ไมโครซอฟท์เผยซอร์สโค้ดให้รัฐบาลตรวจสอบ

ไมโครซอฟท์ เปิดโครงการใหม่ "กอฟเวิร์นเม้นท์ ซีเคียวริตี้" เล็งเผยซอร์สโค้ดระบบปฏิบัติการวินโดว์สให้ผู้เชี่ยวชาญของหน่วยงานรัฐบาลได้เข้าตรวจสอบเป็นครั้งแรก พร้อมระบุเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการใช้งานโปรแกรมยอดนิยมตัวนี้ ขณะที่คู่แข่งชี้เป็นโครงการที่ดีแต่มีข้อเสียคือ ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้

 

หนังสือพิมพ์ เดอะวอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า รัสเซีย และนาโต (NATO) ได้ลงนามเข้าร่วมโครงการใหม่ของบริษัทไมโครซอฟท์ "กอฟเวิร์นเม้นท์ ซีเคียวริตี้" ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของวินโดว์สลง ด้วยการยินยอมให้ผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลสามารถตรวจดูซอร์ส โค้ด หรือคำสั่งต้นฉบับที่ใช้ในการสร้างโปรแกรมได้ ภายใต้ความพยายามครั้งใหม่นี้ หน่วยงานรัฐบาลจะทำการแก้ไขโปรแกรมวินโดว์สได้อย่างจำกัด ส่วนใหญ่จะเป็นการใส่เทคโนโลยีการสร้างรหัสลับของตนเข้าไป อย่างไรก็ดี เมื่อปี 2544 ไมโครซอฟท์ได้เปิดโครงการ "แชร์ โค้ด" ซึ่งมีเงื่อนไขเข้มงวด เพื่อช่วยให้มหาวิทยาลัย และลูกค้าระดับบริษัท สามารถตรวจสอบซอร์ส โค้ด ของโปรแกรมวินโดว์สได้ แนวคิดริเริ่มนี้ มีขึ้นในช่วงที่ไมโครซอฟท์ล็อบบี้และรณรงค์สาธารณะ เพื่อขัดขวางไม่ให้หน่วยงานรัฐบาล ทั้งในสหรัฐ และต่างประเทศ ใช้ซอฟต์แวร์ "โอเพ่น-ซอร์ส" โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบปฏิบัติการลินิกซ์ ซึ่งสามารถแก้ไข และเปลี่ยนแปลงซอร์สโค้ดได้

 

ตัวแทนไมโครซอฟท์ ยอมรับว่า ปัจจุบัน หน่วยงานรัฐบาลหลายแห่งให้ความสนใจซอร์สโค้ดซอฟต์แวร์มากขึ้น เมื่อปีที่ผ่านมา สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Ageny) ได้พัฒนาลินิกซ์รุ่นความปลอดภัยสูง และนำออกเผยแพร่บนเวบไซต์ของหน่วยงานเพื่อเปิดให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดได้ฟรี นอกจากนี้ในแถลงการณ์ ไมโครซอฟท์ ยังอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ทางการรัสเซียรายหนึ่งว่า เนื่องจากไม่ค่อยมีการเปิดเผยซอร์ส โค้ด กันอย่างแพร่หลาย ประกอบกับมีข้อจำกัดทางด้านเทคนิค ส่งผลให้รัฐบาลแห่งนี้ตั้งใจจะใช้สินค้าของไมโครซอฟท์แทน "ทางเราจะพยายามจัดป้อนซอร์สโค้ดพร้อมข้อมูลทางเทคนิคเพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของแพลตฟอร์มวินโดว์สให้กับรัฐบาลต่างๆ" นายซาลาห์ ดันดัน ผู้ดูแลโครงการกอฟเวิร์นเม้นท์ ซีเคียวริตี้ ของไมโครซอฟท์ กล่าว นอกจากจะตรวจสอบซอร์สโค้ดได้แล้ว หน่วยงานรัฐบาลซึ่งเข้าร่วมโครงการใหม่ของไมโครซอฟท์ ยังจะเข้าถึงรายละเอียดทางเทคนิคได้มากขึ้น รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักพัฒนาโปรแกรมของไมโครซอฟท์ในเมืองเรดมอนด์ มลรัฐวอชิงตันได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

 

ด้านคู่แข่งไมโครซอฟท์ ชมเชยโครงการดังกล่าวว่า เป็นการก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ติงว่า ข้อจำกัดในการแก้ไขวินโดว์สจะทำให้ความน่าสนใจลดลง "โครงการกอฟเวิร์นเม้นท์ ซีเคียวริตี้ เป็นโครงการที่ดีเช่นเดียวกับโครงการแชร์ ซอร์ส แต่มีข้อเสียคือ ดูได้อย่างเดียวห้ามแก้ไขเปลี่ยนแปลง" นายมาร์ค เดอ วิสเซอร์ รองประธานฝ่ายการตลาดบริษัทเรด แฮท อิงค์. กล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 มกราคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.