำแต่มีความจุมหาศาล
ในอนาคตว่ากันว่าอาจจะมีโอกาสได้เห็นจอแสดงผลไฮเทคที่คมชัดมากกว่าจอแอลซีดี หรือกระดาน
ดิจิทัล ที่เก็บข้อมูลหรือหนังสือได้เป็นจำนวนมาก ขณะที่อุตสาหกรรมที่สามารถรับเทคโนโลยีใหม่ได้รวดเร็วอีกประเภทคือ
วงการกีฬา ทั้งคาร์บอนไฟเบอร์และกราไฟต์ กำลังเข้าสู่ยุคของคาร์บอน นาโนทูบ ที่สามารถสร้างอุปกรณ์กีฬาให้แข็งแรงกว่าเดิมและน้ำหนักเบากว่าเดิม
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่นาโนเทคเข้าไปมีบทบาทมากอีกอุตสาหกรรมได้แก่ เภสัชกรรม
ถึงขนาดที่ว่ากำลังจะทำให้สินค้าเภสัชกรรมกลายเป็นสินค้าทั่วไป เครื่องตรวจวัดทางการแพทย์ที่มีความสะดวกรวดเร็ว
ใช้ง่าย ราคาถูก และไม่นานจากนี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าจะมีเครื่องตรวจโรคร้าย
เช่น เอดส์ วางขายในท้องตลาด
เมื่ออุตสาหกรรมในแวดวงคอมพิวเตอร์ในด้านนาโนเทคทำให้หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการเทงบประมาณเต็มที่ในการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทค
อยู่ในระดับต้นๆ ของบริษัทที่เป็นผู้นำในด้านนาโนเทค อย่างไอบีเอ็มที่มีนวัตกรรมหน่วยความจำในระดับนาโนที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก
เอชพีมีการพัฒนานวัตกรรมโมเลคิวลาร์ เม็มโมรี่ ด้านบริษัทชาติเอเชียก็ไม่น้อยหน้า อย่างฮิตาชิ
อิเล็กตรอนเดี่ยวซึ่งเป็นกลไกเกี่ยวกับสำหรับหน่วยความจำ ฟูจิ คอมพิว เตอร์ความเร็วสูง
มิตซูบิชิ แมสโปรดักต์ที่ทำจากคาร์บอน ฟูลลารีน โมเลกุล มิตซุย แมสโปรดักต์
ทำจากคาร์บอนนาโนทิว บริษัทอาซาฮี กลาส ที่สามารถผลิตกระจกที่ทำความสะอาดตัวเอง
ปรากฏการณ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งในปัจจุบัน มีบริษัทธุรกิจใหม่ซึ่งเป็นบริษัทขนาดเล็กซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่ทำโปรดักต์เกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยีล้วนๆ
คล้ายๆ กับบริษัทขนาดเล็กที่พัฒนาซอฟต์แวร์ในอดีต บริษัทด้านนาโนเทคโน โลยีที่ว่า เช่น
คาร์บอน นาโนเทคโนโลยี ที่ผลิตท่อนาโนโดยเฉพาะเอ็นทีร่า บริษัทผลิตกระดาษด้วยเทคโนโลยีนาโน
บริษัทโรเร็คคูร่า อิมพรินต์ ที่ผลิตโซลูชั่นระดับสูงในการพัฒนาด้านการพิมพ์ ฯลฯ
ไทยตั้งเป้าพัฒนาธุรกิจใหม่ 300 บริษัท
ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณะวิทยาศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากที่เคยได้มีโอกาสไปดูงานที่ไต้หวัน
เขามีบริษัทเล็กๆ ที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อมาพัฒนานาโนโดยเฉพาะ เช่น
พัฒนาในเรื่องหมึกพิมพ์อิงก์เจ็ต ที่มีความละเอียดสูงมากๆ และทำส่งบริษัทผู้ผลิตพรินเตอร์หลายราย
อย่างไรก็ตาม โอกาสทางธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักวิชาการในแวดวงนาโนเทคโนโลยีได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ
โดยในร่างแผนแม่บทการพัฒนานาโนเทคโน โลยีแห่งชาติก็มีเป้าหมายในการพัฒนาเรื่องนี้อย่างชัดเจน
โดยคาดว่าจะในอีก 10 ปีข้างหน้าไทยจะสามารถสร้างและพัฒนาธุรกิจใหม่ไม่ต่ำกว่า
300 บริษัท และจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุน
เกิดผลผลิต การจ้างงาน และสร้างตลาดให้กับผู้วิจัยและพัฒนา ได้แก่ พลังงานรูปแบบใหม่ที่สะอาดและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ได้แก่ เซลล์แสงอาทิตย์จากสารอินทรีย์และท่อนาโนคาร์บอน เซลล์เชื่อเพลิงที่มีสารเร่งปฏิกิริยาในรูปของผงนาโน
และท่อคาร์บอนขนาดนาโนเพื่อเก็บก๊าซเชื้อเพลิงปริมาณมากในขนาดการบรรจุน้อยๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการก้าวกระโดดของอุตสาห
กรรมใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง หรือการพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคที่จะสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาธุรกิจใหม่
รวมถึงกาารพัฒนานาโนเทคโนโลยีในระยะยาว เช่น อุปกรณ์วัดและตรวจโรคทางพันธุกรรม
ยาที่ออกแบบตามความต้องการ อุปกรณ์นำส่งยาเฉพาะจุด
เซลล์จำลองชิ้นส่วนทางอิเล็กทรอนิกส์ เนื้อเยื่ออวัยวะเทียม ที่สำคัญการสร้างธุรกิจใหม่จะทำให้ไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
โดยจะขยับเข้าสู่การเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 31
ในกลุ่มประเทศ OECD (Organization for Economic Co-operation and
Development)
ขณะนี้มีงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ไทยจำนวน 67 โครงการเรียงคิวเตรียมดำเนินการได้ทันทีหากได้รับงบประมาณสนับสนุน รวมทั้งการเตรียมตัวเปิดหลักสูตรปริญญาตรีนาโนเทคโนโลยีของทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในอีกไม่นานนี้ ไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเข้ายุคนาโนเทคโนโลยี
มิฉะนั้นอาจตกขบวนของเทคโน โลยีใหม่ที่มาเร็วและแรงจนยากที่จะตามชาวบ้านทัน !!!
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 8 กรกฎาคม 2547
|