ไมโครซอฟท์เล็งลดราคาซอฟต์แวร์ สู้กระแสโอเพ่นซอร์ส
ไมโครซอฟท์ รับกระแสนิยม โอเพ่นซอร์ส
สะเทือนยอดขายบริษัท ครวญระบบปฏิบัติการเปิด ไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่าย
ด้านการพัฒนา พร้อมคาด ต้องปรับลดราคาซอฟต์แวร์แข่ง ชี้คดีฟ้องร้อง-ภาวะสงคราม
เป็นปัจจัยเสี่ยง ขณะที่ประกาศเปิดตัว ระบบงานซ่อมแซมรูโหว่ เวิร์มสแลมเมอร์
สำนักข่าวซีเน็ต รายงานว่า บริษัทไมโครซอฟท์
คอร์ป. ได้ระบุในหนังสือรายงาน ซึ่งยื่นต่อคณะกรรมาธิการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐว่า
ความสำเร็จของซอฟต์แวร์สาธารณะอาจทำให้ยอดขายของบริษัทลดลง ส่งผลให้ทางบริษัทอาจต้องปรับลดราคาสินค้า
ขณะที่คาดว่ารายได้และส่วนต่างผลกำไรจะลดลงเป็นผลต่อเนื่อง นอกจากนี้
รายงานดังกล่าวยังได้แสดงแผนภาพ ซึ่งเปรียบเทียบให้เห็นว่า ในการพัฒนาซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์นั้น
บริษัทเอกชนแต่ละแห่งต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด และวางจำหน่ายสินค้าในอัตราที่สามารถสร้างผลกำไรได้
ในขณะที่การผลิตซอฟต์แวร์สาธารณะอาศัยความร่วมมือจากโปรแกรมเมอร์อิสระทั่วโลก ซึ่งทำให้สามารถจำหน่ายซอฟต์แวร์และทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้
ให้แก่ผู้บริโภคโดยแทบไม่มีภาระค่าใช้จ่ายใดๆ
โดยปกติแล้ว ผู้ประกอบการต่างๆ จะต้องระบุถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทในรายงานที่ยื่นต่อคณะกรรมาธิการหลักทรัพย์อยู่เสมอ
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ไมโครซอฟท์กล่าวถึงประกอบด้วย การไต่สวนคดีทางกฎหมาย, แนวโน้มที่ผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทอาจไม่สามารถทำกำไรได้
และ "ความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับภูมิศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจ" ในรายงานยังประเมินผลกระทบที่บริษัทอาจได้รับ
หากหน่วยงานรัฐบาลบางแห่งเปลี่ยนไปใช้ซอฟต์แวร์เปิด โดยขณะนี้ ประเทศแอฟริกาใต้ได้หันไปสนับสนุนเทคโนโลยีดังกล่าว
ขณะที่รัฐบาลเยอรมนีมีนโยบายว่าจ้างบริษัทเอกชนหลายแห่ง ให้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับโปรแกรมอีเมล
เอาท์ลุค และโปรแกรมสื่อสาร เอ็กซ์เชนจ์ ของไมโครซอฟท์
ไมโครซอฟท์ ระบุว่า ผลกระทบจากระบบปฏิบัติการเปิดไม่ได้จำกัดอยู่เพียงนโยบายด้านการเงินเท่านั้น
แต่ยังส่งผลให้บริษัทต้องเปิดเผยรหัสโปรแกรมที่ใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตน โดยปัจจุบันไมโครซอฟท์ได้เปิดเผยซอร์สโค้ดให้แก่รัฐบาลรัสเซีย
และรัฐบาลอังกฤษแล้ว ขณะเดียวกัน ยักษ์ใหญ่วงการซอฟต์แวร์เมืองเรดมอนด์แห่งนี้ ได้ประกาศเปิดให้บริการดาวน์โหลดระบบงานรักษาความปลอดภัยฐานข้อมูลเวอร์ชั่นใหม่
3 ตัว
เพื่อซ่อมแซมข้อบกพร่องจากการโจมตีของเวิร์มสแลมเมอร์
โปรแกรมดังกล่าว ประกอบด้วย "เอสคิวแอล
เซอร์ฟเวอร์ 2000 เอสคิวแอล สแกน ทูล" (SQL
Server 2000 SQL Scan Tool), โปรแกรม "เอสคิวแอล
เช็ค" (SQL Check) และโปรแกรม "เอสคิวแอล คริติคัล อัพเดท" (SQL Critical Update) สำหรับสแกนหาข้อบกพร่องและซ่อมแซมรูโหว่ในเครื่องแม่ข่ายเอสคิวแอล และคอมพิวเตอร์บุคคลที่เชื่อมต่อกับเครื่องแม่ข่ายดังกล่าว
ทั้งนี้ ไวรัสสแลมเมอร์ เริ่มโจมตีคอมพิวเตอร์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยอาศัยรูโหว่ในฐานข้อมูลเครื่องแม่ข่ายเอสคิวแอลของไมโครซอฟท์
เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา หลังจากนายบิล เกตส์
ประธานกรรมการบริหารไมโครซอฟท์ ส่งบันทึกถึงลูกค้า
เน้นย้ำว่าบริษัทประสบความสำเร็จอย่างมาก ในปีแรกของการดำเนินงานตามโครงการ "เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อถือได้" (Trusworthy Computing
initiative) เพียงวันเดียว และก่อให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่ารวมราว
1,000 ล้านดอลลาร์ทั่วโลก ในช่วงระยะการโจมตีเพียง 5 วัน
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2546
|