โมโตฯ เผยโฉมมือถือใหม่ ระบุนำไปใช้งานได้ทั่วโลก
ฟันธงผู้บริโภคได้ยลโฉมแน่ไม่เกินสิ้นปีนี้
ค่ายมือถืออันดับสองของโลก ยึดหัวหาดงานซีทีไอเอ
เปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ล่าสุด ระบุเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์เรียกความเชื่อมั่นจากตลาด
หลังประกาศเลื่อนกำหนดการเปิดตัวเครื่องลูกข่ายระดับบนมาแล้วหลายรอบ ขณะที่ซัน นำทีมยักษ์ใหญ่ไฮเทค
หนุนนำ "วอยซ์โอเวอร์ไอพี" มาใช้กับมือถือ ชี้นอกจากช่วยสางปัญหาเก่า
แล้วยังสร้างบริการใหม่ได้อีกด้วย
หนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ของโมโตโรล่า
จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถใช้เครื่องโทรศัพท์มือถือขณะกำลังโรมมิ่งกับเครือข่ายที่ใช้มาตรฐานแตกต่างกันได้
โดยคาดว่าจะเริ่มขายให้กับผู้ให้บริการในราคาประมาณ 400 ดอลลาร์
ได้ภายในสิ้นปีนี้ ตัวแทนโมโตโรล่า เปิดเผยว่า โทรศัพท์มือถือดังกล่าว ซึ่งทำงานบนเครือข่ายจีเอสเอ็ม
มาตรฐานไร้สายที่มีการใช้งานมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะในยุโรป และซีดีเอ็มเอ
เทคโนโลยีที่นิยมใช้ในบางส่วนของสหรัฐและเอเชีย จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถส่งและรับอีเมล
หรือท่องอินเทอร์เน็ตได้ อีกทั้งยังมาพร้อมกับฟังก์ชันสปีคเกอร์โฟน
เครื่องเล่นเอ็มพี 3 ในตัว และจอสี "แนวคิดของโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่นี้
คือ การนำเครื่องไปใช้กับเครือข่ายใดก็ได้โดยไม่มีอุปสรรค" นายเอ็ด แซนเดอร์ ประธานและหัวหน้าฝ่ายบริหารบริษัทโมโตโรล่า กล่าว
นักสังเกตการณ์ ให้ความเห็นว่า โทรศัพท์มือถือที่สามารถนำไปใช้งานได้ทั่วโลกเครื่องนี้
เป็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของโมโตโรล่า ซึ่งพยายามแก้ไขปัญหาการเลื่อนกำหนดการเปิดตัวโทรศัพท์มือถือราคาสูงตลอดหลายปีที่ผ่านมา
พร้อมเสริมว่า โมโตโรล่า ต้องวางตลาดโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
จึงจะไม่ตกเป็นรองซัมซุง และผู้ผลิตรายอื่น ขณะที่ ตัวแทนเวอริซอน ไวร์เลส
เปิดเผยว่า ทางบริษัทมีแผนจะขายโทรศัพท์มือถือของซัมซุง ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
และมีแนวโน้มว่า ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายอื่น
จะทยอยเปิดตัวโทรศัพท์มือถือของตัวเองในเร็วๆ นี้ด้วย อย่างไรก็ดี ตัวแทนโมโตโรล่า
ยอมรับว่า โทรศัพท์มือถือดังกล่าวไม่สามารถนำไปใช้ในญี่ปุ่น
ซึ่งมีเทคโนโลยีไร้สายของตัวเอง บางส่วนของอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดมือถือแห่งใหม่
รวมถึงอาร์เจนตินา และชิลีได้ ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านไร้สาย มองว่า
การมาถึงของโทรศัพท์รุ่นใหม่ ที่สามารถนำไปใช้ได้เกือบทั่วโลกนี้ จะสนับสนุนให้ความแตกต่างของการใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั่วโลกยังคงมีอยู่ต่อไป
เนื่องจาก ไม่มีความจำเป็นต้องมีมาตรฐานโลก หากเครื่องโทรศัพท์ สามารถรองรับเทคโนโลยีที่แตกต่างกันได้
ผัน "วอยซ์โอเวอร์ไอพี" ใช้กับมือถือ
ส่วนนายสก็อตต์ แมคนีลลีย์ หัวหน้าฝ่ายบริหารบริษัทซัน
ไมโครซิสเต็มส์ ประกาศในงานเดียวกันว่า เทคโนโลยีโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต
ซึ่งรู้จักกันในชื่อ วอยซ์ โอเวอร์ ไอพี (VoIP) นั้น กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุปกรณ์ที่ทางบริษัทกำลังพัฒนา
เพื่อกำจัดโทรศัพท์สำนักงานให้หมดไป เทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันยังเป็นต้นแบบอยู่นั้น
จะอยู่บนจาวา การ์ดของบริษัท ที่ช่วยให้สมาร์ทการ์ด และอุปกรณ์ประเภทอื่น
ซึ่งมีหน่วยความจำจำกัด สามารถรันแอพเพลท (applet) หรือแอพพลิเคชั่นจาวาขนาดเล็ก
บนคอมพิวเตอร์เครื่องใดก็ได้ โดยวอยซ์โอเวอร์ไอพี จะช่วยให้คอมพิวเตอร์ โอนสายเรียกเข้าจากโทรศัพท์สำนักงานไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่ง
หรือในกรณีที่โทรศัพท์มือถือสายไม่ว่างได้ "ผมฝันว่า
เทคโนโลยีตัวนี้ จะกำจัดโทรศัพท์พื้นฐานออกไปจากโต๊ะทำงานได้" นายแมคนีลลีย์ กล่าว
การพัฒนาของซันในครั้งนี้
เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
บริษัทผลิตเครื่องลูกข่าย และผู้เขียนแอพพลิเคชั่นไร้สาย
เริ่มนำวอยซ์โอเวอร์ไอพีมาใช้ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่น
นอกเหนือจากการโทรศัพท์ผ่านเครือข่ายไร้สายราคาถูก ที่ผ่านมา บริษัทเน็กซ์เทล คอมมิวนิเคชันส์ ใช้เทคโนโลยีวอยซ์โอเวอร์ไอพีไร้สาย
ในบริการพุช-ทู-ทอล์ค ไดเร็คคอนเน็ค
ยอดนิยมของตัวเอง ด้านบริษัทเวอริซอน ไวร์เลส ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ
กำลังสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีความเร็วมากพอจะรองรับบริการโทรศัพท์วอยซ์โอเวอร์ไอพีคุณภาพสูงได้
ส่วนบริษัทซิสโก้ ซิสเต็มส์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตสวิตช์ และเครื่องโทรศัพท์วอยซ์โอเวอร์ไอพีชั้นนำนั้น
เชื่อว่า เทคโนโลยีดังกล่าว จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนไปสู่ยุคแห่งการสื่อสารที่ทันสมัย
ซึ่งทางบริษัท เรียกว่า "ไอพี โมบิลิตี้"
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 24 มีนาคม 2547
|