เอไอเอสชูธงไวร์เลสพอร์ทัล "โมบาย ไลฟ์" ปรับโฉมทำภาษาไทยครั้งแรก
เอไอเอส ปรับโฉมทำภาษาไทยไวร์เลส พอร์ทัล "โมบาย
ไลฟ์" ครั้งแรก ติดตั้งโปรแกรมล่วงหน้าลงเครื่องลูกข่าย
4 ยี่ห้อดัง ดึงบริการออดิโอเท็กซ์ เข้าระบบ เน้นใช้ง่าย
รับความพร้อมตลาดบริการเสริมโต หนุนฐานรายได้ใหม่ หลังตลาดมือถือถดถอย
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรรมการผู้อำนวยการ
บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส
กล่าวว่า ปีหน้า บริษัทจะมุ่งใช้ "บริการ" เป็นตัวนำการทำตลาด หรือเซอร์วิส มาร์เก็ตติ้ง โดยเสนอวัตกรรมใหม่ๆ ให้มือถือเข้าไปมีส่วนในชีวิตประจำวัน
(ไวร์เลส โซไซตี้) เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่าและเพิ่มลูกค้าใหม่ในภาวะที่ตลาดรวมมือถือเริ่มถดถอย
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจำนวนลูกค้าใหม่ปีหน้าจะต่ำกว่าปีนี้ ซึ่งปีนี้บริษัทมีลูกค้าใหม่
3 ล้านราย จากลูกค้าใหม่รวมทั้งตลาดมีประมาณ 4 ล้านราย เพราะตลาดโทรศัพท์มือถือเริ่มอิ่มตัวเมื่อจำนวนผู้ใช้ถึง 38-40% ของประชากร จากปัจจุบันคาดว่ามีสัดส่วน 35-36%
ของประชากรแล้ว แต่ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขตลาดรวมปีหน้าได้ชัด เพราะขึ้นกับภาวะการแข่งขันของผู้ให้บริการ
อย่างไรก็ตาม บริการเสริม (แวลลูแอดเซอร์วิส) จะเป็นหลักในการสร้างรายได้ใหม่ ทดแทนจำนวนลูกค้าใหม่ที่ลดลง
ซึ่งบริษัทจะทยอยเปิดตัวบริการใหม่ๆ ตอบสนองความหลากหลายของลูกค้าได้ในทุกๆ กลุ่ม (เซคเมนเตชั่น)
พัฒนาเมนูไทย
ด้านนายสุวิทย์ อารยะวิไลพงศ์
ผู้อำนวยการส่วนธุรกิจบริการเสริม บริษัทเดียวกัน กล่าวว่า ปีหน้า "ไวร์เลส
พอร์ทัล เซอร์วิส" ภายใต้ชื่อ "โมบาย ไลฟ์" จะเป็นตัวกระตุ้นการใช้งานบริการเสริมที่ไม่ใช่เสียง
(นอน-วอยซ์) โดยเฉพาะผ่านเครือข่ายจีพีอาร์เอส
ซึ่งบริษัทจะพัฒนาเมนูเป็นภาษาไทยครั้งแรก พร้อมติดตั้งซอฟต์แวร์ล่วงหน้าลงในเครื่องลูกข่าย
(พรี คอนฟิกูเรชั่น) ยี่ห้อต่างๆ ที่จะออกวางตลาด
ทั้งอีริคสัน ซีเมนส์ และซัมซุง นอกเหนือจากโนเกียที่มีอยู่เดิม อีกทั้งพัฒนาให้เป็นไดนามิค
เมนู แสดงบริการยอดนิยมอันดับต้นๆ ปรับเปลี่ยนตามผู้ใช้แต่ละคน
เพื่อให้สะดวกต่อการเลือกใช้งานมากที่สุด รวมถึงการทำตลาดประชาสัมพันธ์ไปยัง 10 กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเฉพาะเป็นครั้งแรก จากที่เคยเน้นตลาดกว้าง
ดึงออดิโอเท็กซ์เข้าระบบ
พร้อมกันนี้จะนำบริการออดิโอเท็กซ์ 1900
