ตลาดลีสด์ไลน์ : ชูจุดเด่นบริการที่แตกต่าง รุกตลาดต่อเนื่อง
อภิสรา รุ่งรุจิโรจน์
แม้การเติบโตของผู้ใช้บริการบรอดแบนด์บนเทคโนโลยีเอดีเอสแอลจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
จนส่งผลให้ความนิยม ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์บนเทคโนโลยีอื่น อย่างไอเอสดีเอ็น
กลับได้รับความนิยมลดลงจากราคาที่ต่ำกว่าบนคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน กระนั้น
บริการอินเทอร์เน็ตแบบวงจรเช่า (ลีสด์ไลน์) กลับไม่ได้รับผลกระทบจากความนิยมบริการอินเทอร์เน็ต
ความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยีเอดีเอสแอลแต่อย่างใด ปัจจัยที่ทำให้บริการลีสด์ไลน์ยังคงได้รับความนิยมจะประกอบด้วยอะไรนั้น
ไอเอสพีคงเป็นผู้ให้คำตอบได้ดีที่สุด
ชี้ระงับใช้บริการน้อย
นายทยาวัต อุนนานนท์
รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แปซิฟิค อินเทอร์เน็ต (ประเทศไทย)
จำกัด เฉลยเหตุผลที่ทำให้ผู้ใช้บริการลีสด์ไลน์มักไม่เปลี่ยนไป ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนเทคโนโลยีอื่นว่า
เป็นเพราะเหตุผลด้านการลงทุน เนื่องจากบริการลีสด์ไลน์มักมีค่าใช้จ่ายสำหรับติดตั้งระบบ
ในมูลค่าที่สูง ทั้งไม่สามารถนำทรัพยากรดังกล่าวมาใช้ได้กับเทคโนโลยีเอดีเอสแอล ในปีหน้าผมมองว่าตลาดลีสด์ไลน์จะยังคงเติบโตแม้ว่าจะเป็นการเติบโตในอัตราลดลงถ้าเทียบกันเป็นปีต่อปี
แต่ตลาดนี้ผู้ใช้บริการมักไม่เลิกหรือเปลี่ยนไป ใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบบอื่น เพราะลงทุนอุปกรณ์ไปแล้ว
นายทยาวัต ให้ความเห็น
ด้าน นายไพศาล กวียานันท์
ผู้จัดการทั่วไป บริษัท จัสมินอินเตอร์เน็ต จำกัด กล่าวถึงจำนวนผู้ใช้บริการลีสด์ไลน์ที่ระงับใช้บริการว่า
กลุ่มลูกค้าดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำกว่า 10%
ซึ่งกลุ่มที่เลิกใช้ลีสด์ไลน์นั้น อาจเป็นเพราะองค์กรมีขนาดไม่ใหญ่
แต่จำเป็นต้องใช้บริการอินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงซึ่งก่อนหน้าไม่มีตัวเลือกมากนัก
พนักงานเกิน 50 คนก็เป็นกลุ่มเป้าหมาย
ส่วน นายจำเริญ กรเกษตร
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจ และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายกิจการธุรกิจใหม่
ฝ่ายโครงการและฝ่ายกิจการภูมิภาค บริษัท อินเทอร์เน็ต ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) มองว่าตลาดลีสด์ไลน์ยังมีการเติบโตและไม่ได้รับผลกระทบ
จากการขยายตัวของบริการเอดีเอสแอลเช่นกัน โดยเขาให้ความเห็นว่า ตลาดทั้งสองส่วนแยกกลุ่มเป้าหมายกันโดยสิ้นเชิง
ทั้งนี้เพราะบรอดแบนด์บนเทคโนโลยีเอดีเอสแอล มีกลุ่มเป้าหมายอยู่ในตลาดองค์กรขนาดเล็ก
มีพนักงานประมาณ 20-30 คน ต้องการคุณภาพการให้บริการพอสมควรแต่รับได้กับปัญหาการติดขัดของสัญญาณบางขณะ
แต่บริการลีสด์ไลน์นั้น นอกจากเน้นกลุ่มตลาดองค์กรที่มีพนักงานเกินกว่า 50 คนแล้ว ยังเน้นเรื่องคุณภาพของบริการอินเทอร์เน็ต
รวมถึงความปลอดภัยของข้อมูลเป็นพิเศษด้วย
โอกาสตจว.สูง 20%
นายทยาวัต
กล่าวถึงตลาดลีสด์ไลน์เพิ่มเติมว่า นอกจากจำนวนผู้ระงับการใช้บริการที่ต่ำแล้ว บริการลีสด์ไลน์ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในตลาดต่างจังหวัด
เพราะความได้เปรียบด้านพื้นที่การให้บริการที่ครอบคลุมกว่าบริการบนเอดีเอสแอล ที่ปัจจุบันยังสามารถให้บริการในพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพฯ
และอีกไม่กี่จังหวัดเท่านั้น เพราะต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ชุมสายก่อนจึงสามารถให้บริการเอดีเอสแอลได้
บรอดแบนด์บนเทคโนโลยีเอดีเอสแอลยังมีข้อจำกัดเพราะไม่สามารถให้บริการได้ทุกจุด เพราะมีข้อจำกัดของเครือข่ายโทรศัพท์ที่บางแห่ง
เป็นเครือข่ายเก่าส่งผลต่อคุณภาพของการให้บริการ นายทยาวัต กล่าว
นายจำเริญ ประมาณการเติบโตของตลาดลีสด์ไลน์ว่า
ในปีหน้าเชื่อว่าตลาดต่างจังหวัดจะมีการขยายตัวของผู้ใช้บริการในสัดส่วนประมาณ 20% ขณะที่ปีนี้การเติบโตของตลาดดังกล่าวมีประมาณ 15 % เท่านั้น
ส่วนการเติบโตของฐานลูกค้ากรุงเทพฯ จะอยู่ในสัดส่วนประมาณ 20-30% ซึ่งผลของการขยายตัวของตลาดมาจากการแข่งขันของผู้ให้บริการที่จะปรับราคาค่าบริการลง
นายทยาวัต
ยังกล่าวต่อถึงโอกาสตลาดลีสด์ไลน์ในปีหน้าว่า บริการลีสด์ไลน์สามารถเข้าไปได้ในหลายอุตสาหกรรม
ทำให้มีกลุ่มลูกค้ากระจายอยู่ทั่วไป เพราะนอกจากจุดเด่นด้านพื้นที่ให้บริการแล้ว บริการนี้ยังเหมาะสำหรับลูกค้าที่ต้องการคุณภาพของ
ช่องสัญญาณและความมั่นใจ ด้านความปลอดภัย ของข้อมูล
ที่เทคโนโลยีนี้ให้ได้สูงกว่าเทคโนโลยีเอดีเอสแอล พร้อมกันนี้เขาประมาณการถึงฐานลูกค้าที่ใช้บริการลีสด์ไลน์ในปีหน้าว่า
จะมีฐานลูกค้าลีสด์ไลน์เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 100 แห่ง
โดยสรุปแล้ว
ตลาดลีสด์ไลน์จะยังคงไม่หายไปไหน แม้ไอเอสพีหลายรายประมาณการว่า ปีหน้าจะเป็นปีของบรอดแบนด์ที่มีเอดีเอสแอลเป็นพระเอกก็ตาม
เหตุด้วยลูกค้าเป็นคนละกลุ่มกัน และเทคโนโลยีบรอดแบนด์ก็ยังมีข้อจำกัด ที่เข้าไม่ถึงในบางพื้นที่
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
(SciTech) ฉบับวันที่ 11 ธันวาคม 2546
|