"ไมโครซอฟท์" ท้าชนแอปเปิล ช่วงชิงตลาดบันเทิงดิจิทัล
คอลัมน์ Click Word

หลังจากยุครุ่งเรืองของคอมพิวเตอร์พีซี น้อยครั้งที่จะเห็นซีอีโอ "แอปเปิล คอมพิวเตอร์" และบอสใหญ่ของไมโครซอฟท์ มองในมุมเดียวกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่วันนี้เมื่อแอปเปิลยกฐานะขึ้นเป็น "ราชาแห่งโลกดนตรีดิจิทัล" ไมโครซอฟท์ก็พยายามตีฝ่าอาณาจักรของแอปเปิล ด้วยการเปิดตัวสินค้าใหม่ที่สามารถเล่นวิดีโอพร้อมดนตรี เข้ามาขับเคี่ยวกับ iPod ผลิตภัณฑ์ทำเงินของแอปเปิลโดยเฉพาะ

สตีฟ จ๊อบส์ ผู้นำของแอปเปิลบอกว่า ไม่คิดว่าจะมีใครอยากดูวิดีโอบนจอเล็กจิ๋วมากๆ แต่ "บิล เกตส์" เจ้าพ่อไมโครซอฟท์กลับชี้ให้เห็นปรากฏการณ์สำคัญที่กำลังก่อตัวขึ้น โดยตั้งข้อสังเกตว่าเด็กๆ ชอบดูหนังระหว่างเดินทางไกลๆ และนี่เองคือตลาดของจอขนาดเล็ก "ผมว่าพวกเด็กๆ ของสตีฟคงฟังแต่ดนตรีของบาคและโมสาร์ตแค่นั้นมั้ง แต่เด็กของผมเขาอยากดู Finding Nemo ผมไม่รู้หรอกว่าใครสร้างหนังเรื่องนี้ แต่มันแจ๋วจริงๆ" เกตต์พูดเสียดสีจ๊อบส์เล็กน้อย ซึ่งแน่นอนว่าเขารู้ดีว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นของ พิกซาร์ แอนิเมชั่น สตูดิโอ ของจ๊อบส์นั่นเอง

เมื่อบอสใหญ่ออกมาเย้ยกันแบบนี้ ก็คงบอกเป็นนัยว่าไมโครซอฟท์จริงจังกับตลาดนี้มากแค่ไหน และเมื่อต้นเดือนนี้ บริษัทได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ครบเครื่องที่สุดสำหรับโลกสื่อสารดิจิทัล คือ เครื่องชมภาพยนตร์แบบพกพา ผลิตโดยซัมซุง ใช้เล่นบนซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ ซึ่งยักษ์ใหญ่แห่งวงการคอมพิวเตอร์หวังใช้เป็นไม้เด็ดชิงตำแหน่งเจ้าแห่งโลกดนตรีดิจิทัลจากแอปเปิล

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังเปิดร้านค้าเพลงออนไลน์ ซึ่งรวบรวมศิลปินดังราวหยิบมือ ซึ่งเว็บไซต์ iTunes ของแอปเปิลไม่มี แถมยังออก วินโดวส์ มีเดีย เพลเยอร์ และซอฟต์แวร์ชมภาพยนตร์รุ่นอัพเดต ที่ออกแบบให้ง่ายต่อการซื้อและจัดการดนตรีที่ใช้บนอุปกรณ์ที่ใช้โปรแกรมของไมโครซอฟท์ เหมือนกับที่ iPod และ iTunes นำเสนอแก่ลูกค้า ไมโครซอฟท์หวังว่าสินค้าดิจิทัลเหล่านี้จะช่วยจับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น โดยนักวิเคราะห์คาดว่าตลาดอุปกรณ์ดิจิทัลที่จะเติบโตตลอดหลายปีนับจากนี้จะสร้างรายได้ให้แก่ไมโครซอฟท์ราว 400 ล้านดอลลาร์ต่อปี ทั้งนี้เทคโนโลยีใหม่ๆเป็นกุญแจสำคัญให้ไมโครซอฟท์เคลื่อนทัพสู่ห้องนั่งเล่นของทุกครัวเรือน หากผู้บริโภคคุ้นเคยกับวินโดวส์ มีเดีย เพลเยอร์ เครื่องเสียงและเครื่องชมภาพยนตร์แบบพกพาแล้ว พวกเขาคงอยากใช้เทคโนโลยีอื่นๆ ของบริษัทด้วย การยอมรับของลูกค้าในวงกว้างจะช่วยให้ไมโครซอฟท์สามารถจูงใจเหล่าค่ายหนังค่ายเพลงมาใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัทเป็นช่องทางเข้าสู่ผู้ชม ซึ่งจะทำให้เทคโนโลยีสื่อสารของไมโครซอฟท์ขยายตัวไปทุกหนทุกแห่งเหมือนกับที่วินโดวส์ทำมาแล้ว

