โมโตฯเผยรายละเอียด เทคโนโลยีผลิตชิพเฟลชใหม่
โมโตโรล่า แจงรายละเอียด วิธีการเพิ่มความสามารถ
ของชิพความจำเฟลช สำหรับใช้เก็บข้อมูลมหาศาล บนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ชูคุณสมบัติเด่น เพิ่มประสิทธิภาพ ลดขนาด ขณะที่ประหยัดพลังงาน
สำนักข่าวซีเน็ต รายงานว่า บริษัทโมโตโรล่า
จะเสนอรายงาน 4 ฉบับ ซึ่งเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการผลิตหน่วยความจำเฟลชรุ่นใหม่ ที่งาน 2003
ไอทริปเปิลอี นอน-โวลาไทล์ เซมิคอนดักเตอร์
เมโมรี่ เวิร์คชอป ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์
ที่เมืองมอนเทอเรย์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย นายโกะ-มิน ฉาง ผู้จัดการอุปกรณ์หน่วยความจำในศูนย์หน่วยความจำแบบฝังตัวของแผนกผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์บริษัทโมโตโรล่า
เปิดเผยว่า รายงานทั้ง 4 ฉบับจะพุ่งความสนใจที่ 2 แนวทางจัดการปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถและสมรรถนะของหน่วยความจำความเร็วสูงด้วยการปรับปรุงกระบวนการผลิตในปัจจุบันเพียงเล็กน้อย
วิธีการใหม่ทั้งสอง ซึ่งมีชื่อว่าโซโนส
(SONOS-silicon-oxide-nitride-oxide-silicon) และซิลิคอน
นาโนคริสตัล (Silicon nanocrystal) นั้น
ใช้วัสดุที่แตกต่างกันเพื่อลดปัญหาการกินไฟ โดยโซโนส ใช้ซิลิคอน ไนไทรท์แทนซิลิคอนที่ใช้ในการสร้างประตูลอยของเซลล์หน่วยความจำ
ซึ่งจะลดความหนาแน่นของประตูดังกล่าวจาก 1,000 แองสทรอม
เหลือ 100 แองสทรอม ขณะที่ลดขนาดและการบริโภคพลังงานไฟฟ้าของเซลล์ความจำโดยไม่กระทบสมรรถนะและความสามารถในการประมวลผล
นอกจากนี้ เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งสามารถใช้อุปกรณ์ชุดเดิมในการผลิตได้นั้น ยังทำให้เซลล์มีขนาดลดลงราวครึ่งหนึ่งของเซลล์เฟลชในปัจจุบัน
ทำให้โมโตโรล่าสามารถเพิ่มความหนาแน่นในชิพเฟลชได้ 2 เท่า หรือสามารถผลิตชิพความจำเฟลชที่มีขนาดเล็กและราคาถูกลงได้
ขณะที่ซิลิคอน นาโนคริสตัล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีนั้น ให้ผลที่เหมือนกันแต่ใช้วัตถุดิบต่างกัน
"พวกเราจะเลือกแนวทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด
และสามารถนำไปใช้งานได้จริง" นายฉาง กล่าว
ปัจจุบัน นอกจากโมโตโรล่าแล้ว บริษัทเอเอ็มดี
บริษัทอินเทล และบริษัทเท็กซัส อินสทรูเมนท์ ก็อยู่ระหว่างค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่เพื่อนำเข้ามาแทนที่หน่วยความจำเฟลชในปัจจุบัน
โดยมีกำลังประมวลผลที่สูงขึ้น แต่กินไฟน้อยลง ทั้งนี้
เทคโนโลยีที่มีความเป็นได้มากที่สุดของเอเอ็มดีและโมโตโรล่า คือ เอ็มแรม (MRAM-magnetic random access
memory) ซึ่งทางโมโตโรล่า มีแผนจะเผยโฉมตัวอย่างชิพเอ็มแรมประมาณปลายปีนี้
และจะเปิดตัวชิพโซโนสหรือซิลิคอน นาโนคริสตัลราวปลายปี 2547
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2546
|