กนอ. ก้าวสู่ผู้ให้บริการผ่านเครือข่ายไอทีตามแผน 3 ปี

ประเดิมกลุ่มผู้ประกอบการโรงงาน ที่เข้ามาลงทุนในไทย หลังปรับระบบงานทั้งฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์ รวมถึงบุคลากร ก่อนในขั้นแรก

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ปูแผนระยะยาวก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการระบบไอที ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต กับผู้ประกอบการโรงงานที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย หลังปรับโฉมระบบงานทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบุคลากร ตามแผนแม่บทไอที 3 ปี ที่จะสิ้นสุดในปีงบประมาณ 2547

 

นางอัญชลี ชวนิชย์ ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กนอ. ตัดสินใจปรับลดระยะเวลา และเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ของ กนอ. จากที่กำหนดไว้เดิม 5 ปี (ปีงบประมาณ 2544-2548) มาเป็นแผนงาน 3 ปี (ปีงบประมาณ 2545-2547) โดยแผนแม่บทดังกล่าว จะครอบคลุมการปรับเปลี่ยน และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีของ กนอ. ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบุคลากร เพื่อสร้างความพร้อมของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ให้ก้าวเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาต และเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมรวม 29 แห่ง ในปัจจุบัน ผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร รวมถึงขยายสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านระบบไอที ในรูปแบบเอาท์ซอร์สซิ่ง ให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในระยะยาว ซึ่งนอกเหนือจากจะมีพื้นที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคแล้ว ยังสามารถใช้งานระบบไอทีที่ กนอ. เตรียมความพร้อมไว้ให้แล้วได้ทันที โดยเพียงแต่เสียบปลั๊ก (plug in) เข้าไปที่ระบบเท่านั้น

 

ส่วนของแผนงานที่จะก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการเอาท์ซอร์สซิ่งนั้น กนอ. ได้เตรียมความพร้อมในส่วนขององค์กร และบุคลากรไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ได้แก่ การเข้าถือหุ้น 35% ในบริษัท ไออีซี เทคโนโลยี จำกัด (ไออีซีที) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบงานไอที ในกลุ่มของบริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิล เอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือไออีซี ขณะที่ การให้บริการเอาท์ซอร์สซิ่งในงานด้านอื่นๆ นอกเหนือจากไอทีนั้น ที่ผ่านมา กนอ. ได้เข้าไปถือหุ้นในเอกชนเช่นกัน ได้แก่ ถือหุ้นในบริษัท เจนโก้ ซึ่งรับกำจัดของเสียจากอุตสาหกรรม เป็นต้น

 

6 แผนงานหลักหนุนสู่เป้าหมาย

นายปัญญา ส่งเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์และสารสนเทศประยุกต์ ของ กนอ. กล่าวว่า แผนแม่บทไอทีของ กนอ. จะแบ่งการดำเนินงานเป็น 6 แผนงานหลัก เพื่อรองรับเป้าหมายตั้งแต่เตรียมความพร้อมภายใต้แนวคิด "3+1" ครอบคลุม 3 งานหลักด้านฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์, คลังข้อมูล ตลอดจนความพร้อมของบุคลากร เพื่อสร้างศักยภาพในการให้บริการผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เซอร์วิส) แผนงานดังกล่าว ประกอบด้วย

1. แผนงานหลักระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์องค์กร รองรับการเชื่อมโยงข้อมูล และการปฏิบัติงานของ กนอ. แบ่งเป็น การติดตั้งระบบแลน ในสำนักงานใหญ่ และนิคมอุตสาหกรรม 9 แห่งของ กนอ. และอีก 20 แห่งที่ กนอ. ร่วมบริหารกับเอกชน, งานติดตั้งระบบแวน เพื่อเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างสำนักงานต่างๆ และสำนักงานใหญ่ สนับสนุนการเข้าใช้ข้อมูลร่วมกันผ่านระบบไดอัล-อัพ

2. แผนงานหลักระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อนำเทคโนโลยีด้านอินเทอร์เน็ต มาสนับสนุนด้านการให้บริการข้อมูลข่าวสาร และการตลาดของ กนอ.

3. แผนงานหลักระบบสารสนเทศการพัฒนาและปฏิบัติการ ซึ่งในส่วนนี้จะมุ่งสนับสนุน และพัฒนาการบริหารงานภายใน รวมทั้งลงทุนในด้านซอฟต์แวร์ที่พร้อมรองรับความต้องการเฉพาะรายของลูกค้า (คัสตอม เมด) ได้ในระยะต่อไป

4. แผนงานหลักระบบสารสนเทศและบริหารงานทั่วไป โดยจะมีการจัดทำระบบงาน 9 ระบบหลัก ที่ผู้บริหารจำเป็นต้องใช้ประกอบการบริหารงาน

5. แผนงานหลักระบบคลังข้อมูล โดยจะตั้งเครื่องแม่ข่ายกลางไว้ที่ กนอ. เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลต่างๆ รวมถึงข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 29 แห่งเข้ามา เพื่อใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ทางสถิติ และวางแผนประกอบการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม ระบบนี้จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ต่อเมื่อแผนหลักอื่นติดตั้งแล้วเสร็จ

6. แผนงานหลักการพัฒนาบุคลากร ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นโครงการต่อเนื่อง เพื่อฝึกอบรมบุคลากรของ กนอ. นำไอทีมาใช้ในการพัฒนาองค์กรได้

 

บริการอี-เซอร์วิส จาก กนอ.

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ในส่วนของแผนงานหลักที่สองนั้น จะเริ่มตั้งแต่ปรับปรุงเวบไซต์ของ กนอ. หรือ www.ieat.go.th ให้เป็นรูปแบบของไดนามิก เวบ พับลิชชิ่ง โดยมีวิธีการแก้ไขข้อมูลอย่างต่อเนื่อง การจัดทำระบบอี-แค็ตตาล็อก เพื่อจัดวางระบบ และรวบรวมข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (จีไอเอส) นำเสนอผ่านเวบไซต์ และเชื่อมโยงไปยังฐานข้อมูลอื่นๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุน ในการพิจารณาหาพื้นที่เหมาะสมในการลงทุน, ตรวจสอบ และจองพื้นที่ผ่านเวบไซต์ การจัดทำระบบอี-เซอร์วิส โดยวางระบบที่สนับสนุนการใช้บริการกรอกคำร้องต่างๆ ในการขออนุญาตผ่านเวบไซต์ ซึ่งในช่วงแรกอาจยังต้องให้ผู้ใช้บริการ พิมพ์แบบฟอร์มที่ผ่านการอนุมัติความถูกต้องแล้ว เพื่อนำมายื่นขออนุมัติที่ กนอ. ในขั้นสุดท้าย อย่างไรก็ตาม หลัง พ... ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว อาจเปิดกว้างให้ใช้รูปแบบดังกล่าว เฉพาะในการขอตั้งโรงงานครั้งแรก แต่ในกรณีต่ออายุใบอนุญาต อาจเปิดให้ดำเนินคำร้องผ่านเวบไซต์ได้

 

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.