เหล่านี้คือความพยายามทั้งหมดเท่านั้น แต่ไมโครซอฟท์คงไม่สามารถชิงตำแหน่งของแอปเปิลได้ในเร็วๆ นี้ เพราะรูปโฉมสวยทันสมัย เรียบง่าย ตามสไตล์ iPod ผนวกกับบริการดาวน์โหลด iTune ที่แอปเปิลนำเสนอเป็นเจ้าแรก กลายเป็นคำนิยามของดนตรีดิจิทัลไปแล้ว โดยแอปเปิลขาย iPod ไปแล้วเกือบ 4 ล้านเครื่อง พร้อมเพลงกว่า 100 ล้านเพลง แถมยอดขายก็แรงไม่ตก ขณะที่ไมโครซอฟท์ยังไม่เคยออกหมัดเด็ดที่จำเป็นสำหรับโลกบันเทิงดิจิทัลเลยสักนิด ถึงแม้จะให้พันธมิตรปรับดีไซน์สินค้าให้โดดเด่น แต่ก็ยังสู้กับแอปเปิลไม่ได้

ไมเคิล การ์เทนเบิร์ก นักวิเคราะห์ของจูปิ เตอร์ รีเสิร์ช บอกว่า "iPod กลายเป็นอุปกรณ์สำหรับผู้บริโภค และสัญลักษณ์เชิงวัฒนธรรมไปแล้ว" นอกจากนี้อุปกรณ์ชมภาพยนตร์แบบพกพาที่ไมโครซอฟท์หวังจะให้เป็นตัวชูโรงในการทำตลาดบันเทิงดิจิทัลก็ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ เนื่องจากมีน้ำหนักมากและราคาแพง รวมทั้งขั้นตอนการใช้งานที่ยุ่งยากและข้อจำกัดของการก๊อบปี้รายการโทรทัศน์และภาพยนตร์จากทีวี จึงอาจทำให้ไมโครซอฟท์ดันยอดการเติบโตในโลกบันเทิงดิจิทัลได้ไม่ง่ายนัก

ขณะเดียวกันไมโครซอฟท์ก็บุกหนักในธุรกิจดนตรีดิจิทัล โดยซอฟต์แวร์วินโดวส์ มีเดีย ตัวใหม่ก็เลียนคุณสมบัติของ iTunes เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ซื้อเพลงจากเอ็มเอสเอ็น มิวสิค และผู้ค้าปลีกเพลงรายอื่นๆ แต่มีจุดต่างกับ iTunes คือเอ็มเอสเอ็น มิวสิค นำเสนอเพลงของศิลปินที่ต้องการขายเพลงทั้งอัลบั้มแบบออนไลน์ แทนที่จะเลือกขายบางเพลงเท่านั้น แต่นี่ก็อาจไม่ใช่จุดขายที่ดีเยี่ยม เพราะสาวก iPod ที่เป็นแฟนเพลงของศิลปินเหล่านี้ก็สามารถไปซื้อเพลงจากร้านค้าย่อยได้อยู่ดี

หนทางสู่ฐานะผู้นำโลกดนตรีดิจิทัลของไมโครซอฟท์อาจต้องใช้เวลาพิสูจน์อีกพอสมควร แต่ "บิล เกตส์" ก็ย้ำแผนการใหญ่ว่าไมโครซอฟท์จะเปลี่ยนโลกสื่อดิจิทัล โดยเขาบอกว่าสื่อทุกวันนี้ยังห่างไกลจากสิ่งที่มันสามารถเป็นได้ และเขาจะหาทางปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ของบริษัทให้จงได้

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 กันยายน 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.