จีนควง "ไมโครซอฟท์-เอชพี" ผุดแล็บซอฟต์แวร์
ค่ายไอทีสหรัฐ พาเหรดบุกทำตลาดแดนมังกร
ล่าสุดเอชพี-ไมโครซอฟท์ จรดปากกาสนับสนุนโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จีน ผู้ผลิตพีซีอันดับหนึ่งหนุนจัดตั้งห้องปฏิบัติการลินิกซ์
ส่วนยักษ์ใหญ่วงการซอฟต์แวร์โลก ไม่น้อยหน้าดอดเจรจากระทรวงอุตสาหกรรมข้อมูลสร้างแล็บวินโดว์ส.เน็ต
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า บริษัทฮิวเลตต์-แพคการ์ด (เอชพี) ได้ทำสัญญาร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมข้อมูลของจีน
เพื่อจัดตั้งห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ลินิกซ์
ตามโครงการนโยบายบริการสาธารณะของประเทศ โดยห้องปฏิบัติการดังกล่าว จะเน้นการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่น-ซอร์ส ทดสอบและออกใบรับรอง เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในจีน
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 3 ปีของข้อตกลงดังกล่าว เอชพี จะสนับสนุนซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์
ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องแม่ข่ายระดับบน และการเชื่อมต่อเครือข่าย คิดเป็นมูลค่า 23.8 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ในการสร้างห้องปฏิบัติการดังกล่าว
ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรมข้อมูล
ยังบรรลุข้อตกลงกับไมโครซอฟท์ เพื่อก่อตั้งห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีบนวินโดว์ส.เน็ต (Windows.Net)
ตามนโยบายบริการวงจรรวม (ไอซี) และซอฟต์แวร์แห่งชาติ โดยยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์ จากเมืองเรดมอนด์
รัฐวอชิงตันแห่งนี้ จะร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในจีนและต่างประเทศ เพื่อสร้างห้องปฏิบัติการดังกล่าว
และให้บริการกับบริษัทซอฟต์แวร์ขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในจีน
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เอชพี
ประกาศความร่วมมือกับบริษัทเรด แฟลก ลินิกซ์ ของรัฐบาลจีน โดยตามข้อตกลงดังกล่าว
เอชพี จะนำระบบปฏิบัติการเรด แฟลิก เซิร์ฟเวอร์ 4 ซีรีส์ (Red Flag
Server 4 series) มาใช้ในเครื่องแม่ข่ายตระกูลโปรไลอันท์
(ProLiant) และอินทิกริตี้ (Integrity) ของตัวเอง
ขณะที่เรด แฟลก จะควบคุมคุณภาพการผลิต การขายในตลาด การวิจัยแอพพลิเคชั่น การฝึกอบรมด้านบริหารจัดการ
และบริการสนับสนุนแอพพลิเคชั่นร่วมกับเอชพีด้วย
ด้านไมโครซอฟท์
หลังจากพยายามอย่างหนักตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เพื่อเข้าไปร่วมมือกับบริษัทและหน่วยงานภาครัฐของจีน
ในที่สุด ได้มีโอกาสลงทุนในธุรกิจของจีน อย่าง เซนซอฟท์ อีกทั้งยังให้เงินช่วยเหลือโครงการศึกษาท้องถิ่น
ทั้งนี้ นายสตีฟ บัลเมอร์ หัวหน้าฝ่ายบริหาร
และผู้บริหารระดับสูงของไมโครซอฟท์หลายคน ล้วนเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ของทางการจีนมาแล้วทั้งสิ้น
เช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 15 มีนาคม 2547
|