เข้าสู่โมบาย ไลฟ์ด้วย ทั้งข้อมูลพยากรณ์โหราศาสตร์ ดาวน์โหลด-ริงโทน โลโก้ ฯลฯ ลูกค้าจะไม่ต้องจำเลขหมายที่กดโทรเข้าไป กระตุ้นการใช้งานเพิ่มขึ้น
ซึ่งปัจจุบัน 1 คอนเทนท์
บริษัทต้องเตรียมเลขหมายรองรับไว้กว่า 10,000 เลขหมาย ส่วนผู้ให้บริการออดิโอเท็กซ์ไม่ต้องประชาสัมพันธ์เลขหมาย
ขณะที่ยังใช้หลักการแบ่งรายได้กับผู้ให้บริการเช่นเดิม
ขณะที่ นายกฤษณัน งามผาติพงศ์
รองกรรมการอำนวยการ สายการตลาด บริษัทเดียวกัน กล่าวว่า
จุดเด่นสำคัญของการใช้บริการเสริมอยู่ที่ความง่ายในการใช้งาน ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเป็นจีพีอาร์เอส
แต่รู้ว่าจะเข้าถึงการใช้บริการได้อย่างไร โดยทั่วไปที่สำรวจหากกดเกิน 3 ครั้ง
(คลิก) เพื่อเข้าใช้บริการนั้น
ลูกค้าจะไม่เข้าไปใช้บริการนั้นซ้ำ "บริษัทลงทุนเครือข่ายไว้พร้อมทั้งจีพีอาร์เอสและเอดจ์
ซึ่งรวมกับความพร้อมของเครื่องลูกข่ายที่ติดตั้งโปรแกรมในเครื่องก็จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงบริการ
(อินทิเกรท เซอร์วิส) ระหว่างเครือข่ายของผู้ให้บริการ
เครื่องลูกข่ายของลูกค้าและบริการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ไปยังฐานผู้ใช้วงกว้างมากขึ้นได้อย่างแท้จริง"
นายกฤษณัน กล่าว
ร่วมมือเอ็นทีทีโดโคโม
ล่าสุด บริษัทร่วมลงนามในสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูล (นอน-ดิสโคลส อะกรีเม้นท์) กับเอ็นทีที โดโคโม
ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์รูปแบบดำเนินธุรกิจระหว่างสองบริษัท โดยเฉพาะความสำเร็จการสร้างโมบาย
อินเทอร์เน็ตของเอ็นทีที โดโคโม รวมทั้งขยายโอกาสในอนาคตร่วมกัน
โดยเฉพาะการร่วมให้บริการ (โค-เซอร์วิส)
ที่เป็นไปได้ ทั้งนี้จุดแตกต่างของสองบริษัทเอ็นทีที
โดโคโมกับเอไอเอส คือเอไอเอส เน้นการให้บริการเครือข่าย ที่เป็นพันธมิตรกับผู้พัฒนาและผู้รวบรวมเนื้อหา
ขณะที่เอ็นทีทีจะมีบทบาทเป็นผู้พัฒนาและผู้รวบรวมเนื้อหาด้วย นายกฤษณัน กล่าวว่า
นอกจากร่วมกับพันธมิตรต่างประเทศแล้ว บริษัทสนับสนุนนักพัฒนาไทย โดยจัดตั้ง "ฟิวเจอร์ โซน จูเนียร์" อยู่ร่วมกับฟิวเจอร์ แล็บของบริษัท
ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกการพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ให้เยาวชน โดยลิขสิทธิ์เป็นของผู้พัฒนา
ซึ่งปัจจุบันให้ค่าลิขสิทธิ์โมบายเกมแก่เยาวชน 1 รายแล้วเป็นจำนวนหลายแสนบาท
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 12 พฤศจิกายน 2546
|