ล็อกซเล่ย์ตั้ง "สเปซ อิมเมจจิ้ง" ลุยภาพดาวเทียม
ตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้บริการภาพถ่ายรายละเอียดสูง
ล็อกซเล่ย์ตั้งบริษัทลูกใหม่ "สเปซ
อิมเมจจิ้ง เซาธ์อีส เอเซีย" ตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ให้บริการภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง เล็งภาครัฐเป็นหลัก หนุนอี-กอฟเวิร์นเมนท์ โดยเฉพาะการทำฐานข้อมูลแผนที่ดิจิทัล-แปลงทรัพย์สินเป็นทุน
นายวสันต์ จาติกวณิช กรรมการบริหาร บริษัท
ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทลงทุนจัดตั้งบริษัท สเปซ
อิมเมจจิ้ง เซาธ์อีส เอเซีย จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 40
ล้านบาท ถือหุ้นโดยบริษัท ล็อกซบิท ซึ่งเป็นบริษัทลูกของล็อกซเล่ย์ และจ้างบริษัท
แม็ปพอยท์ เอเชีย จำกัด บริหารระบบด้านเทคนิคที่สถานี เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ให้บริการภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูงแก่ภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทใช้เงินลงทุนรวมด้านการปฏิบัติการและอุปกรณ์การจัดตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียมไอโคนอส
ราว 60 ล้านบาท "บริษัทมองเห็นแนวโน้มความต้องการดาวเทียมรายละเอียดสูงจะมีมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งดาวเทียมไอโคนอส ได้ยิงขึ้นสู่อวกาศ และใช้งานมาแล้วกว่า 2 ปีครึ่ง จึงไม่ใช่ธุรกิจใหม่ และเสี่ยงเกินไป โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีกำลังซื้อจากภูมิภาคนี้ที่สั่งถ่ายภาพที่สำนักงานใหญ่ในอเมริการาว
8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปีนี้คาดว่าจะสามารถทำรายได้ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 400 ล้านบาท โดยกำลังซื้อหลักมาจากมาเลเซีย"
นายวสันต์ กล่าว
ดังนั้น การตั้งสถานีรับสัญญาณภาพแห่งนี้จะมีประโยชน์ที่ไทยสามารถสั่งถ่ายภาพตามต้องการได้ตลอดเวลา
ไม่ต้องเสียเวลาไปอเมริกา และยังรับคำสั่งจากประเทศอื่นในภูมิภาคได้ จึงนำเงินตราเข้าประเทศได้
จากเดิมต้องไทยสั่งซื้อภาพจากต่างประเทศ โดยบริษัทเองเสียค่าใช้จ่ายต้นทุนที่ต้องชำระให้บริษัท
สเปซ อิมเมจจิ้ง ต่ำกว่า 50%
อีกทั้งการประสานความร่วมมือเป็นพันธมิตรกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
(สทอภ.) ที่ให้พื้นที่การตั้งสถานีแล้ว ทาง
สทอภ. ยังมีฐานะเป็นรีเซลเลอร์จะช่วยทำตลาดภาคราชการด้วย และสามารถใช้สิทธิภาพถ่ายจากดาวเทียมฟรี
60 ภาพต่อปี และการใช้ภาพถ่ายของรัฐนั้น จะสามารถนำไปใช้ซ้ำได้
หรือรีโปรดักส์ชั่น ซึ่งทำให้ภาครัฐประหยัดค่าใช้จ่ายการซื้อข้อมูลแผนที่ดิจิทัลความละเอียดสูงภายใต้งบประมาณเดียวกันในหลายหน่วยงาน
ราชการตลาดหลัก
นายวสันต์ ยังกล่าวในฐานะกรรมการผู้จัดการ
บริษัท สเปซ อิมเมจจิ้ง เซาธ์อีส เอเซีย จำกัด ว่า สถานีรับสัญญาณดาวเทียมแห่งนี้ จะได้มีการโอนย้ายข้อมูลพื้นที่ประเทศไทย
