กลุ่มผู้เชี่ยวชาญซอฟต์แวร์เล็งสร้างคนไอทีขั้นสูง
รัฐ-เอกชน-การศึกษา
สานฝันหนุนไทยแข่งตลาดโลก สร้างคน-โครงการไอที เกาะติดเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ขั้นสูง
ตั้งเป้าผลิตวิศวกรด้านสถาปัตยกรรมระบบ 3,000 คนใน 2 ปี
นายมนู อรดีดลเชษฐ์ นายกกิตติมศักดิ์
สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย (เอทีซีไอ) และประธานคณะกรรมการร่างหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์และการออกแบบ
กล่าวว่า ขณะนี้ ภาครัฐ
เอกชนและสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ขั้นสูง โดยเฉพาะวิศวกรรมซอฟต์แวร์และการออกแบบสถาปัตยกรรมระบบ
(Software Engineering and Architecting) กำลังร่วมกันเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้รับกับเทคโนโลยีใหม่
เพื่อให้แข่งขันในตลาดโลก โดยวางเป้าหมายให้ไทยเรียนรู้การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบมุ่งให้บริการ
(Service Oriented Architecture)
ทั้งนี้ ใช้หลักการพัฒนาโปรแกรมเป็น "บริการ"
ทำหน้าที่เฉพาะอย่าง เพื่อให้พัฒนาได้เร็ว ง่าย
และเพิ่มโอกาสการขายบริการเฉพาะด้านมากขึ้น โดยใช้ภาษาเอ็กซ์เอ็มแอลเป็นหลักในการพัฒนาด้วยภาษาเอ็กซ์เอ็มแอล
ซึ่งเทคโนโลยีพัฒนาซอฟต์แวร์ขั้นสูงนี้ เป็นเทคโนโลยีที่เริ่มพร้อมกันทั่วโลก จึงสามารถตามทันกันได้
ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีใหม่นี้จะสร้างธุรกิจใหม่ให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
(ไอเอสพี) และผู้ให้บริการเช่าใช้ระบบ (เอเอสพี) โดยเมื่อมีผู้พัฒนา "บริการ" และนำไปฝากไว้กับไอเอสพี หรือเอเอสพี
เพื่อให้ช่วยบริหารกระบวนธุรกิจ (บิสซิเนสโพรเซส แมเนจเม้นท์)
ที่ทำให้เกิดการเรียกใช้บริการในเครือข่ายได้อย่างเป็นระบบ
ด้านนายสันติชัย เอมอยู่
ผู้อำนวยการเครือข่ายวิสาหกิจคอมพิวเตอร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
(สวทช.)
กล่าวว่า เดือนพฤศจิกายนนี้จะเปิดหลักสูตรอบรมเป็นรุ่นแรก โดยผู้เข้าอบรมที่มีผลการเรียนระดับบีจะได้รับการว่าจ้างให้พัฒนาโครงการที่มีอยู่
5 โครงการ มูลค่ากว่า 6 ล้านบาท นายมนู
กล่าวต่อว่า ในขั้นแรกต้องเร่งสร้างคน ซึ่งตั้งเป้า 2 ปีจะสามารถพัฒนานักสถาปัตยกรรมระบบ
3,000-5,000 คน โดยจะฝึกอบรมระดับผู้ฝึกสอน และกระจายไปตามสถาบันการศึกษาต่างๆ
ด้วย ขณะที่นายสมนึก คีรีโต อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า
ได้ร่วมกับสำนักงานการอุดมศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัย สร้างหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์และการออกแบบสถาปัตยกรรมระบบในระดับปริญญาตรีแล้วเสร็จ
ซึ่งมีมหาวิทยาลัยชินวัตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เซนต์เทราซ่า และอีกหลายสถาบันที่จะนำไปสอนต่อไป
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 29 กันยายน 2546
|