"ลินิกซ์" ทางเลือกใหม่ หนุนผู้บริโภคลดต้นทุนไอที

 

"ลินิกซ์" เป็นระบบปฏิบัติการ ที่เริ่มเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้นทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย โดยสาเหตุหลัก มาจากผู้บริโภคต้องการที่จะลดต้นทุนดำเนินการด้านธุรกิจลง โดยเฉพาะลดต้นทุน การจัดซื้อไลเซ่นซอฟต์แวร์ ในภาวะที่หน่วยงานหรือองค์กรถูกตัดงบประมาณและลดค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ รวมถึงผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ต่างลงทุนวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างเทคโนโลยีของตัวเอง ให้รองรับกับระบบปฏิบัติการดังกล่าวด้วย ทำให้มีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ทั้งซอฟต์แวร์ตัวกลาง (มิดเดิลแวร์) ดาต้าเบส และระบบงาน (แอพพลิเคชั่น) รองรับการทำงานร่วมกันได้มากขึ้น

 

สามยักษ์คอมหนุนลินิกซ์ โดยกลุ่มบริษัท ด้านไอทียักษ์ใหญ่ของโลกนั้น ต่างก็ออกมาแสดงการสนับสนุนการ ลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับตลาดนี้กันถ้วนหน้า นายสุพจน์ โชควารีพร ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาคู่ค้า บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาเพียงปีเดียว บริษัทแม่ได้ใช้งบประมาณวิจัยและพัฒนาด้านลินิกซ์ไปแล้ว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของไอบีเอ็ม ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ สามารถรองรับ ระบบปฏิบัติการ ลินิกซ์ได้แล้ว รวมทั้งบริษัทมีฐานข้อมูลพันธมิตรคู่ค้าที่พัฒนาแอพพลิเคชั่น ที่ทำงานบนลินิกซ์ทั่วโลก 2,800 รายการ โดยมากกว่า 2,000 ราย จะเป็นระบบงานด้านอี-บิสซิเนส ขณะที่บริษัท เดลล์ คอมพิวเตอร์ คอร์ป. บริษัท ออราเคิล คอร์ป. และบริษัท เรด แฮท อิงค์. ล่าสุดได้ประกาศความร่วมมือ จัดตั้งพันธมิตรร่วมทุน ให้การช่วยเหลือบริษัทขนาดใหญ่ สามารถรันซอฟต์แวร์ธุรกิจบนระบบปฏิบัติการลินิกซ์ (Linux) ซึ่งภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว บริษัทเดลล์ ได้ให้การรับรอง และรวมลินิกซ์ แอดวานซ์ เซิร์ฟเวอร์ (Linux Advanced Server) ซอฟต์แวร์เครื่องแม่ข่ายสำหรับองค์กร ขนาดใหญ่เวอร์ชั่นแรกของบริษัท เรด แฮท เข้ากับออราเคิล 9ไอ (9i) ซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลเวอร์ชั่นล่าสุด ของบริษัทออราเคิล ไว้บนเครื่องแม่ข่ายเพาเวอร์เอดจ์ (PowerEdge) ซึ่งมีราคาขายเริ่มต้นที่ 11,900 ดอลลาร์ ส่วนบริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด ระบุว่า จะเริ่มจัดส่งโปรไลแอนท์ ดีแอล 580 เครื่องแม่ข่ายที่ประกอบด้วย ซอฟต์แวร์ใหม่ จากพันธมิตรร่วมทุนระหว่าง บริษัท เรด แฮท และออราเคิล

 

ห้าแนวทางการประยุกต์ใช้ นายสุพจน์กล่าวว่า ปัจจุบันมี 5 แนวทางที่ลูกค้าจะสามารถนำลินิกซ์มาใช้งานได้ ประกอบด้วย แนวทางแรก การใช้งานโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Solution) ที่ใช้เครื่องแม่ข่าย ทำงานเฉพาะด้าน เช่น งานคอนเทนท์ แคชชิ่ง เซคเคียวริตี้ ไฟล์/พริ้นท์ ไดเรคทอรี แนวทางที่ 2 การใช้งานรองรับ ระบบงานที่กระจายอยู่ในหลายสถานที่ (Distributed Application) การใช้เครื่องแม่ข่าย บนระบบปฏิบัติการลินิกซ์ ที่กระจายติดตั้งในบริษัทสาขา โดยเน้นการจัดการจากส่วนกลาง แนวทางที่ 3 การใช้งานคลัสเตอร์ริ่ง ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพความเร็วการประมวลผล แนวทางที่ 4 โคโซลิเดท เวิร์คโหลด และแนวทางที่ 5 ใช้เพื่อทำงานระบบงานเฉพาะ (แอพพลิเคชั่น โซลูชั่น)

 

ขยายการใช้งานเข้าตลาดผู้ให้บริการ บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า คอร์ปอเรชั่น หรือไอดีซี ระบุว่า แนวโน้มตั้งแต่ปี 2544 ไปจนถึงปี 2545 การใช้งานระบบปฏิบัติการลินิกซ์ จะเริ่มขยายเข้าไปในกลุ่มผู้ให้บริการ (เซอร์วิส โพรไวเดอร์) ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก งานด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต สถาบันการเงิน และประกันภัย รวมถึงธุรกิจค้าปลีกและกระจายสินค้า จากนั้น ช่วง 2546-2547 จะขยับเข้าสู่ธุรกิจของเอเอสพีและธุรกิจหลัก (คอร์บิสซิเนส) ขององค์กร จากเดิมการใช้ลินิกซ์จะจำกัดอยู่ในสถาบันการศึกษา รวมถึงการใช้ในระบบงาน ที่ไม่สำคัญมากนัก เป็นงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทำงานกับเครื่องแม่ข่ายด้านเมล์ และอินเทอร์เน็ต แนวโน้มดังกล่าว เช่นเดียวกับไทยด้วย รวมทั้งไอดีซียังมองว่า ตลาดซอฟต์แวร์ตัวกลาง หรือมิดเดิลแวร์นั้น จะสร้างรายได้ ที่เพิ่มขึ้นจากซอฟต์แวร์ลินิกซ์ โดยปี 2544 มิดเดิลแวร์ สร้างรายได้จาก ลีนุกซ์ 1,722 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มเป็น 11,760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2547

 

แนวโน้มในไทยต้องใช้เวลา แม้ปัจจุบันองค์กรเริ่มมีการพิจารณาการใช้งานลินิกซ์มากขึ้น โดยในไทยมีบริษัทเทสโก้ โลตัส และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะเริ่มมีการใช้งานภายในองค์กรแล้ว อย่างไรก็ตาม การใช้ลินิกซ์โดยมาก จะเกิดจากการที่หน่วยงานต้องประหยัดงบประมาณ และภายในมีความพร้อม บุคลากรด้านไอทีระดับหนึ่ง ทั้งนี้คงต้องใช้เวลาที่จะสร้างความมั่นใจ ของลูกค้าเองที่จะเข้ามา ใช้งาน โดยคาดว่ากลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) จะเข้ามาสนใจมากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่ติดกับชื่อของยี่ห้อโอเอส แต่จะเน้นการประหยัดค่าใช้จ่าย

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2545

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.