เสนอครม.ทุ่มงบฯหมื่นล.ปั้นไทยสู่ไฮเทค พัฒนา "นาโนเทคโนฯ" สร้างรายได้แสนล.

เปิดแผนแม่บทการพัฒนานาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ทุ่มงบฯ 1.3 หมื่นล้านปั้นไทยเป็น 1 ใน 4 ผู้นำเอเชีย สร้างรายได้ 1.3 แสนล้าน หรือ 1% ของจีดีพี มุ่งพัฒนาวัสดุนาโนเทคโนโลยี นาโนชีวภาพ และนาโนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ สิ่งทอ เกษตรและอาหาร โอท็อป การแพทย์ และสิ่งแวดล้อม


รศ.ดร.สุพจน์ หาญหนองบัว รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ 1 ในคณะทำงานร่างแผนแม่บทการพัฒนานาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แผนแม่บทนาโนฯได้ดำเนินการแล้วเสร็จมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่เนื่องจากมีเรื่องเร่งด่วนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาก ทำให้การเสนอแผนแม่บทนาโนเทคโน โลยีต่อ ครม.ต้องเลื่อนไประยะหนึ่ง แต่ตนเชื่อว่าน่าจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีได้เร็วๆ นี้ โดยแผนดังกล่าวจะใช้เป็นการกำหนดกรอบยุทธศาสตร์และทิศทางในการพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศในช่วง 10 ปี ระหว่างปี 2547-2556

เนื่องจากนาโนเทคโนโลยีเป็นของใหม่ที่ต้องใช้การวิจัยและการพัฒนาและต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานในการวิจัยขั้นสูง รวมทั้งทรัพยากรของประเทศไทยมีจำกัด ทำให้ไทยจะต้องจัดลำดับความสำคัญและเลือกลงทุนในสาขาที่เฉพาะเจาะจง (niche areas) โดยจะมุ่งเน้น 3 ด้าน คือ วัสดุนาโน (nanomaterials) เทคโนโลยีนาโนชีวภาพ (nanobiotechnology) และนาโนอิเล็กทรอนิกส์ (nanoelectronic) โดยจะแบ่งการพัฒนาออกเป็น 7 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสาร ยานยนต์ เคมี ปิโตรเคมีและสิ่งทอ เกษตรและอาหาร สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ สุขภาพและการแพทย์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมจะเน้นการลงทุนในกลุ่มผลิตภัณฑ์พัฒนาเจาะจง 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ในด้านเซ็นเซอร์ อุปกรณ์นาโนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ในระบบนำส่งยาและสารสกัดสมุนไพร วัสดุเคลือบนาโน วัสดุดูดซับกรอง และตัวเร่งปฏิกิริยา และกลุ่มวัสดุสาร ประกอบแต่ง

ด้าน รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงค์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนานาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า เป้าหมายหลักของการพัฒนาตามร่างแผนแม่บทการพัฒนานาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ มุ่งให้ไทยผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้นาโนเทคโนโลยีคิดเป็น 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มูลค่าประมาณ 130,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี และช่วยยกระดับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคนไทยให้อยู่ในระดับมาตรฐานโลกด้วยนาโนเทคโนโลยี โดยการพัฒนาวัสดุ อุปกรณ์ และระบบการแพทย์ ไม่น้อยกว่า 20 รายการ รวมทั้งตั้งให้ไทยอยู่ในระดับแกนนำของการศึกษาและวิจัยนาโนเทคโนโลยีของภูมิภาคอาเซียน "การจะไปถึงเป้าหมายได้นั้นจะต้องกำหนดงบประมาณในการลงทุนจากภาครัฐ 9,100 ล้านบาท ใน 10 ปี ดูเหมือนว่าตัวเลขดังกล่าวจะมาก แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้หากรัฐบาลยังคงบัญชีสมดุล" รศ.ดร.ปริทรรศน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งบประมาณที่ได้กำหนดไว้ในแผนแม่บทการพัฒนานาโนฯจำนวน 9,100 ล้านบาท คิดเป็น 70% ของงบฯการลงทุนทั้งหมด แต่อีก 30% จะเป็นงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนประมาณ 3,900 ล้านบาท รวมใน 10 ปีคาดว่าจะมีการลงทุนในการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีในไทยมูลค่ารวม 13,000 ล้านบาท

ในแผนยังกำหนดสัดส่วนในการลงทุนออกเป็น 3 ส่วน 1.การลงทุนการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิม เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ เซรามิก 40% 2.การพัฒนาโดยใช้นาโนเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้เข้มข้นมูลค่าเพิ่มสูง และขยายตลาดเพิ่มเติม โดยยกระดับอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น ไบโอชิป เซลล์แสงอาทิตย์ 40% 3.การสร้างและสั่งสมองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาและการแข่งขันของอุตสาหกรรมในอนาคตซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนานานถึง 10 ปี หรือมากกว่านั้น เช่น ระบบส่งยา 20%

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจำเป็นจะต้องดึงดูดทรัพยากรจากต่างประเทศ โดยการกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านนาโนเทคโนโลยีที่ชัดเจนโดยให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ใช้นาโนเทคโนโลยีในการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายหลักของประเทศ และผลักดันให้เกิดกลุ่มบริษัทนาโนเทคโนโลยีในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั้งในและนอกประเทศ และรัฐบาลจำเป็นที่ต้องพัฒนาบุคลากรอย่างเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันในไทยมีบุคลากรด้านนี้เพียง 200 คน ในกลยุทธ์จึงตั้งเป้าที่จะพัฒนาบุคลากรวิจัยรวมนาโนเทคโนโลยีให้ได้ถึง 2,500 คน อาทิ ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยต่างๆ สร้างหลักสูตรร่วมกันในด้านนาโนเทคโนโลยีในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก

นอกจากนี้ ยังต้องมีการทำงานโดยใช้เครือข่ายวิสาหกิจแบบหลายมิติ ทั้งด้านวิชาการ ธุรกิจ และการลงทุน เพื่อสามารถนำจุดแข็งของแต่ละมิติมาเสริมสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พอเพียงในลักษณะคลัสเตอร์ โดยกำหนดเครือข่ายออกเป็น 7 กลุ่มหลัก กลุ่มอาหาร กลุ่มสุขภาพ กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม กลุ่มพัฒนาสินค้าโอท็อป กลุ่มยานยนต์ กลุ่มไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มสิ่งทอ และสร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชน โดยสร้างศูนย์วิจัยเครือข่ายในมหาวิทยาลัยในประเทศและสนับสนุนให้เกิดการวิจัยร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน รวมทั้งสร้างเครือข่ายการวิจัยระหว่างประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม หากจะพิจารณาถึงงบประมาณในการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีตามแผนแม่บทในการพัฒนานาโนเทคโนโลยีของไทยแล้วอาจถือได้ว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศทั่วโลก เฉพาะในปี 2546 สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ใช้งบประมาณในการพัฒนานาโนเทคโนโลยีราว 2-3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ประเทศในเอเชียก็ลงทุนมากเช่นกัน ไต้หวันกำหนดให้มีการลงทุน 25,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2546 เกาหลีลงทุน 80,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2544 จีนลงทุน 10,000-12,000 ล้านบาท ในเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2544 สิงคโปร์ลงทุน 600 ล้านบาท ในปี 2546 และมาเลเซียลงทุน 10,400 ล้านบาท ในเวลา 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2544

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.