มาเลย์ทุ่มทุนสร้างแล็บไฮเทค แข่งจีน-อินเดีย
ไซเบอร์จายา - รัฐบาลมาเลย์
วางแผนทุ่มทุนมหาศาล ตั้งแล็บไฮเทค เล็งใช้คิดค้น และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่
แข่งจีนและอินเดีย เผยเหตุนักลงทุนต่างชาติ ส่อแววย้ายโรงงาน ไปประเทศต้นทุนต่ำ
พร้อมชูจุดเด่น พัฒนาแล็บนาโนเทค เตรียมใช้ผลิตแผงวงจรจิ๋ว
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า รัฐบาลมาเลเซีย
มีแผนสร้างห้องทดลอง (แล็บ) มูลค่าหลายสิบล้านดอลลาร์
เพื่อใช้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ แข่งกับประเทศจีนและอินเดีย ที่กำลังมีระดับการเติบโตทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
นายโมฮัมหมัด อาริฟ นัน หัวหน้าฝ่ายบริหารบริษัทมัลติมีเดีย
เดเวลอปเม้นท์ คอร์เปอเรชั่น องค์กรซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐบาล
เปิดเผยว่า การสร้างห้องทดลองที่ทันสมัยเช่นนี้มีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมาเลเซียกำลังมีนโยบายเปลี่ยนโฉมจากการเป็นฐานการผลิตและประกอบชิ้นส่วน
เพื่อกลายเป็นแหล่งค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยี
ตึกห้องทดลองแห่งใหม่
จะสร้างขึ้นในเมืองไซเบอร์จายา ศูนย์กลางเทคโนโลยีของประเทศนอกเมืองกัวลาลัมเปอร์
และจะมีต้นทุนก่อสร้างราว 18
ล้านดอลลาร์
โดยตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมถึงค่าติดตั้งห้องแล็บและอุปกรณ์ทดสอบอื่นๆ ซึ่งประกอบด้วย
ห้องทดลองด้านนาโนเทค สำหรับใช้ค้นคว้าเทคโนโลยีในระดับโมเลกุล เพื่อใช้ในการผลิตอุปกรณ์หรือโปรแกรมที่ต้องอาศัยชิ้นส่วนและแผงวงจรขนาดจิ๋วต่อไป
ขณะที่แหล่งข่าววงในรายหนึ่งคาดว่า ค่าใช้จ่ายที่เหลือมีมูลค่าสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการสร้างตัวตึกหลายเท่า
นายซาเด็ก ฟาริส ผู้อำนวยการบริษัทเรวิโอ หนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัทอินเวนท์คิวจายา
ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้บริหารห้องทดลองดังกล่าว เปิดเผยว่า โครงการนี้จะประกอบด้วยทีมนักวิทยาศาสตร์จากนิวยอร์ก
และมาเลเซียฝ่ายละ 10-15 คน โดยคาดว่าห้องทดลองจะสร้างเสร็จภายในสิ้นปีนี้
และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 มกราคมปีหน้า
"ภายใน 5 ปีข้างหน้า
เราหวังว่าจะมีนักวิทยาศาสตร์ทั้งหมดราว 500 คน และพัฒนาอุปกรณ์ใหม่ๆ
ได้ราว 10 ตัว" นายฟาริสกล่าว
ทั้งนี้
ประเทศมาเลเซียได้ตั้งตัวขึ้นเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศไฮเทคเมื่อราว 30 ปีที่ผ่านมา
โดยการพัฒนาเมืองปีนัง ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ให้กลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาค
และดึงดูดให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐหลายแห่ง อาทิ อินเทล และเอเอ็มดี เข้ามาตั้งโรงงานผลิตชิพในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทต่างชาติขนาดใหญ่หลายแห่งได้แสดงท่าทีว่าอาจย้ายโรงงานของตนไปยังเขตพื้นที่ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า
เช่น เมืองเซี่ยงไฮ้ของจีน ทำให้สถานะของมาเลเซียในตลาดเทคโนโลยีเริ่มสั่นคลอน
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2546
|