ที่ได้ถ่ายภาพไว้จากดาวเทียมไอโคนอสที่อเมริกามาเก็บไว้ในประเทศไทย ดังนั้น หากไทยจะใช้เก็บภาพข้อมูลพื้นที่ทั่วประเทศก็จะใช้เวลาต่ำกว่า
3
ปี เนื่องจากมีข้อมูลเดิมอยู่แล้ว ซึ่งจัดเก็บไว้ 40%
หรือคิดเป็นเกือบ 2 แสนตารางกิโลเมตร โดยชั้นแรกตลาดในประเทศจะเป็นหน่วยงานราชการเป็นหลัก
ขณะตลาดเอกชนจะสร้างความได้เปรียบด้านการเป็นข้อมูลดิจิทัลซึ่งประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายแอพพลิเคชั่นในรูปแบบใหม่ๆ
ทั้งในธุรกิจบันเทิง, ธุรกิจมีเดีย, ธุรกิจท่องเที่ยว,
ธุรกิจโทรคมนาคม งานด้านวิทยาศาสตร์ นอกเหนือไปจากการประยุกต์ใช้ในแบบเดิมที่มุ่งในการจัดทำแผนที่ทั้งด้านทหาร
สาธารณูปโภค ขนส่ง เหมืองแร่ น้ำมันและก๊าซ บริษัทจะเปิดโอกาสให้บริษัทผู้พัฒนาขนาดเล็กสามารถนำภาพไปทดลองประยุกต์ใช้ทำแอพพลิเคชั่นของตัวเอง
เพื่อตั้งธุรกิจใหม่ๆ จากข้อมูลแผนที่ความเร็วสูงดังกล่าว ซึ่งภูมิภาคนี้บริษัทมีผู้แทนจำหน่ายสินค้าบริการ
(รีเซลเลอร์) 20 รายใน 12 ประเทศ โดยในไทยมีบริษัท แม็ปพอยท์ เอเชีย เป็นรีเซลเลอร์แล้ว
หนุนอี-กอฟเวิร์นเมนท์
ด้านนายสุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
(สทอภ.)
กล่าวว่า ทางหน่วยงานจะสามารถนำภาพถ่ายข้อมูลดาวเทียมความละเอียดสูงมาใช้เพื่อสนองนโยบายของภาครัฐ
โดยเป็นแหล่งข้อมูลเสริมข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมอื่นที่มีอยู่ ซึ่งจะรองรับการดูภาพขนาดใหญ่บริเวณกว้าง
ขณะที่ไอโคนอส จะเติมเต็มข้อมูลที่มีความละเอียดสูง อีกทั้งนโยบายการทำรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์โดยจัดเก็บข้อมูลแผนที่ดิจิทัล
ซึ่งหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมแผนที่ทหาร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมธนารักษ์ กรมการผังเมือง
องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ต่างต้องจัดทำแผนที่เพื่อบริหารหน่วยงาน
และจัดเก็บฐานข้อมูลเป็นหนึ่งเดียว (National High Imaging Archive) เพื่อแบ่งปันการใช้ข้อมูลร่วมกัน ลดความซ้ำซ้อนในการใช้งบประมาณ ทั้งยังนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประเมินความเสียหายจริงในภาวะน้ำท่วม
หรือดูพืชเศรษฐกิจ จนถึงนโยบายด้านความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ปัญหาทางชายแดน และยังสนองนโยบายแปลงทรัพย์สินเป็นทุน
เช่น ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ซึ่งภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงจะสามารถประเมินตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลของผู้แจ้ง
และผู้บริหารสามารถดำเนินการตัดสินใจได้ทันที สะดวกต่อการส่งคนไปสำรวจในพื้นที่ โดย
สทอภ. มีงบประมาณเพื่อใช้ภาพถ่ายดาวเทียมปีละ 35 ล้านบาท ปัจจุบันรับถ่ายภาพดาวเทียมทั้งหมด 4 ดวง
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2546
|