มินีแบ เล็งย้ายศูนย์กระจายสินค้า จากสิงคโปร์มาไทยใน 2 ปี
มินีแบ ประกาศย้ายศูนย์กระจายสินค้า
จากสิงคโปร์มาไทยในอีก 2 ปีข้างหน้า พร้อมเดินหน้า ลงทุนในไทยต่อเนื่อง
ประเดิมร่วมทุนครั้งแรก กับมัตสุชิตะ อิเล็กทริค ขยายสายการผลิต
หนุนยึดตลาดมอเตอร์โลก
นายโทเซอิ ทาเคนากะ
กรรมการและผู้อำนวยการระดับภูมิภาค กลุ่มบริษัทมินีแบ ไทย กล่าวว่า
บริษัทมีแผนย้ายศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศ (ดิสทริบิวชั่น เซ็นเตอร์)
จากสิงคโปร์มาอยู่ในประเทศไทย ภายในเวลาประมาณ 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของมินีแบ
คิดเป็นสัดส่วน 60% ของฐานการผลิตทั่วโลก มีสินค้ากว่า 37 แผนกจากโรงงาน 7 แห่ง รวมการจ้างงานกว่า 30,000 คน เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตเพียง 5% ของทั่วโลก และจีน ซึ่งมีการผลิตสินค้าเพียง 3
กลุ่มเท่านั้น
ทั้งนี้ การย้ายจุดกระจายสินค้ามาที่โรงงานในไทย
จะเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งไปยังลูกค้าโดยตรง และบริษัทคงมุ่งมั่นลงทุนกับฐานการผลิตในไทยอย่างต่อเนื่อง "สำหรับการเปิดเสรีการค้าภูมิภาคอาเซียน
(อาฟตา) นั้น เป็นเรื่องดี ที่ช่วยเปิดตลาดกับประเทศเพื่อนบ้าน
แต่สำหรับบริษัทแล้วคงไม่ได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติม
เพราะไม่ใช่ประเทศฐานลูกค้าหลัก และปัจจุบันเราได้รับการสนับสนุนสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน
อย่างเต็มที่จากบีโอไออยู่แล้ว" นายทาเคนากะกล่าว
ร่วมทุนมัตสุชิตะ
พร้อมกันนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเจรจารอบสุดท้าย (ดิว ดิลิเจนท์)
ในรายละเอียดการร่วมลงทุนกับบริษัทมัตสุชิตะ อิเล็กทริค ด้วยสัดส่วน
60% และ 40% ตามลำดับ
ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จ และเริ่มการผลิตในไทยได้ปีหน้า โดยนับเป็นครั้งแรกที่บริษัทขยายกิจการโดยการร่วมทุน
เนื่องจากมองว่ามัตสุชิตะ มีงานวิจัยและพัฒนาขนาดใหญ่ด้านเทคโนโลยีของมอเตอร์ และมีโรงงานหลายแห่งกระจายในสิงคโปร์
มาเลเซีย อินเดีย และจีน "ดังนั้น การร่วมทุนระหว่างกัน
จะทำให้ลดต้นทุนทั้งการวิจัยและการผลิต และมีแนวโน้มว่ามัตสุชิตะจะรวมโรงงานต่างประเทศ
มามุ่งที่บริษัทร่วมทุนไทยแทน" นายทาเคนากะกล่าว ทั้งนี้
เขาคาดหมายว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้บริษัทสามารถครองส่วนแบ่งตลาดมอเตอร์ในอันดับ
1 และ 2 ในตลาดโลกได้ โดยปัจจุบัน
มัตสุชิตะ มีมูลค่าการผลิตมอเตอร์ ประมาณ 70 พันล้านเยนต่อปี
และมินีแบ มีมูลค่าการผลิตประมาณ 140 พันล้านเยน อย่างไรก็ตาม
เขายังไม่พร้อมเปิดเผยรายละเอียดมูลค่าการลงทุน และกำลังการผลิต ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่จะลดลงภายหลังการร่วมทุน
โดยเพียงระบุว่า บริษัทตั้งเป้าว่าทันทีที่เดินเครื่องการผลิต
จะสามารถสร้างรายได้ให้ประมาณ 30 พันล้านบาท หรือ 100 พันล้านเยน
ขยายสายการผลิตใน 2 รง.
สำหรับสินค้าที่จะผลิตภายใต้การร่วมทุนครั้งนี้
ประกอบด้วย 1. สเต็ปปิ้ง มอเตอร์ (Stepping Motor) โดยจะขยายเพิ่มในพื้นที่โรงงานบางปะอินที่มีอยู่เดิม
2. พีเอ็ม มอเตอร์ (Permanent Magnetic Stepping
Motor) ซึ่งเป็นมอเตอร์ที่ใช้แม่เหล็กถาวรแทนการใช้บอลแบริ่ง
ในโรงงานที่ลพบุรี อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าตลาดรวมของการใช้งานมอเตอร์ทั้ง 2 ประเภทนี้ น่าจะไม่เติบโตมากนัก
โดยเป็นไปตามผลิตภัณฑ์หลักที่นำมอเตอร์นี้ไปติดตั้ง เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร
และเครื่องพิมพ์
เพิ่มสินค้ากลุ่มไฮเทค
นายทาเคนากะ กล่าวด้วยว่า ในปีหน้าบริษัทจะลงทุนขยายการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงเพิ่มขึ้น
เช่น ชิ้นส่วนอุปกรณ์ในเครื่องบิน เพื่อขยายฐานรายได้ใหม่ๆ ทั้งนี้
มูลค่าการลงทุนของบริษัทในปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งจะสิ้นสุดมีนาคมปีหน้า อยู่ที่ระดับ
4-4.5 พันล้านบาท จากปีที่ผ่านมาลงทุนไปแล้ว 3 พันล้านบาท ส่วนรายได้รวมคาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
คือมากกว่า 40 พันล้านบาท
ซึ่งอาจไม่ถึงเป้ารายได้ที่เคยตั้งไว้ 60 พันล้านบาท เนื่องจากแม้ขายสินค้าได้มากขึ้น
โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3 แต่ราคาสินค้าก็ปรับลดลงเช่นกัน
โดยเฉลี่ยปรับลดตั้งแต่ 5% ขึ้นไป
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 22 กันยายน 2546
|