ยอดขายอุปกรณ์ไอทีทะลุเป้าถ้วนหน้า
บรรดานักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
ได้ออกมาฟันธงว่า ตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะหรือพีซี ในปีนี้
มีทีท่าว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยผลสำรวจจากบริษัทวิจัยตลาดหลายแห่ง ระบุว่า
อัตราการเติบโตของพีซีทั่วโลก จะเพิ่มสูงขึ้นอีกกว่า 15% ภายในปีนี้
ส่งผลให้ยอดขายพีซีทั่วโลก ขึ้นไปแตะระดับ 177 ล้านเครื่อง
และยอดขายในปีหน้า ก็จะสูงขึ้นอีกราว 12% หรือแตะที่ระดับ 199
ล้านเครื่องทั่วโลก
ส่วนยอดขายโน้ตบุ๊ค ก็มีแววสดใสไม่แพ้พีซี
เพราะหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ตัวเลขในปีนี้ น่าจะสูงขึ้นอีกกว่า 21%
ส่วนปีหน้าจะลดลงมาเหลือ 20% ซึ่งปัจจัยส่วนหนึ่ง
เป็นผลมาจากราคาของทั้งพีซีและโน้ตบุ๊ค ที่ต่ำลงทุกวี่ทุกวัน เนื่องจากหลายๆ
บริษัท เริ่มนำกลยุทธ์ด้านราคา เข้ามาเสริมทัพแผนการตลาดของตนเอง ประกอบกับที่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่างๆ
ก็กำลังฟื้นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป แต่ประเทศในแถบเอเชีย
อย่างอินเดีย และจีน ก็มีส่วนร่วมผลักดันให้ตลาดพีซีทั่วโลก
โตขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ด้วยเช่นกัน
ยอดแม่ข่ายทะลุเป้าตาม
ตัวเลขที่ชี้ให้เห็นถึงอัตราการเติบโตเช่นนี้ ไม่ได้เกิดกับตลาดพีซีและโน้ตบุ๊คเท่านั้น
แต่ยังส่งผลต่อเนื่องมาถึงตลาดคอมพิวเตอร์แม่ข่ายด้วย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไอดีซีเองก็ได้ออกมาเปิดเผยผลวิจัยตลาดแล้วว่า
เฉพาะไตรมาสแรกของปีนี้ ตลาดแม่ข่ายทั่วโลก มีอัตราการเติบโตไปแล้วกว่า 7.3%
เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อัตราการเติบโตดังกล่าว ทำให้เม็ดเงินสะพัดในวงการธุรกิจเซิร์ฟเวอร์มากถึง
11,500 ล้านดอลลาร์ นับเป็นการเติบโตเป็นไตรมาสที่ 4 ติดกันแล้ว หลังจากที่ความต้องการด้านไอทีตกต่ำมานานกว่า 3 ปี อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของเครื่องเซิร์ฟเวอร์ในไตรมาสที่แล้วนั้น
มักเป็นเซิร์ฟเวอร์ในกลุ่มที่สามารถรันบนระบบปฏิบัติการโอเพ่นซอร์ส อย่าง ?ลินิกซ์? ได้ เสียส่วนใหญ่
ซึ่งมียอดรายได้สูงขึ้นกว่า 57% และที่สำคัญ คือ เซิร์ฟเวอร์ลินิกซ์
มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องมา 2 ไตรมาสติดกันแล้ว
ยูนิกซ์สวนกระแสยอดขายลดฮวบ
ขณะเดียวกัน ยอดขายของเซิร์ฟเวอร์ x86
ทั่วโลกซึ่งใช้ซีพียูจากค่ายอินเทล และเอเอ็มดี ก็ยังไม่หลุดหายไปไหน
โดยเซิร์ฟเวอร์ในกลุ่มนี้มียอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 14%
หรือคิดเป็นยอดขายถึง 5,100 ล้านดอลลาร์
ส่วนยอดจำนวนเครื่องนั้นสูงขึ้น 24% หรือสร้างยอดจำหน่ายมากกว่า
1.3 ล้านเครื่องทีเดียว สำหรับแม่ข่าย
ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์นั้น มียอดขายสูงขึ้นกว่าเดิม 16% หรือมียอดรายได้สูงถึง 3,800 ล้านดอลลาร์
ต่างกับเซิร์ฟเวอร์ยูนิกซ์ ที่ยอดรายได้อยู่ที่ 4,100
ล้านดอลลาร์ หล่นลงฮวบถึง 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และสวนทางอย่างชัดเจนกับเซิร์ฟเวอร์กลุ่มอื่นๆ
ที่มียอดขายทยอยสูงขึ้นกันทั้งนั้น โดยยอดรายได้นั้น ลดลงในหลายประเทศ ทั้งสหรัฐ
และยุโรปตะวันตก แต่กลับได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ในกลุ่มประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก อาทิ ญี่ปุ่น
อันเป็นผลมาจากอัตราการเติบโตของตลาดโทรคมนาคมและการสื่อสาร, หน่วยงานของรัฐ และกลุ่มเอกชนอื่นๆ
ไอบีเอ็มยังรั้งเจ้าตลาด
ในด้านส่วนแบ่งทางการตลาดนั้น ไอบีเอ็ม
ยังคงได้นั่งแท่นเป็นแชมป์ และผู้นำตลาดเซิร์ฟเวอร์อยู่เช่นเคย
โดยมีส่วนแบ่งตลาดสูงขึ้นอีก 3.3% นับรวมแล้วกินส่วนแบ่งไป 29.7% ของทั้งตลาด จนถึงสิ้นไตรมาสแรก ยอดรายได้รวมทั้งสิ้น 3,410 ล้านดอลลาร์ ตามมาติดๆ ด้วยค่ายเอชพี ที่แม้จะมียอดขายตามจำนวนเครื่องสูงสุดในไตรมาสแรกของปีนี้
แต่กลับรั้งอันดับ 2 ในเรื่องของรายได้ หลังจากการสำรวจพบว่า
เอชพีมีรายได้รวมทั้งสิ้น 3,100 ล้านดอลลาร์
โดยกินส่วนแบ่งตลาดไป 26.9% หล่นลงมาจาก 27.9% เทียบกับเมื่อปีก่อน ด้านเดลล์ หลังจากที่ครองแชมป์ส่วนแบ่งตลาดโตต่อเนื่อง
มาตลอดทุกๆ ไตรมาส นับตั้งแต่ปี 2544 ล่าสุดจากการสำรวจพบว่า
เดลล์กลับรั้งอยู่อันดับ 3 รองจากซัน ไมโครซิสเตมส์ โดยเดลล์
ปิดยอดรายได้ในไตรมาสแรกที่ 1,130 ล้านดอลลาร์ รวมแล้วกินส่วนแบ่งทางการตลาด
9.8% ส่วนซันปิดรายได้ในไตรมาสแรกที่ 1,170 ล้านดอลลาร์ หรือคิดแล้วเป็นสัดส่วนทางการตลาดที่ 10.2% หล่นฮวบมาจาก 12.5% ของช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 7 มิถุนายน 2547
|