ไมโครซอฟท์ผุดซอฟต์แวร์ป้องกันทำซ้ำซีดี
ชี้แนวโน้มมุ่งธุรกิจปกป้องลิขสิทธิ์ดิจิทัล
คานส์ - ไมโครซอฟท์เปิดตัวซอฟต์แวร์ป้องกันการทำซ้ำแผ่นซีดี
ระบุใช้เทคนิคอัดไฟล์เพลงลงแผ่นเป็นชั้นๆ
ส่งผลนำไปเล่นทั้งบนพีซีและอุปกรณ์พกพาได้ พร้อมเปิดทางผู้ผลิตเพลงดัดแปลงป้องกันการอัดสำเนา
ขณะที่ประกาศอัพเดทระบบปฏิบัติการมือถือสมาร์ทโฟนเพื่อซ่อมแซมข้อบกพร่องด้านระบบความปลอดภัย
คาดวางตลาดได้ภายใน 2 สัปดาห์
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า บริษัทไมโครซอฟท์
คอร์ป. ประกาศเปิดตัวซอฟต์แวร์ป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ดิจิทัล "วินโดว์ส มีเดีย ดาต้า เซสชั่น ทูลคิต" (Windows Media Data
Session Toolkit) ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ค่ายเพลงต่างๆสามารถควบคุมการทำซ้ำซีดี
โดยไม่ได้รับอนุญาตได้
ที่ผ่านมา ปัญหาการลักลอบทำซ้ำแผ่นซีดีในกลุ่มผู้บริโภคมีอัตราแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว
ทำให้ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่พากันทุ่มงบประมาณจำนวนมาก เพื่อหาทางพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับป้องกันพฤติกรรมดังกล่าวโดยเฉพาะ
แต่อาจกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ยังคงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อาทิ แผ่นซีดีที่ออกแบบขึ้นเพื่อป้องกันการอัดเพลงจากเครื่องพีซีนั้น
จะไม่สามารถนำไปเล่นบนอุปกรณ์พกพาอื่นๆ หรือเครื่องเสียงบนรถยนต์ได้ด้วยเช่นกัน กระนั้น
ตัวแทนไมโครซอฟท์ เปิดเผยว่า ซอฟต์แวร์ตัวใหม่ของบริษัท จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถบันทึกเพลงลงบนแผ่นซีดี
ที่มีคุณสมบัติป้องกันการทำซ้ำได้ โดยอาศัยวิธีการบันทึกแบบซ้อนทับหลายชั้น โดยซอฟต์แวร์จะกำหนดให้ไฟล์เพลงบางชั้นสามารถนำไปเล่นบนเครื่องเสียงและพีซีได้ตามปกติ
นอกจากนี้ นายเดวิด เฟสเตอร์ ผู้จัดการทั่วไปแผนกสื่อบันเทิงดิจิทัลของไมโครซอฟท์
กล่าวว่า ผู้ผลิตเพลงยังสามารถดัดแปลงชั้นไฟล์เพลงสำหรับใช้เล่นบนเครื่องพีซีได้ด้วย
เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคทำซ้ำลงบนซีดีแผ่นอื่นต่อไป
บริษัทยูนิเวอร์แซล มิวสิค และอีเอ็มไอ
ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของโลกสองแห่ง ได้แสดงความสนใจต่อเทคโนโลยีนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยเปิดทางให้อุตสาหกรรมบันเทิง
สามารถผลิตแผ่นซีดีที่มีระบบป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ในตัวได้ นายเฟสเตอร์
กล่าวอีกว่า ไมโครซอฟท์ได้ใช้งบประมาณลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีจัดการลิขสิทธิ์ดิจิทัล (digital rights
management-DRM) ไปทั้งหมด 500 ล้านดอลลาร์ โดยทางบริษัทได้พัฒนาซอฟต์แวร์ดังกล่าวร่วมกับบริษัทซันน์คอมม์
เทคโนโลยีส์ ของสหรัฐ และเอ็มพีโอ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป ของฝรั่งเศส ปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีและผู้ผลิตสื่อยักษ์ใหญ่ได้หันมาลงทุนในธุรกิจพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและสื่อดิจิทัลกันเป็นจำนวนมาก
อาทิ ไมโครซอฟท์, โซนี่, ฟิลิปส์
และเรียล เน็ตเวิร์ค เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ตัวแทนไมโครซอฟท์ เปิดเผยว่า ทางบริษัทเตรียมอัพเดทระบบปฏิบัติการมือถือ
สมาร์ทโฟน 2002
(Smartphone 2002) ใหม่ เพื่อซ่อมแซมข้อบกพร่องด้านระบบความปลอดภัย ซึ่งเปิดทางให้แฮคเกอร์สามารถส่งโปรแกรมร้ายแรงเข้าโจมตีเครือข่ายโทรศัพท์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการดังกล่าวได้
อย่างไรก็ดี ไมโครซอฟท์ ยังไม่ได้เปิดเผยกำหนดเปิดตัวซอฟต์แวร์อัพเดทแต่อย่างใด ขณะที่ตัวแทนบริษัทออเร้นจ์
ผู้ให้บริการเครือข่ายที่วางจำหน่ายโทรศัพท์สมาร์ทโฟนกล่าวว่า ระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นใหม่น่าจะพัฒนาเสร็จภายใน
2 อาทิตย์ พร้อมระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีรายงานโทรศัพท์ที่ถูกโจมตีจากข้อบกพร่องดังกล่าว
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 21 มกราคม 2546
|